ความหมายของ Sub-Prime กับ CDO | รับทำเงินเดือน ความหมายของ Sub-Prime กับ CDO | รับทำเงินเดือน

ความหมายของ Sub-Prime กับ CDO

ข่าวเก่านะครับ แต่เห็นว่าเป็นที่มาของปัญหาเศรษฐกิจโลก ลองมาอ่านทำความเข้าใจกันก่อน

Money Pro : วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ  กรุงเทพธุรกิจ  วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2550

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่านคงสงสัยว่าทำไมหุ้นทั่วโลกตกเอาๆ และเหตุผลของการตกคือ เรื่องของซับไพร์ม แถมไม่พอยังมีข่าวว่า ธนาคารพาณิชย์บางแห่งไปลงทุนในซีดีโอ แล้วซีดีโอคืออะไร เกี่ยวกับซับไพร์มไหม วันนี้จะขอมาปูพื้นความเข้าใจของท่านเพื่อให้ท่านติดตามข่าวได้อย่างเข้าใจมากขึ้นค่ะ

ซับไพร์ม (sub-prime) จริงๆ แล้วเป็นเพียงคำวิเศษณ์ (คำนำหน้าที่ใช้ขยายคำอื่น) แปลว่าคุณภาพเป็นรอง ขึ้นอยู่กับว่าจะนำไปขยายความอะไร เช่น หากเป็นสินเชื่อที่คุณภาพรองลงไปก็เรียกว่า sub-prime loan หากเป็นสินเชื่อคุณภาพรองที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ก็เรียกกันว่า sub-prime mortgage เพื่อความเข้าใจ ดิฉันจะขอใช้คำแทนสินเชื่อ sub-prime นี้ว่า “หนี้เกรดสอง”

ในสหรัฐอเมริกา หนี้เกรดสอง เป็นหนี้ที่ผู้ให้กู้ปล่อยให้กับผู้กู้ที่โดยทั่วไปไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินปกติได้ ผู้ปล่อยกู้เหล่านี้บางแห่งก็เป็นบริษัทอิสระ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทลูกของสถาบันการเงิน โดยผู้ให้กู้เหล่านี้ จะปล่อยกู้ให้กับผู้กู้ที่หากไปขอสินเชื่อตามปกติก็จะไม่ผ่านการอนุมัติ อาจจะเป็นเพราะสัดส่วนของกระแสเงินสด ที่จะนำมาชำระคืนหนี้ต่ำเกินไป อันอาจเกิดจากรายจ่ายสูง รายได้จึงไม่เหลือมากพอที่จะผ่อนจ่ายคืนหนี้ในสัดส่วนที่ผู้ให้กู้พอใจ

ผู้ให้กู้ในกลุ่มหนี้เกรดสองนี้ ก็จะให้กู้โดยมีหลักเกณฑ์ที่ผ่อนคลายกว่า แต่ก็ชดเชยความเสี่ยงด้วยการคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า และอาจจะให้กู้ได้เป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับหลักประกัน นอกจากนี้ หากผู้กู้ชำระคืนก่อนกำหนดก็จะเสียค่าปรับสูงกว่าด้วยค่ะ

ผู้ให้กู้กลุ่มนี้มักจะให้กู้แก่ผู้กู้ที่มีหลักประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจึงเป็นสินเชื่อที่ผู้ให้กู้แก่หนี้เกรดสอง ให้กู้เป็นส่วนใหญ่ เพราะมองเห็นว่า คนมักจะไม่ค่อยทิ้งบ้าน หากกู้แล้วก็มักจะต้องพยายามผ่อนส่ง และหลักประกันก็คุ้มวงเงินให้กู้ ซึ่งก็ทำให้ดูเหมือนว่าผู้ปล่อยกู้กลุ่มนี้มีความเสี่ยงไม่มากนัก

ปัญหาอยู่ที่ว่า ในช่วง 4-5 ปีมานี้ ราคาอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กลุ่มผู้ให้กู้เหล่านี้ก็แข่งกันทำตลาดด้วยการเชิญชวนผู้กู้ทั้งหลาย ทั้งผู้กู้เดิม และผู้กู้รายใหม่มาใช้บริการกับตนเอง ด้วยการเสนอวงเงินกู้ที่สูงขึ้นตามราคาประเมินของบ้านที่เพิ่มขึ้น เช่น เคยกู้ 1.8 ล้านบาท เพื่อซื้อบ้านราคา 2 ล้านบาท อาจจะผ่อนไปบางส่วนจนเงินต้นเหลือ 1.5 ล้านบาท วันดีคืนดี บริษัทเหล่านี้ก็มาเสนอวงเงินกู้ให้ 2.5 ล้านบาท ตามราคาประเมินใหม่ ผู้กู้ก็รับสิคะ เพราะได้เงินเพิ่มมาอีกตั้ง 1 ล้านบาท และชาวอเมริกันทั้งหลาย ซึ่งเคยชินกับการใช้เงินอนาคต ก็นำเงินสินเชื่ออีก 1 ล้านบาทที่ได้เพิ่มนั้นมาใช้จ่าย ซื้อของอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ทีวีแอลซีดีเครื่องใหม่ เครื่องเสียงชุดใหม่ หรือแม้กระทั่งซื้อรถยนต์คันใหม่ เพราะอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่อยู่อาศัย จะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิต หรือสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

ทีนี้ พอเศรษฐกิจของอเมริกาไม่ค่อยดี การผ่อนชำระก็เริ่มมีปัญหา ผู้กู้ก็ผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น นอกจากนี้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา ก็ตกลงมาในช่วงตั้งแต่ปีที่แล้ว ผู้ให้กู้ที่เคยคิดว่าตนเองไม่ได้เสี่ยงอะไรมาก เพราะถึงแม้ผู้กู้จะมีกระแสเงินสดไม่มากที่จะผ่อนชำระคืน แต่มูลค่าหลักประกันก็ยังคุ้มกับมูลหนี้ ตอนนี้มูลค่าหลักประกันลดลงแล้ว จึงต้องตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญมากขึ้น และเข้มงวดระมัดระวังไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับรายใหม่ๆ

ตอนแรกทุกคนก็เข้าใจว่าปัญหานี้อาจจะไม่ลุกลามมากนัก เพราะสถาบันการเงินใหญ่ๆ ต่างก็ไม่ได้ให้กู้กับลูกค้ากลุ่มนี้ แต่ที่ไหนได้คะ เรื่องค่อยๆ โผล่มาทีละน้อยละน้อย สถาบันการเงินดังๆ ต่างไปลงทุนซื้อตราสารที่มีหนี้เกรดสองเป็นหลักประกันกันจำนวนมากมาย ตราสารเหล่านี้เรียกว่า ซีดีโอ หรือ Collateralized Debt Obligation (CDO) เป็นการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ หรือทำ Securitization แบบที่มีหลักประกัน (Asset Backed Securities)แบบหนึ่งคือ บริษัทที่ปล่อยกู้ หนี้เกรดสองเหล่านี้ ออกตราสารมาขายโดยมีหนี้เกรดสองเป็นหลักประกัน เพื่อให้มีเงินไปปล่อยกู้เพิ่มอีก

ซีดีโอ เป็นตราสารหนี้อย่างหนึ่ง ซึ่งจะจ่ายคืนเงินให้กับผู้ลงทุนในตราสารในรูปของกระแสเงินสดที่ได้มาจากการเก็บหนี้ที่นำมาค้ำประกันตราสารนั้นๆ โดยอาจมีการจัดเกรดของตราสารเป็นหลายกลุ่ม กลุ่มแรก อาจจะมีการจัดอันดับเครดิตเป็น AAA ก็จะได้เงินคืนก่อน แต่ดอกเบี้ยอาจจะไม่สูงนัก และกลุ่มถัดๆ มา ก็จะมีตั้งแต่ AA, A, BBB และ BB ซึ่งจะได้รับดอกเบี้ยสูงขึ้น และกลุ่มท้ายสุดคือ กลุ่มทุน (equity) กลุ่มนี้ไม่มีการจัดอันดับเครดิต แต่จะรับกระแสเงินสดส่วนที่เหลือคือ หากเหลือจากที่จ่ายให้คนอื่นก็ได้คืน ซึ่งจะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ แต่หากไม่เหลือก็ไม่ได้คืน การเก็บหนี้ และการเก็บหลักประกัน ก็จะมีผู้ดำเนินการให้ คาดว่าตลาดซีดีโอ มีขนาดประมาณ 489,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2006

เมื่อตลาดหนี้เกรดสองมีปัญหา การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ประเภทนี้ก็มีปัญหา คาดว่ากลุ่มตราสารประเภทนี้จะทยอยถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงไป และเมื่อความน่าเชื่อถือถูกปรับลดลง ราคาตราสารเหล่านี้ก็จะตกลงไปด้วย นั่นคือ สาเหตุที่กองทุนที่ลงทุนในซีดีโอ 3 กองทุนของบีเอ็นพี พาริบาส์ ซึ่งเป็นผู้จัดการซีดีโอ รายใหญ่ของยุโรป มูลค่า 3 กองทุนรวมกันกว่า 2 พันล้านยูโร ต้องหยุดการซื้อขายเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่สามารถหามูลค่ายุติธรรมของตราสารเหล่านี้ของสหรัฐ ซึ่งลงทุนไว้เป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของมูลค่าทรัพย์สินรวมได้ และตอนนี้ทุกคนก็ถามกันใหญ่ว่ามีใครบ้างที่ลงทุนทั้งทางตรง และทางอ้อมในหนี้เกรดสองเหล่านี้ สถาบันการเงินทั้งหลายจึงต้องทยอยออกมาชี้แจงค่ะ

เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น สถาบันการเงินในสหรัฐก็ระมัดระวังการให้สินเชื่อ ผู้มีเครดิตดีก็พลอยไม่สามารถกู้เงินได้ด้วย ทำให้เกิดการตึงตัวในตลาดเงิน ต้นทุนการกู้ยืมก็เพิ่มขึ้น จนธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ต้องใส่เงินเข้าไปในระบบเพิ่มเติมกว่า 150,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้ระบบการเงินไม่สะดุด และผู้ลงทุนต่างก็หันเข้าหาแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยกว่า คือ พันธบัตรรัฐบาล ราคาหุ้นของสถาบันการเงินที่มีการลงทุน หรือให้กู้กับหนี้เกรดสองเหล่านี้ก็ตกลงไปกันหมด หุ้นของผู้ที่จะทำการขยายกิจการหรือซื้อกิจการโดยใช้เงินกู้ก็ตกลงไป เพราะตลาดกังวลว่าอาจไม่สามารถหาสินเชื่อได้ หรือถ้าหาได้ก็อาจจะแพง และเลยพลอยลามมาถึงตลาดหุ้นอื่นทั่วโลกด้วย

นั่นคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่ะ หากท่านไม่มีการลงทุนในตราสารหรือหนี้เกรดสองเหล่านี้ ท่านก็ไม่ควรกังวลจนเกินเหตุ แต่ต้องติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดค่ะ

Comments

  1. อธิบายได้ดีมากๆครับ ผมพยายามทำความเข้าใจ วิกฤต subprime มาหลายที่ละ บทความนี้อ่านแล้วเข้าใจง่ายมากๆเลย

  2. ตอบคุณ wan

    ปกติสามารถจดทะเบียนเปิดบริษัทได้เลย แต่ถ้าประกอบธุรกิจบางประเภทเช่น สำนักจัดหางาน ต้องขอใบอนุญาตจากกรมแรงงานก่อน กระทรวงพาณิชย์จึงจะรับจดทะเบียนให้

  3. อยากทราบเกี่ยวกับวิธีการเปิดบริษัท sub contact จ้างพนักงาน เพื่อส่งต่อให้กับบริษัทต่างๆ ต่อไป

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.