การหักค่าใช้จ่ายตามจริงของเงินได้บุคคลธรรมดาต่างมาตรา | รับทำเงินเดือน การหักค่าใช้จ่ายตามจริงของเงินได้บุคคลธรรมดาต่างมาตรา | รับทำเงินเดือน

การหักค่าใช้จ่ายตามจริงของเงินได้บุคคลธรรมดาต่างมาตรา

ประเด็นการนำผลขาดทุนของประเภทเงินได้หนึ่งไปหักกลบกับเงินได้พึงประเมินอีกประเภทเงินได้หนึ่ง นั้น ผมเคยได้อ่านตำราของท่านศาตราจารย์ไพจิตร โรจนวนิช เล่มเก่าๆ นานมากแล้ว ได้ความว่าเป็นแนวทางวินิจฉัยของกรมสรรพากรที่ไม่อนุญาตให้ผู้มีเงินได้่ที่ประกอบกิจการหลายประเภทเงินได้ หรือประเภทที่ 8 ด้วยกันแต่มีหลายรายการเงินได้ซึ่งกำหนดให้เลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาหรือหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรก็ได้ว่า หากเลือกหักค่าใข้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรหรือค่าใช้จ่ายจริงแล้วเกิดเป็นผลขาดทุนในบางประเภทเงินได้จะนำผลขาดทุนนั้นไปหักกลบกับเงินได้ประเภทอื่นไม่ได้ ซึ่งแตกต่างจากกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล ครั้นพอได้อ่านฉบับปัจจุบันไม่พบปัญหาดังกล่าวแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนต้วผมยังคงเห็นได้กับแนวความคิดข้างต้นดังนี้

1. กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำแนกประเภทเงินได้ออกเป็น 8 ประเภทตามมาตรา 40 (1) – (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งในบางประเภทเงินได้พึงประเมิน เช่น เงินได้ตามมาตรา 40 (5)(ก) หรือ (6) และโดยเฉพาะ (8) แห่งประมวลรัษฎากร มีรายการเงินได้ที่กำหนดให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาแตกต่างกันไปหลายการ ซึ่งในแต่ละรายการเงินได้พึงประเมินหรือเงินได้พึงประเมินประเภทเดียวกันนั้น ผู้มีเงินได้มีสิทธิที่จะเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาหรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรหรือค่าใช้จ่ายจริงอย่างไรก็ได้

2. การจำแนกประเภทเงินได้ก็ด้วยมุ่งหวังที่จะแยกคำนวณภาษีเงินได้ตามหลักความสามารถเป็นรายประเภทเงินได้

3. ตามเจตนารมณ์ของการกำหนดให้เลือกหักค่าใช้จ่ายก็เพื่ออำนวยให้เกิดความเป็นธรรมในการเสียภาษี เนื่องจากไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้มีเงินได้ต้องจัดทำบัญชีและเก็บรักษาเอกสารหลักฐาน ซึ่งต่างจากการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น นอกจากต้องจัดทำบัญชีและเก็บรักษาเอกสารหลักฐานตามมาตรฐานการบัญชีหรือหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปแล้ว มิได้มีการจำแนกประเภทรายได้ออกเป็นประเภทโดยละเอียดตามที่มาหรือบ่อเกิดของเงินได้ดังเช่นกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เว้นแต่จำแนกตามลักษณะกว้างๆ คือ รายได้จากกิจการและรายได้เนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีเท่านั้น

4. การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามุ่งที่จะจัดเก็บภาษีเงินได้เป็นรายปีภาษี ให้จบสิ้นไปในแต่ละปีภาษี จึงกำหนดให้มีการเปรียบเทียบจำนวนเงินภาษีที่คำนวณได้จากวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินได้สุทธิ (ตามหลักความสามารถ) และการคำนวณจากเงินได้พึงประเมิน (ตามหลักความมั่งคั่ง) แล้วเสียภาษีเงินได้จากจำนวนที่มากกว่า ในการหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร แม้จะได้มีข้อกำหนดให้นำความตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาบังคับใช้อนุโลมก็ตาม แต่ก็มิได้มุ่งหวังให้นำค่าใช้จ่ายของประเภทเงินได้หนึ่งไปหักออกจากอีกประเภทเงินได้หนึ่ง และนำผลขาดทุนสุทธิไปหักข้ามรอบระยะเวลาบัญชี ดังเช่นกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล
ดังนั้น แม้จะมิได้มีข้อกำหนดห้ามมิให้นำผลขาดทุนของประเภทเงินได้หนึ่งไปหักออกจากเงินได้ของอีกประเภทเงินได้หนึ่ง แต่ตามรายละเอียดของการหักค่าใช้จ่ายเป็นรายประเภทเงินได้ การกำหนดให้สิทธิในการเลือกหักค่าใช้จ่ายในแต่ละรายการเงินได้พึงประเมิน ตลอดจนการเปรียบเทียบจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียตามมาตรา 48 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นรายปีภาษี จึงเป็นการบังคับให้ผู้มีเงินได้ต้องหักค่าใช้จ่ายเป็นรายประเภทเงินได้เท่านั้น การขอนำผลขาดทุนของประเภทเงินได้หนึ่งไปหักออกจากเงนิได้ของอีกประเภทเงินได้หนึ่ง ย่อมไม่อาจเป็นไปได้เลย

ที่มา.Facebook.com/Suthep.Pongptiak

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.