เงิน เงิน เงิน….. ค่าจ้าง | รับทำเงินเดือน เงิน เงิน เงิน….. ค่าจ้าง | รับทำเงินเดือน

เงิน เงิน เงิน….. ค่าจ้าง

ใกล้วันตรุษจีนแล้วนะครับคุณผู้อ่าน หลายคนโดยเฉพาะเด็ก ๆ ก็คงตั้งหน้าตั้งตารอซองอั่งเปาจากผู้ใหญ่ในครอบครัว ส่วนคนทำงานบริษัทหลายท่านก็อาจแอบมีความหวังเล็ก ๆ ว่าเจ้านายอาจแจกโบนัส ที่เป็นแต๊ะเอียหรืออั่งเปา ในช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่คนที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในช่วงนี้คือผู้สมัครรับเลือกตั้งรวมทั้ง ผู้สนับสนุนผู้สมัครทั้งหลาย ซึ่งหากท่านใจดีแจกอั่งเปาหรือแจกแตะเอียให้กับคนอื่นโดยจูงใจให้เขามาใช้ สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครคนใดคนหนึ่งหรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมือง หนึ่ง ผิดกฎหมายเลือกตั้งนะครับ รับรองได้รับของสมนาคุณเป็นใบแดง (แสลงใจ) และอาจพ่วงด้วยการรับของชำร่วยเป็นคดีอาญาโทษจำคุกถึง 10 ปี เลยทีเดียวนะครับ

Lisa ฉบับนี้ผมอยากทำความเข้าใจกับคุณผู้อ่านทั้งที่เป็นลูกจ้างตาดำ ๆ หรือนายจ้างใจดีทั้งหลายในเรื่องของอั่งเปา โบนัส เงิน หรือสิ่งของแบบไหนที่นายจ้างจ่าย ที่กฎหมายไทยถือเป็นค่าจ้าง ? ซึ่งถ้าหากเป็น ค่าจ้างตามกฎหมาย ทั้งสองฝ่ายก็สามารถใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวค่าชด เชย ค่าทำงานล่วงเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุด เพื่อใช้เป็นแนวทางในการรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้อ่าน Lisa ทั้งที่เป็นลูกจ้างและนายจ้าง ดังนี้ครับ

ค่าจ้าง..…คืออะไร ?

ค่าจ้าง คือเงินที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการที่ลูกจ้างได้ทำงาน ให้แก่นายจ้าง ไม่ว่าจะจ่ายเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น (บางคนทำงานต่อเนื่องจ่ายเป็นรายปีก็มีครับ) หรือจ่ายโดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงาน รวมถึงเงินที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงานด้วย โดยเงินที่ถือเป็นค่าจ้างต้องจ่ายโดยนายจ้างเท่านั้น หากจ่ายโดยคนอื่นไม่ถือเป็นค่าจ้างนะครับ เช่น ทำงานอยู่ร้านอาหารมีรายได้จากเงินค่าจ้างส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งได้จากค่าทิปของผู้มาใช้บริการที่เห็นว่าเสริฟอาหารได้ถูกใจ (ไม่หน้าบึ้ง) เรียกใช้ได้ง่าย ลูกค้าไม่ต้องลุกขึ้นไปตามอาหาร ถึงได้ทิปก็ไม่ใช่ค่าจ้างนะครับ เพราะไม่ใช่เงินของนายจ้าง

ลูกจ้างบางคนต้องเกี่ยวพันกับลูกค้าใกล้ชิด จนลูกค้าพอใจการบริการของลูกจ้างบางคน อาจให้เงินพิเศษแก่ผู้ให้บริการอย่างนี้ก็ไม่ใช่ค่าจ้างเช่นกันครับ และเงินค่าจ้างบางประเภทไม่ได้เรียกว่าเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง โดยอาจจะเรียกว่าค่าครองชีพ เช่นเราทำงานได้เงินเดือน 15,000.-บาท ค่าครองชีพ 3,000.-บาท อย่างนี้ถ้าหากค่าครองชีพดังกล่าวเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็น ประจำ มีจำนวนแน่นอนเช่นนี้ก็ถือเป็นค่าจ้างเหมือนกันนะครับ จึงเท่ากับว่าลูกจ้างรายนี้มีเงินเดือน 18,000.-บาท ครับ

แต่ช้าก่อนครับอย่าเพิ่งดีใจไปจ๊ะคุณลูกจ้างทั้งหลาย เพราะศาลฎีกาเคยตัดสินว่าค่าครองชีพไม่ใช่ค่าจ้าง เนื่องจากค่าครองชีพดังกล่าวนายจ้างไม่ได้เป็นผู้จ่าย เช่น ค่าครองชีพของครูโรงเรียนเอกชน ซึ่งเจ้าของโรงเรียนผู้เป็นนายจ้างไม่ได้เป็นผู้จ่าย แต่กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้จ่ายให้แก่ครูเอกชน ดังนั้นค่าครองชีพของครูเอกชนจึงไม่ใช่ค่าจ้างครับผม

นายจ้างบางรายจ่ายเงินพิเศษโดยแบ่งออกเป็นหลายส่วนให้ลูกจ้างควบคู่ไปกับ เงินเดือน เช่น เงินสวัสดิการ เงินเบี้ยเลี้ยง เช่น เงินเดือน 10,000.-บาท เงินสวัสดิการ 3,000.-บาท บางครั้งลูกจ้างต้องออกไปปฏิบัติงานต่างจังหวัดเป็นประจำ นายจ้างต้องให้เบี้ยเลี้ยงในเดือนนั้นเพิ่มอีก 6,000.-บาท ถ้าเงินทั้ง 3 จำนวนนี้จ่ายกันเป็นประจำในทางกฎหมายก็ถือเป็นค่าจ้างนะครับ แต่ถ้าหากเป็นเบี้ยเลี้ยงที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นครั้งคราว เช่น ถ้าออกไปทำงานต่างจังหวัดก็จะได้รับ บางเดือนไม่ได้ออกไปทำงานต่างจังหวัดก็เลยไม่ได้รับ เงินเบี้ยเลี้ยงนี้จึงไม่เป็นค่าจ้างครับ
เงินค่าตอบแทน..…อื่นๆ

ค่าพาหนะ ค่าน้ำมันรถ เนื่องจากลูกจ้างใจดีใช้รถส่วนตัวไปในกิจการงานของบริษัท เจ้านายจึงช่วยเหลือค่าน้ำมันรถให้ลูกจ้างโดยให้ลูกจ้างนำใบเสร็จค่าน้ำมันรถใน แต่ละเดือนมาเบิกได้ โดยทางบริษัทจะจ่ายให้ตามความเป็นจริงและการเบิกเงินแต่ละครั้งต้องมีใบ เสร็จมาแสดง ดังนี้ ไม่เป็นเงินค่าจ้างนะครับ เพราะว่าไม่ใช่เงินที่ลูกจ้างได้รับเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน แต่ถ้าหากนายจ้างให้ความช่วยเหลือค่าพาหนะ ค่าน้ำมันรถแก่ลูกจ้างโดยการเหมาจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นประจำ เช่น จ่ายค่าน้ำมันรถเดือนละ 10,000.-บาท โดยที่ลูกจ้างไม่ต้องนำใบเสร็จเป็นหลักฐานมาแสดงว่าได้จ่ายไปจริง และเหลือก็ไม่ต้องมาคืน เช่นนี้ ในทางกฎหมายถือเป็นค่าจ้างนะครับ เพราะฉะนั้นคุณผู้อ่าน Lisa อย่าเพิ่งเหมารวมไปนะครับ เพราะเงินค่าพาหนะ ค่าน้ำมันรถจากบริษัทบางครั้งก็เป็นค่าจ้าง บางครั้งก็ไม่เป็นค่าจ้าง ต้องพิจารณาดังข้างต้นครับ

เงินค่านายหน้า ค่าคอมมิชชั่น หรือค่าธรรมเนียมการขาย ถ้าเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณเป็นร้อยละจากยอดที่ลูกจ้าง คนเก่งคนนั้นๆขายสินค้าได้ โดยต้องขายในวันและเวลาปกติของวันทำงานจึงจะถือเป็นค่าจ้าง แต่ถ้าหากลูกจ้างไม่มีวันเวลาปกติของการทำงานคือจะขายเมื่อใด วันใดก็ได้ อย่างเช่นสินค้าขายตรงทั้งหลายที่ขายได้ตั้งแต่บนรถเมล์จนถึงรถไฟใต้ดิน หรือขายได้ตั้งแต่ที่บ้านไปจนที่ทำงานเช่นนี้ ก็ไม่ถือเป็นค่าจ้างนะจ๊ะสาวมิสทีน สาวยูสตาร์ สาวแอมเวย์ สาวกิพฟารีน ฯลฯ ไปจนสาวยาคูลท์

เงินจากค่าบริการ ถ้าเป็นเงินที่นายจ้างเรียกเก็บจากลูกค้าที่มาใช้บริการและนายจ้างเฉลี่ย จ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นประจำอย่างนี้ก็ถือเป็นค่าจ้างครับ แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่นายจ้างใจดีมาก ๆ หรือบางทีลูกค้าเขี้ยวยาวลากดินเป็นหนี้ไม่ยอมจ่ายค่าบริการมาตลอด จนมาเจอพนักงานแสนเก่งที่สามารถเรียกเก็บเงินให้บริษัทได้สำเร็จ บริษัทจึงยกเงินทั้งหมดให้แก่ลูกจ้างคนนั้น ๆ โดยนายจ้างไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากเงินดังกล่าวเลย อย่างนี้ต้องถือว่าเป็นเงินที่ลูกค้าจ่ายให้แก่ลูกจ้าง นายจ้างมิได้เป็นผู้จ่าย เช่นนี้ ก็ไม่ถือเป็นค่าจ้างนะครับ

เบี้ยกันดาร ฟังดูแล้วเหมือนไปทำงานกลางทุ่งกุลาสมัยโบราณ (ที่บัดนี้อีสานเขียวแล้วครับ) หรืออยู่ห่างไกลไปจนถึงดินแดนโคกอี (คุณ) หลวย เขาอี (คุณ) หลอด แต่ปัจจุบันยังมีนะครับที่บางครั้งลูกจ้างต้องไปทำงานในต่างจังหวัดห่างไกล และทุรกันดาร นายจ้างก็จะเพิ่มเงินพิเศษให้แก่ลูกจ้างเรียกว่าเบี้ยกันดาร ซึ่งหากจ่ายเป็นประจำทุกเดือน ก็ถือเป็นค่าจ้างครับ

เงินค่ากะกลางคืน บางบริษัททำงานทั้งวันทั้งคืน ดังนั้น ลูกจ้างที่เข้าทำงานในช่วงกลางคืนซึ่งเป็นเวลาพักผ่อนหลับนอน นายจ้างก็จ่ายเงินเพิ่มพิเศษให้เพื่อเป็นค่าตอบแทนกรณีพิเศษที่ลูกจ้างยอมอด ตาหลับขับตานอน (จนมีนัยน์ตาคล้ายหมีแพนด้า) เข้าทำงานในกะกลางคืน โดยเพิ่มเงินอีกจำนวนหนึ่งนอกเหนือจากค่าจ้าง เช่นนี้ ลูกจ้างที่เข้ากะหมุนเวียนในรอบกลางคืนจึงได้รับเงินค่ากะกลางคืนเป็นประจำ จากนายจ้าง เช่นนี้ก็เป็นค่าจ้างเหมือนกัน

เงินประกันค่าเสียหาย การทำงานในบางตำแหน่งต้องมีเงินประกันค่าเสียหาย แต่ปรากฏว่าลูกจ้างมิได้ชำระเงินประกันค่าเสียหายไว้ นายจ้างจึงได้หักเงินค่าจ้างจากลูกจ้างไว้ทุกเดือน เพื่อเป็นเงินประกันค่าเสียหาย กฎหมายให้ถือว่าเงินส่วนที่หักไปก็เป็นค่าจ้างเหมือนกันครับ

เงินประจำตำแหน่ง คือเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่มีความสามารถจนได้ตำแหน่งสำคัญ เช่น ผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการฝ่าย รองผู้จัดการฝ่าย หรือผู้ช่วยผู้จัดการฝ่าย ฯลฯ หากลูกจ้างคนใดอยู่ในตำแหน่งที่บริษัทกำหนดว่าจะได้เงินประจำตำแหน่ง ก็จะได้เงินพิเศษจำนวนนี้ นอกเหนือจากค่าจ้าง ซึ่งมักจ่ายเป็นประจำทุกเดือน มีกำหนดเวลาที่แน่นอน อย่างนี้ก็เป็นค่าจ้างแน่นอนครับ ไม่พลาด จนกว่าเก้าอี้คุณจะถูกเลี่อย

เงินรับรอง ลูกจ้างตำแหน่งผู้บริหารที่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่จากชาติปางก่อน มาชาตินี้จึงได้ทำหน้าที่สำคัญ เช่นผู้จัดการ หรือรองผู้จัดการ ก็จะมีเงินหรืองบพิเศษ ที่เรียกว่าเงินรับรอง เงินจำนวนนี้นายจ้างจะจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นประจำทุกเดือน ไม่ว่าลูกจ้างจะออกไปรับรองลูกค้าหรือไม่ก็ตาม อย่างนี้ก็เป็นเงินค่าจ้างเหมือนกันครับ แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่ลูกจ้างต้องนำใบเสร็จรับเงินค่ารับรองมาเบิกเงิน จากบริษัท แปลว่าต้องมีการรับรองกันจริงถึงจะได้เงินค่ารับรองนี้จากบริษัท เช่นนี้ก็ไม่ใช่ค่าจ้างนะครับเพราะไม่ใช่เงินได้ของลูกจ้างครับ

กรณีนายจ้างจ่าย..…แต่ไม่ใช่ค่าจ้าง
เงินบางประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง แต่ไม่ได้จ่ายกันเป็นประจำทุกเดือน หรือจ่ายแบบครั้งคราวเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เงินโบนัส เงินบำเหน็จ เงินค่าทิป เงินรางวัลเพื่อจูงใจ เบี้ยขยัน ค่าที่พัก ค่าจอดรถเหมาจ่าย เงินช่วยเหลือสวัสดิการ ค่าอาหาร เงินช่วยเหลือบุตร เงินภาษีที่นายจ้างออกให้ เงินค่าอบรมพิเศษ เงินค่าไฟฟ้าที่นายจ้างออกให้ เงินช่วยเหลือเมื่อไปทำงานต่างประเทศ เงินค่ายังชีพที่จ่ายในระหว่างหยุดกิจการ เงินค่าซักรีด เงินค่าล่วงเวลา เงินค่าทำงานในวันหยุด ฯลฯ ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนเป็นเงินที่นายจ้างมิได้จ่ายเป็นประจำอันเนื่องมาจาก การทำงานในวันเวลาปกติ เช่นนี้ ก็ไม่ถือเป็นค่าจ้างนะครับ เวลาจะนำเงินค่าจ้างมาคำนวณเพื่อหาค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าชดเชยก็จะไม่นำเงินเหล่านี้มารวมคำนวณด้วยครับผม
อั่งเปา แตะเอีย โบนัส…ไม่ใช่ค่าจ้าง

เงินอั่งเปา แตะเอีย หรือ โบนัสที่นายจ้างได้จัดไว้เป็นเงินพิเศษให้แก่ลูกจ้างเนื่องในโอกาสวันตรุษ จีนเพื่อให้ลูกจ้างได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้สอยหรือไปเที่ยวหาความสุข ความสำราญ เงินเหล่านี้ไม่ใช่เงินค่าจ้างครับ แต่เป็นเงินพิเศษที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งแม้จะจ่ายเป็นประจำทุกปี แต่เงินอั่งเปา แตะเอีย หรือโบนัสที่จ่ายกันในช่วงวันตรุษจีนจึงไม่ใช่เงินค่าจ้างครับ ซึ่งถ้าหากมีกรณีเลิกจ้างกันเกิดขึ้นก็จะไม่นำมาคำนวณเพื่อคิดเป็นค่าชดเชย หรอกครับ

รู้ทันนายจ้าง..…หัวหมอ
นายจ้างบางคนขี้โกงครับ เช่น กำหนดเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างในอัตราเดือนละ 10,000.-บาท ซึ่งลูกจ้างคนนี้ทำงานอยู่ในฝ่ายขายโดยเขาจะมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่นจากการ ขายคิดเป็นร้อยละจากยอดขายเฉลี่ยตกเดือนละประมาณ 20,000.-บาท นอกจากนั้นยังได้รับค่าน้ำมันรถเป็นการเหมาจ่ายอีกเดือนละ 10,000.-บาท ลูกจ้างทำงานมาได้ 3 ปีเศษ นายจ้างกลับบอกเลิกจ้างลูกจ้าง โดยลูกจ้างไม่มีความผิด ซึ่งในการคำนวณเพื่อจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าว กฎหมายกำหนดให้คิดจากค่าจ้างเงินเดือนบวกเงินค่าชดเชยอีกเป็นเวลา 6 เดือน รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 7 เดือน นายจ้างหัวหมอ (ขี้โกง) ก็คำนวณจากฐานเงินเดือนในอัตราเดือนละ 10,000.-บาทแค่นั้น เท่ากับจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเงิน 70,000.-บาท เช่นนี้ไม่ถูกต้องและผิดกฎหมายนะครับ

แท้จริงแล้วรายได้ของลูกจ้างคนนี้ไม่ใช่แค่เงินเดือน ๆ ละ 10,000.-บาท หากแต่มีรายได้จากเงินเดือน ๆ ละ 10,000.-บาท บวกค่าคอมมิชชั่นเดือนละ 20,000-บาท บวกค่าน้ำมันรถอีกเดือนละ 10,000.-บาท รวมแล้วลูกจ้างมีรายได้เดือนละ 40,000.-บาท ซึ่งต้องนำจำนวนเงิน 40,000.-บาท มาคำนวณเป็นเงินค่าจ้าง ดังนั้น ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับเงินค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวและค่าชดเชยรวมแล้ว เป็นเงิน 280,000.-บาท มิใช่ 70,000.-บาท ตามที่นายจ้างหัวหมอพิจารณาจ่ายให้ครับ อย่าทำนะครับคุณนายจ้าง เดี๋ยวถูกฟ้องจากลูกจ้าง

เป็นอย่างไรบ้างครับคุณผู้อ่าน หวังว่าคงพอเข้าใจในเรื่องค่าจ้างชัดเจนขึ้นแล้วใช่ไหมครับ ไม่ว่าคุณผู้อ่านจะอยู่ในฐานะนายจ้างหรือลูกจ้าง ต่อไปคงไม่ปวดหัวกับการพิจารณาเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าชดเชยอีกแล้วนะครับ และในช่วงตรุษจีนปีนี้ผมขออวยพรให้คุณผู้อ่าน Lisa ทั้งหลายมีความสุข ซินเจียยูอี่ ซินนี้ฮวดไช้ และขอให้ได้รับอั่งเปากันทั่วหน้า และขอให้ร่ำรวยมีเงินเยอะ ๆ ครับผม

เงิน เงิน เงิน….. ค่าจ้าง เล่ม 5
ลงหนังสือ Lisa ปีที่ 6 ฉบับที่ 5 วันพฤหัส 3 กุมภาพันธ์ 2548
อ.ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช

ที่มา..http://www.pramarn.com/

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.