รูปแบบองค์กรที่เหมาะสมของบริษัทต่างประเทศ | รับทำเงินเดือน รูปแบบองค์กรที่เหมาะสมของบริษัทต่างประเทศ | รับทำเงินเดือน

รูปแบบองค์กรที่เหมาะสมของบริษัทต่างประเทศ

บริษัทต่างประเทศ ที่จะเข้ามาลงทุน ประกอบธุรกิจ ในบ้านเรา มักมีคำถามคล้ายๆ กันว่า รูปแบบองค์กรที่เหมาะสม ควรจัดตั้งในรูปแบบใด (จึงประหยัดภาษี)

ในภาพกว้างๆ คงสรุปรูปแบบหลักๆ ได้ 5 ประเภท

  1. จดทะเบียน จัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ ในประเทศไทย (2)
  2. เปิดสาขาในไทย
  3. ตั้งเป็นกิจการร่วมค้า (Joint Venture)
  4. ตั้งตัวแทนจำหน่าย (Distributor)
  5. ตั้งสำนักผู้แทน (Representative Office)

ถามว่ารูปแบบใดดีกว่ากัน?
คงต้องมองกัน ในหลายแง่มุม และว่ากันยาวซะแล้ว!

1. การจดทะเบียน จัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ แนวทางนี้ จะเสมือนเป็นการ เข้ามาปักรากปักฐานอยู่นาน

ตัวอย่างเช่น บริษัท ยูโนแคล (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสัมปทานขุดเจาะสำรวจ และผลิตปิโตรเลียม ในอ่าวไทยเป็นเวลา 30 ปี

บริษัท โตโยต้า (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาตั้งฐาน การผลิตรถยนต์ที่ กบินทร์บุรี เพื่อส่งออกและจำหน่าย ในประเทศไทย เป็นต้น

การเลือกตัดสินใจ ลงทุนในระยะยาว ในประเทศใด ประเทศหนึ่ง เช่นนี้ มีเหตุผลปัจจัย หลายประการ อาทิ เสถียรภาพทางการเมือง โครงสร้างพื้นฐาน ที่เอื้อต่อการลงทุน อัตราค่าจ้างแรงงาน การควบคุมการไหลเข้าออก ของเงินตราต่างประเทศ และภาระภาษีอากร เป็นต้น

กล่าวในแง่ของภาษีอากร ข้อดีของการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ จะมีผลให้บริษัทใหม่ มีสถานะเป็น คนละหน่วยภาษี (tax entity) กับบริษัทแม่ ในต่างประเทศ ดังนั้น รายจ่ายต่างๆ ที่บริษัทแม่ในต่างประเทศ เรียกเก็บจากบริษัทในเครือ ในประเทศไทย จึงสามารถนำมาหัก เป็นรายจ่ายในประเทศไทย ได้ทั้งจำนวน ทำให้กำไรสุทธิ ในไทยลดลง และเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลต่ำลง เช่นกัน

ตัวอย่างของรายจ่าย ที่คัดมาจากสำนักงานใหญ่ ได้แก่ ค่าที่ปรึกษาทางเทคนิค ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เงินเดือนค่าจ้าง ของผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ที่ถูกส่งเข้ามาช่วยเหลือ หรือช่วยปฏิบัติงานต่างๆ ในประเทศไทย เป็นต้น กรณีดังกล่าว จึงเป็นช่องทางหนึ่ง ที่ใช้เป็นเครื่องมือ ในการถ่ายโอนกำไร ออกจากประเทศไทย โดยปลอดจากภาระภาษี โดยเฉพาะในกรณีที่อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เหลื่อมล้ำกันของทั้ง 2 ประเทศคู่ค้า

แต่ข้อเสียของรูปแบบองค์กรใ นลักษณะนี้ก็คือ จะต้องมีการชำระบัญชี เมื่อเลิกกิจการ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุ ให้ถูกออกหมายเรียก ทำการตรวจสอบภาษีได้ ซึ่งหลายบริษัท ต้องน้ำตาตก ในการถูกปรับภาษีเพิ่มเติม ในตอนจบนี่แหละ!

2. เปิดเป็นสาขา หรือสำนักงานชั่วคราวในไทย

กรณีนี้ก็คือ การประกอบกิจการ ในประเทศไทย ตามนัยมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยการขออนุญาต ประกอบกิจการในไทย ในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ ตามอายุของโครงการ เช่น การสร้างสะพาน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตามสัญญาจ้าง 3 ปี เป็นต้น โดยการส่งลูกจ้าง ผู้ทำการแทน หรือผู้จัดการสาขา เป็นตัวแทนเข้ามาบริหารงาน ของกิจการในประเทศไทย

ในบางกิจการอาจติดข้อจำกัด ของกฎหมายและใบอนุญาต เช่น กรณีของการเปิดสาขา ของธนาคารต่างประเทศ เป็นต้น

ตามหลักกฎหมาย ระหว่างประเทศ การเปิดสาขา หรือขออนุญาต ตั้งสำนักงานชั่วคราวดังกล่าว ก็ยังถือว่า บริษัทต่างประเทศรายนั้นๆ มีสัญชาติ ตามบริษัทแม่ (head office) กรณีนี้จึงสามารถ ใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามข้อบท ในอนุสัญญาภาษีซ้อน ที่ประเทศไทยทำไว้กับบริษัทแม่ได้ เช่น การลดหรือยกเว้นภาษีเงินได้ในบางกรณี ฯลฯ ในทางกลับกัน กรณีก็อาจทำให้ สาขาของบริษัทต่างประเทศ เสียสิทธิในการประกอบกิจการ ในบางประเภทธุรกิจ ที่สงวนไว้แก่คนไทยเช่นกัน

กรณีที่บริษัทต่างประเทศดังกล่าว มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ ที่ได้ทำความตกลง ว่าด้วยการยกเว้น การเก็บภาษีซ้อน ไว้กับประเทศไทย (ขณะนี้มี 43 ประเทศ) บางอนุสัญญากำหนดระยะเวลาเข้ามาดำเนินธุรกิจน้อยกว่า 6 เดือน ก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิที่ได้รับจากการประกอบกิจการ ในไทย ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเลือกรูปแบบองค์กร เพื่อวางแผนประหยัดภาษีได้เช่นกัน

ตัวอย่างเช่น บริษัทต่างประเทศ เข้ามาตั้งสาขา ประกอบธุรกิจในไทย โดยบริษัทแม่ในต่างประเทศ นำเงินมาลงทุน ถือหุ้นในบริษัทไทยแห่งหนึ่ง เมื่อบริษัทแม่ ได้รับเงินปันผล จากการถือหุ้นดังกล่าว กรมสรรพากร ได้วางแนวปฏิบัติ ว่าไม่ต้องนำเงินปันผลดังกล่าว มารวมในการคำนวณ กำไรสุทธิของสาขาในไทย คงมีภาระเพียงถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตรา 10% เท่านั้น (ถือเป็น final tax)

3. การตั้งเป็นกิจการร่วมค้า (Joint Venture)

เหตุผลในการขอตั้ง เป็นกิจการร่วมค้า โดยทั่วไป เป็นเพราะบริษัทมากกว่า 2 แห่งขึ้นไป มีเทคโนโลยี และความสามารถ แตกต่างกันคนละด้าน จึงต้องเข้าร่วมประมูลงาน หรือร่วมมือกันดำเนินงาน ให้โครงการ สำเร็จลุล่วงลง เช่น โครงการประมูลงานก่อสร้าง สะพานพระราม 9 บริษัท A เก่งงานด้านการก่อสร้าง ฐานรากในแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนบริษัท B เก่งงานด้านการก่อสร้างตัวสะพาน ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ในการขึงลวดสลิง เพื่อพยุงตัวสะพานเอาไว้ เป็นต้น

กรมสรรพากรได้วางแนวปฏิบัติ ว่าลักษณะของกิจการร่วมค้า จะต้องเข้าเกณฑ์หนึ่ง เกณฑ์ใด ดังนี้

  1. มีการร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สิน แรงงานหรือเทคโนโลยี หรือร่วมกันในผลกำไร หรือขาดทุน อันจะพึงได้ตามสัญญา ที่ร่วมกันทำ กับบุคคลภายนอก หรือ
  2. ได้ร่วมกันทำสัญญา กับบุคคลภายนอก โดยระบุไว้ในสัญญานั้น ว่าเป็นกิจการร่วมค้า หรือ
  3. ได้ ร่วมกันทำสัญญา กับบุคคลภายนอก โดยสัญญานั้น กำหนดให้ ต้องรับผิดร่วมกัน ในงานที่ทำ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และต้องรับค่าตอบแทน ตามสัญญาร่วมกัน โดยสัญญานั้น ไม่ได้แบ่งแยกงาน และค่าตอบแทน ระหว่างกันไว้อย่างชัดเจน

ข้อเสียของกิจการร่วมค้าก็คือ ผู้ร่วมค้าแต่ละราย ไม่อาจใช้สิทธิประโยชน์ จากอนุสัญญาภาษีซ้อน ตามสัญชาติ ของผู้ร่วมค้ารายนั้นๆ เพราะประมวลรัษฎากร ถือว่ากิจการร่วมค้า เป็นหน่วยภาษีใหม่ แยกต่างหากจาก ผู้ร่วมค้าแต่ละราย เช่น กิจการร่วมค้าระหว่างบริษัท J (ญี่ปุ่น) + บริษัท G (เยอรมัน) เป็นต้น

นอกจากนั้นกรณีโครงการ ของกิจการร่วมค้า มีผลการดำเนินงาน เป็นขาดทุนสุทธิ กรณีก็ไม่อาจนำ หรือโอนผลขาดทุนดังกล่าว ไปหักเป็นรายจ่า ยของผู้ร่วมค้า แต่ละราย ตามนัยมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากรเช่นกัน เพราะเป็นคนละหน่วยภาษีกัน

ในการวางแผนภาษี จึงต้องชั่งใจ ข้อดี/ข้อเสีย ว่าจะจัดเป็น รูปแบบองค์กร ในลักษณะนี้หรือไม่ ทางออกก็คือ ถ้าจับมือกันอย่างหลวมๆ กรณีก็จะถือเป็น Consortium ซึ่งกรมสรรพากร วางแนวทาง ให้ผู้ร่วมค้าแต่ละราย ต้องแบ่งแยก รายได้รายจ่าย ของโครงการร่วมทุน เพื่อนำไปเสียภาษีในนาม ของผู้ร่วมค้า แต่ละรายโดยตรง

ลักษณะของ Consortium เช่น ในสัญญาว่าจ้าง มิได้ใช้ชื่อว่ากิจการร่วมค้า หรือในสัญญาว่าจ้าง จะมีการแยกงาน แยกรายได้ค่าจ้าง ออกต่างหาก เป็นของผู้ร่วมค้า แต่ละรายโดยตรง เป็นต้น

4. การตั้งตัวแทนจำหน่าย (Distributor)

ตัวอย่างเช่น บริษัท กันยงอิเล็กทริค จำกัด (ตัวแทนจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อมิตซูบิชิของญี่ปุ่น) บริษัท ดีทแฮล์ม (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด เป็นต้น

กรณีดังกล่าวอาจเป็น เพราะตลาดบ้านเรา ยังมีขนาดเล็ก ไม่คุ้มค่าต่อการยกทัพ เข้ามาเองโดยตรง

ปัญหาของการ ตั้งตัวแทนจำหน่าย ก็คือ ประเด็นการตีความ ว่าบริษัทไทย ที่เป็นตัวแทนขายเหล่านั้น จะเข้าลักษณะ เป็นผู้ทำการแทนที่ไม่อิสระ ตามนัยมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ หากใช่ บริษัทไทยดังกล่าว จะต้องมีหน้าที่ และความรับผิด ในการยื่นแบบ แสดงรายการ ชำระภาษีเงินได้ นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) แทนบริษัทต่างประเทศ

ในการวางแผนภาษี ของบริษัทไทยดังกล่าว จึงต้องชั่งใจว่า จะประกอบกิจการ ในลักษณะซื้อมาขายไป หรือจะเลือกเป็นตัวแทนขาย ซึ่งต้องเสี่ยง ต่อการตีความ เป็นผู้ทำการแทน ตามมาตรา 76 ทวิ นั่นเอง

5. การจัดตั้งสำนักผู้แทน (representative office)

การขอจัดตั้งสำนักผู้แทน ของนิติบุคคลต่างประเทศ จะต้องเป็นไปตาม ข้อกำหนด ในประกาศ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2529 ส่วนในแง่ภาษีอากร จะต้องเป็นไปตามแนวปฏิบัติ ของกรมสรรพากร ซึ่งโดยหลักการ จะไม่มีการจัดเก็บ ภาษีใดๆ จากสำนักผู้แทนดังกล่าว เว้นแต่จะมีการประกอบธุรกรรม ทางการค้า

ตัวอย่างหน้าที่ความรับผิดชอบ ของสำนักผู้แทน เช่น การตรวจสอบ และควบคุมคุณภาพ และปริมาณของสินค้า ที่สำนักงานใหญ่ซื้อหรือจ้างผลิต ในประเทศ การให้คำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับตัวสินค้า ของสำนักงานใหญ่ ที่จำหน่ายแก่ตัวแทนจำหน่าย หรือผู้ใช้สินค้า การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับสินค้า หรือบริการใหม่ ของสำนักงานใหญ่ และการรายงาน ความเคลื่อนไหวทางธุรกิจ ในประเทศไทย ให้สำนักงานใหญ่ทราบ

6. สรุปข้อดี ข้อเสีย ของรูปแบบองค์กร ในลักษณะต่างๆ ของบริษัทต่างประเทศ ได้ดังนี้

6.1 การตั้งบริษัทใหม่ในไทย หักรายจ่ายได้ ในกรณีที่บริษัทแม่ ในต่างประเทศ เรียกเก็บค่าบริการ / ค่าจ้าง / ค่าใช้จ่ายอื่นๆ จากไทย เป็นช่องทาง ถ่ายโอนกำไร โดยปลอดภาระภาษี (transfer pricing) ชะลอการเสียภาษี ตามมาตรา 70 ทวิ โดยจัดสรรการจำหน่าย เงินกำไรให้เหมาะสม ต้องชำระบัญชี เมื่อเลิกกิจการ ซึ่งอาจถูกตรวจสอบภาษีได้
6.2 การขอเปิดสาขา หรือสำนักงาน ชั่วคราวในไทย เข้ามาน้อยกว่า 6 เดือนอาจได้รับ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามอนุสัญญาภาษีซ้อน ไม่ต้องชำระบัญชี หรือแจ้งเลิกบริษัท เมื่อจบโครงการ ต้องเสียภาษี จากการจำหน่าย เงินกำไรอัตรา 10% ตามมาตรา 70 ทวิ เมื่อสิ้นสุดโครงการ
6.3 กิจการร่วมค้า (Joint Venture) ได้รับยกเว้นภาษี สำหรับเงินส่วนแบ่งกำไร แก่ผู้ร่วมค้าที่ประกอบ กิจการในประเทศไทย ไม่ต้องจัดสรร เป็นเงินทุนสำรอง 5% ตามมาตรา 1202 แห่งประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ ไม่สามารถยกผลขาดทุน ของกิจการร่วมค้า ไปหักเป็นรายจ่าย ของผู้ร่วมค้าแต่ละรายได้
6.4 การตั้งบริษัทไทย เป็นตัวแทนจำหน่าย ถ้าวางแผนดี บริษัทต่างประเทศ อาจไม่ต้องเสียภาษี เงินได้นิติบุคคล จากการส่งสินค้า เข้ามาขายในไทย มีความเสี่ยง จากการตีความ ว่าบริษัทไทย เป็นผู้ทำการแทน ตามมาตรา 76 ทวิ
6.5 การตั้งสำนักผู้แทน ของบริษัทต่างประเทศ ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เพราะมิได้ ประกอบธุรกิจการค้าใดๆ

7. ส่งท้าย

ปัญหาภาษีที่บริษัทต่างประเทศ ประสบอยู่ ในการเข้ามา ประกอบธุรกิจ ในเมืองไทยก็คือ ความซับซ้อน และไม่ชัดเจน ของตัวบทกฎหมาย และระเบียบปฏิบัติ ต้นทุนในการปฏิบัติ ตามกฎหมายภาษี (compliance cost) จึงสูง และยังไม่แน่นอน อีกโสตหนึ่ง

ขณะที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีคลัง กำลังง่วน อยู่กับการใช้ นโยบายการคลัง (ภาษีอากร) ในการจูงใจ ให้ต่างชาติ เข้ามาลงทุนในไทย ด้วยสารพัดแคมเปญ การลด แลก แจก แถม… ก็ขออย่าลืมนึกถึง ข้อด้อยด้านโครงสร้างภาษี และ compliance cost ดังกล่าวด้วยนะครับ!

ที่มา..กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.