ตุลาคม, 2012 | รับทำเงินเดือน ตุลาคม, 2012 | รับทำเงินเดือน

ประเด็นถามตอบเกี่ยวกับงานจดทะเบียนพาณิชย์

เพื่อทำความเข้าใจกับเกี่ยวกับการจดทะเบียนพาณิชย์ ขั้นตอนการจดทะเบียนพาณิชย์ ธุรกิจแบบไหนจดทะเบียนพาณิชย์ได้ แบบไหนจดไม่ได้ ปัญหาที่พบในการจดทะเบียนพาณิชย์ โดยนำประเด็นสำคัญๆ ที่พบบ่อยๆ มาอธิบายถามตอบไว้

ที่ คำถาม คำตอบ
1. กรณีจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงตัวเจ้าของ ต้องทำอย่างไรบ้าง และใช้หลักฐานอะไรบ้าง และกรณีเจ้าของทะเบียนพาณิชย์เดิมตาย หากจะจดเปลี่ยนแปลงตัวเจ้าของต้องทำอย่างไร

 

กรณีการเปลี่ยนตัวผู้ประกอบพาณิชยกิจ ไม่ว่าจะเป็นการโอนกิจการให้แก่กัน หรือได้รับมรดก ไม่สามารถดำเนินการโดยการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการได้ เนื่องจากเป็นกิจการเฉพาะตัวบุคคลซึ่งบุคคลผู้รับโอนก็ ไม่อาจนับช่วงเวลาที่ผู้โอนได้ดำเนินกิจการมาก่อนได้ ในกรณีเช่นนี้ จึงต้องดำเนินการ ดังนี้

1. ผู้โอนหรือทายาท ยื่นคำขอจดทะเบียนเลิกประกอบพาณิชยกิจ ระบุเหตุผลที่เลิกในแบบ ทพ. ข้อ 14 ว่า โดยเหตุโอนพาณิชยกิจให้กับนาย……….ผู้รับโอน

2. ผู้รับโอน ยื่นคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (ตั้งใหม่) ให้กรอกข้อความข้อ 9 รับโอนพาณิชยกิจนี้จาก ให้ระบุชื่อผู้ให้โอนและที่อยู่ สาเหตุที่โอนให้ระบุ เลิกประกอบพาณิชยกิจ

ทั้งสองกรณี ให้ดำเนินการในวันเดียวกัน โดยให้ออกเลขคำขอจดเลิกพาณิชยกิจ และดำเนินการรับจดทะเบียนเลิกให้แล้วเสร็จก่อน จากนั้นจึงออกเลขคำขอจดทะเบียนตั้งใหม่อีกคำขอหนึ่งและดำเนินการตามขึ้นตอน

กรณีผู้ประกอบพาณิชยกิจมีเหตุขัดข้อง ไม่สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนเลิกด้วยตนเอง เช่น ตาย วิกลจริต สาบสูญ ให้ผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมาย เช่น สามีภรรยา บิดา มารดา หรือ บุตคก็ยื่นคำขอจดทะเบียนเลิกแทนได้ โดยลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนเลิก พร้อมแนบเอกสารหลักฐาน เช่น ใบมรณบัตร คำสั่งศาล หรือ หนังสือยืนยันชี้แจงทายาทว่าเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ถึงแก่กรรม โดยไม่มีทายาทผู้หนึ่งผู้ใดยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอตั้งเป็นผู้จัดการมรดก

2 ประกอบกิจการรับซัก อบรีด จดทะเบียนพาณิชย์ได้หรือไม่ ถ้าจดไม่ได้ แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของ อบต.รับจดทะเบียนไปแล้วจะทำอย่างไร การรับซัก อบ รีด ไม่สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้ เนื่องจาก ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 11 เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ไม่ได้กำหนดให้ เป็นพาณิชยกิจที่ต้องจดทะเบียน

หาก อบต.รับจดทะเบียนพาณิชย์ไปแล้ว ขอให้แจ้งผู้ประกอบพาณิชยกิจมาจดทะเบียนเลิก

3 ถ้าใบทะเบียนทะเบียนพาณิชย์หาย แล้วต้องการยกเลิกต้องทำอย่างไร ต้องแจ้งความหายก่อนหรือไม่ แล้วต้องออกใบแทนให้ก่อนยกเลิกหรือไม่ 1. ให้นายทะเบียนพาณิชย์ต้องดำเนินการสืบค้นแฟ้มทะเบียนหรือต้นขั้วใบทะเบียนพาณิชย์ เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้จดทะเบียนพาณิชย์ไว้ และบันทึกถ้อยคำของผู้ประกอบพาณิชย์ในคำร้องไว้เป็นหลักฐาน และไม่ต้องแนบใบแจ้งความ แต่ให้นายทะเบียนบันทึกถ้อยคำไว้ในคำร้องไว้เป็นหลักฐาน เนื่องจากนายทะเบียนพาณิชย์เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถรับแจ้งกรณีใบทะเบียนพาณิชย์หายได้

2. ดำเนินการพิจารณาจดทะเบียนเลิก โดยไม่ต้องออกใบแทน

4 กรณีจดทะเบียนพาณิชย์ผิดประเภท คือ ไม่ใช่พาณิชยกิจตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 11 จะดำเนินการอย่างไร เช่น ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้สักแล้วขาย ผลิตวงบ่อ เสาซีเมนต์ แล้วขาย มีในรายการรหัสธุรกิจ แต่ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 11 ไม่มี

 

การผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้สักแล้วขาย การผลิตวงบ่อ เสาซีเมนต์แล้วขาย ถือว่าเป็นพาณิชยกิจตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 11 ข้อ 4 (4) การประกอบหัตถกรรมหรือการอุตสาหกรรมไม่ว่าอย่างใด ๆ อย่างเดียว หรือหลายอย่างก็ตาม และขายสินค้าที่ผลิตได้มีค่ารวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งวันใดเป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป หรือในวันหนึ่งวันใดมีสินค้าที่ผลิตได้มีค่ารวมทั้งสิ้นเป็นเงินตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป จึงสามารถรับจดทะเบียนพาณิชย์ได้

สำหรับกรณีได้จดทะเบียนพาณิชย์ไปแล้ว ต่อมาทราบว่าเป็นพาณิชยกิจที่ไม่สามารถรับจดทะเบียนได้ ขอให้แจ้งผู้ประกอบพาณิชยกิจ ให้มาจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการ เพื่อตัดข้อความนั้นออก หรือ จดทะเบียนเลิก แล้วแต่กรณี

5 ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง รับจ้างทั่วไป สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้หรือไม่ เพราะของเก่าที่รับถ่ายโอนมา สามารถจดได้ แต่ได้ปรึกษากับจังหวัดแล้ว บอกว่าไม่สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้ จะทำอย่างไร ถ้ามีผู้มาขอจด และจะทำอย่างไรกับของเก่าที่รับจดทะเบียนพาณิชย์ไปแล้ว ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง รับจ้างทั่วไป ไม่สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้ เนื่องจาก ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 11 เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ไม่ได้กำหนดให้ การรับเหมาก่อสร้าง รับจ้างทั่วไป เป็นพาณิชยกิจที่ต้องจดทะเบียน จึงยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียน

กรณีที่รับจดทะเบียนไปแล้ว ขอให้ติดต่อผู้ประกอบพาณิชยกิจมาจดทะเบียนเลิก

6 การจดทะเบียนพาณิชย์ ประเภทพาณิชยกิจที่ขอจดเป็นการรับเหมาก่อสร้างทุกชนิดและขายวัสดุก่อสร้าง อบต.จะรับจดทะเบียนพาณิชย์ได้หรือไม่ เฉพาะการขายวัสดุก่อสร้างสามารถรับจดทะเบียนพาณิชย์ได้ แต่การรับเหมาก่อสร้างเป็นการรับจ้างทำของไม่สามารถรับจดทะเบียนพาณิชย์ได้ เนื่องจาก ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 11 ไม่ได้กำหนดให้ต้องจดทะเบียน และจะจดทะเบียนในลักษณะเป็นพาณิชยกิจพ่วง คือ ขายสัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้างไม่ได้
7 ผู้ประกอบธุรกิจการค้าที่อยู่ในข่ายต้องจดทะเบียนพาณิชย์ แต่ไม่มาจดทะเบียนพาณิชย์ จะดำเนินการอย่างไร เช่น ร้านขายของชำเล็ก ๆ

 

ผู้ประกอบพาณิชยกิจมีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ ภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มประกอบพาณิชยกิจ หากไม่ยื่นคำขอจดทะเบียนภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาืท และปรับอีกไม่เกินวันละ 100 บาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามกฎหมาย
8 ใบร้านค้าลิขสิทธิ์ ที่ได้รับจาก อบจ. ต้องนำไปใช้ประกอบอะไรหรือให้ใคร – ใบร้านค้าลิขสิทธิ์ จะออกให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์ที่มีพาณิชยกิจตามข้อ 5 (1) การขายหรือให้เช่า แผ่นซีดี แถบบันทึก วีดิทัศน์ แผ่นวีดิทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดิทัศน์ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง คู่กับแบบ พค. 0403 ใบทะเบียนพาณิชย์

– สามารถขอเบิกโดยตรงได้ที่ สำนักงานป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญากรมทรัพย์สินทางปัญญา

เลขที่ 44/100 ถนน นนทบุรี 1 ต. บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี จ. นนทบุรี 11000 หมายเลขโทรศัพท์ 0 2547 4701

9 เลขคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ ต้องเรียงจาก จัดตั้งใหม่ เปลี่ยนแปลง เลิก เรียงเลขคำขอตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหลังต่อไปเรื่อยๆ ใช่หรือไม่ ใช่ เลขคำขอให้รันตามการจดทะเบียนก่อนหน้านี้ เช่น คำขอตั้งเป็น 1902454000001 ถ้ามีคำขอเลิกก็ใช้เลขคำขอ เป็น 1902454000002 เป็นลำดับต่อไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงสิ้นเดือน ให้ทำการคัดแยกรายละเอียดคำขอแต่ละประเภทกรอกในตารางรายงานประจำเดือน ตั้งใหม่ เปลี่ยนแปลง และเลิก
10 โรงสีข้าวขนาดเล็ก ที่มีอยู่ตามหมู่บ้าน ต้องบังคับให้จดทะเบียนพาณิชย์ทุกโรงหรือไม่ หากจดจะเป็นการเพิ่มภาระภาษีหรือไม่ เพราะเจ้าของกิจการต้องชำระภาษีป้ายที่เกิดจากากรจดทะเบียน 200 บาท ภาษีโรงเรือน 250 บาท ค่าใบอนุญาตกิจการอันตราย 50 บาท ภาษีเงินได้ของสรรพากร 600 บาท แต่รายรับเกิดจากการบริการสีข้าววันละ 100-200 บาท การทำโรงสีข้าว เป็นพาณิชยกิจที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 11 ข้อ 4 (1)
11 จดทะเบียนพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว จะบังคับให้ผู้ประกอบการขึ้นป้ายร้านหรือไม่ ถ้าไม่ขึ้นป้ายจะดำเนินการอย่างไร ผู้ประกอบพาณิชยกิจ เมื่อจดทะเบียนพาณิชย์แล้ว มีหน้าที่ต้องแสดงใบทะเบียนพาณิชย์ไว้ ณ สำนักงานในที่เปิดเผย และต้องจัดให้มีป้ายชื่อไว้ที่หน้าสำนักงานใหญ่และสาขาให้เขียนเป็นอักษรไทยอ่านได้ง่ายและชัดเจน จะมีอักษรต่างประเทศไว้ด้วยก็ได้ หากผู้ประกอบพาณิชยกิจไม่ปฏิบัติตามที่กล่าวมาข้างต้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 20 บาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามกฎหมาย
12 ถ้าเปิดร้านขายของชำ จำหน่ายอาหาร จำหน่ายเหล้า บุหรี่ด้วย จะกรอกรหัสธุรกิจอย่างไร (กิจการเดียวแต่ครอบคลุมหลายรหัสธุรกิจ) – การขายของชำ รหัสธุรกิจ คือ 52114

– การขายอาหาร รหัสธุรกิจ คือ 55202

– การขายเหล้า รหัสธุรกิจ คือ 52205

– การขายบุหรี่ รหัสธุรกิจ คือ 52206

กรณีจดทะเบียนเพียงร้านค้าเดียว แต่มีชนิดแห่งพาณิชยกิจหลายประเภท ในคำขอจดทะเบียน (แบบ ทพ.) ข้อ 3 ต้องกรอกทีละรายการ เนื่องจากมีรหัสธุรกิจไม่เหมือนกัน แต่ในรายงานประจำเดือนที่ต้องรายงานภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ให้กรอกรหัสธุรกิจเพียง 1 อย่าง โดยเลือกพาณิชยกิจที่เป็นรายได้หลัก ๆ

13 การขอเปลี่ยนแปลงเจ้าของกิจการ (บุคคลธรรมดา) เลขทะเบียนพาณิชย์จะใช้เลขเดิม หรือแก้ใหม่เป็นเลขบัตรประชาชนของเจ้าของกิจการใหม่ ให้ดูแนวคำตอบจากข้อที่ 1
14 การขอจดทะเบียนชนิดแห่งพาณิชยกิจตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 11 ข้อ 5 (8) การให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้อินเทอร์เน็ต ต้องออกใบทะเบียนพาณิชย์สีแดง หรือไม่ และหากมีพาณิชยกิจ จำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์ด้วย ต้องจดแยกหรือไม่ กรณีนี้ ไม่ต้องออกใบทะเบียนพาณิชย์สีแดง (เดิมใบทะเบียนพาณิชย์สีแดง จะออกให้แก่ผู้ประกอบพาณิชยกิจ จำพวก การขาย หรือให้เช่า แผ่นซีดี แถบบันทึก วีดิทัศน์ แผ่นวีดิทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดิทัศน์ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง)

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเคยมีบันทึกที่ พณ 0812.01/172 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 ชี้แจงแนวทางปฏิบัติงานทะเบียนพาณิชย์ กำหนดให้ใช้แบบ พค. 0403 แบบลายน้ำสีม่วงทุกพาณิชยกิจ

15 การขอจดทะเบียนพาณิชย์ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 11 ข้อ 5 (9) การให้บริการฟังเพลง และร้องเพลงโดยคาราโอเกะ (แต่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์มาเป็นคาราโอเกะ) ต้องออกใบทะเบียนสีแดง หรือไม่ และหากผู้ประกอบพาณิชยกิจ ขายอาหาร สุรา เบียร์ ด้วย จะต้องจดแยกหรือไม่ หากประกอบกิจการร้านอาหาร และมีเครื่องคอมพิวเตอร์เพียง1 เครื่องไว้ให้บริการแขกสับเปลี่ยนกันขึ้นไปร้องเพลง สามารถระบุชนิดพาณิชยกิจ เป็น “จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มพ่วงกับ การให้บริการฟังเพลง และร้องเพลงโดยคาราโอเกะ” ได้ แต่หากร้านอาหารแห่งนั้น มีการแบ่งแยกเป็นห้องย่อย ๆ เอกเทศ และแต่ละห้องมีเครื่องคาราโอเกะไว้บริการ กรณีเช่นนี้ต้องระบุชนิดแห่งพาณิชยกิจ เป็น “จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม การให้บริการฟังเพลง และร้องเพลงโดยคาราโอเกะ”
16 ขอจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญ จำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้าง จะสามารถรับจดทะเบียนพาณิชย์ได้หรือไม่ เพราะรับเหมาก่อสร้างเป็นบริการใช่หรือไม่ ให้ดูแนวคำตอบจากข้อ 6
17 การโอนแฟ้มทะเบียนพาณิชย์ ต้องออกใบทะเบียนพาณิชย์ที่ขอเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสำนักงานใหม่ เรีบบร้อยไปพร้อมกันหรือไม่ กรณีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการที่ตั้งสำนักงานใหญ่ โดยย้ายไปอยู่ในท้องที่อื่นนอกเขตอำนาจ ให้นายทะเบียน

1) ดำเนินการตรวจพิจารณารับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสำนักงานใหญ่ รวมทั้งออกใบทะเบียนพาณิชย์ฉบับใหม่ให้กับผู้ขอจดทะเบียน

2) รวมรวบคำขอจดทะเบียนและแฟ้มทะเบียนรายดังกล่าวไปยังเทศบาล/อบต.ที่ผู้ประกอบพาณิชยกิจนั้นย้ายไป

3) สำหรับเทศบาล/อบต. ที่ได้รับโอนแฟ้มทะเบียน เมื่อได้รับแฟ้มทะเบียนแล้ว ให้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบพาณิชยกิจตามที่ตั้งใหม่ ว่าหากผู้ประกอบพาณิชยกิจจะยื่นจดทะเบียนหรือขอตรวจหรือคัดสำเนาเอกสารก็ให้ติดต่อที่เทศบาล/อบต.ที่รับโอนแฟ้ม

18 วิสาหกิจชุมชน มายื่นคำขอจดทะเบียนพาณิชย์สามารถจดให้ได้หรือไม่ วิสาหกิจชุม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 ที่ได้จดทะเบียนกับสำนักงานเกษตรจังหวัด หากมีการประกอบพาณิชยกิจตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 11 มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ด้วย
19 ห้างหุ้นส่วนสามัญ กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด มีความแตกต่างกันอย่างไร อบต.สามารถรับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดได้หรือไม่

 

ลักษณะของห้างหุ้นส่วน คือ การที่มีบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ตกลงใจที่จะเข้าร่วมลงทุนเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แบ่งห้างหุ้นส่วนออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ห้างหุ้นส่วนสามัญ
2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด

 

ห้างหุ้นส่วนสามัญ คือ ห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกเดียว โดยผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้สินทั้งปวงของห้างหุ้นส่วนไม่จำกัดจำนวน ห้างหุ้นส่วนสามัญ จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นห้างหุ้นส่วนสามัญจึงแยกออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียน ซึ่งไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย
2. ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ซึ่งมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและมีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล”
โครงสร้างห้างหุ้นส่วนสามัญ
1. มีผู้เป็นหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
2. มีผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกเดียว คือ หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดชอบ โดยผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันในบรรดาหนี้สินทั้งปวง ของห้างหุ้นส่วนไม่จำกัดจำนวน
3. ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนเข้าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้
4. จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ก็ได้ ถ้าจดทะเบียนเรียกว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล”
ห้างหุ้นส่วนจำกัด คือ ห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วน 2 จำพวก ดังนี้คือ
1. หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ได้แก่ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคน ซึ่งรับผิดจำกัดเพียงจำนวนเงินที่ตนรับว่าจะลงทุนในห้างหุ้นส่วนเท่านั้น
2. หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ได้แก่ หุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งรับผิดในบรรดาหนี้สินทั้งปวงของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน
โครงสร้างห้างหุ้นส่วนจำกัด
1. มีผู้เป็นหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
2. ผู้เป็นหุ้นส่วนมี 2 จำพวก คือ
2.1 หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดชอบ รับผิดเฉพาะจำนวนเงินที่รับว่าจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วน
2.2 หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด รับผิดชอบในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน
3. ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้นเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ
4. ต้องจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

– เทศบาล/อบต. สามารถรับจดทะเบียนพาณิชย์ประเภท ห้างหุ้นส่วนสามัญ (ไม่มีสภาพนิติบุคคลตามกฎหมาย) เท่านั้น หากผู้ประกอบการต้องการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล (มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย) และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด จะต้องมาจดทะเบียนที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดเพียงแห่งเดียว

20 ตามปกติการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน อบต. และเทศบาล ไม่ได้สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ให้ได้ ใช่หรือไม่ ให้ดูแนวคำตอบจากข้อ 19
21 กรณีที่มีผู้ประกอบพาณิชยกิจมาขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนสามัญ จะออกเลขทะเบียนพาณิชย์ให้อย่างไร -ได้มีหนังสือสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดลำปาง ด่วน ที่ พณ 0812/ลป/1775 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2553 จัดส่งเลขทะเบียนพาณิชย์สำหรับผู้ประกอบพาณิชยกิจที่เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย หรือห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือนิติบุคคลที่มิได้จดทะเบียนนในประเทศ ปี พ.ศ. 2554 ไปยังเทศบาล/อบต.ทุกแห่งแล้ว

– หรือสามารถ ดาวน์โหลดเลขทะเบียนพาณิชย์สำหรับผู้ประกอบพาณิชย์เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย หรือห้างหุ้นส่วนสามัญหรือนิติบุคคลที่มิได้จดทะเบียนในประเทศไทย ได้จาก Banner ถ่ายโอนงานทะเบียนพาณิชย์จากเว็บไซต์ www.dbd.go.th ก็ได้

22 ใบทะเบียนพาณิชย์เดิม พิมพ์ชื่อเจ้าของกิจการผิด แต่ได้ตรวจดูคำขอจดทะเบียนพาณิชย์เดิมแล้ว ข้อมูลถูกต้องทุกอย่าง จะดำเนินการแก้ไขอย่างไร และต้องเก็บค่าธรรมเนียมหรือไม่ แล้วการรายงานข้อมูลประจำเดือน ต้องทำอย่างไร กรณีที่ผู้ประกอบพาณิชยกิจ กรอกชื่อผู้ประกอบพาณิชยกิจใน แบบ ทพ. ถูกต้องแล้ว แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้พิมพ์ชื่อในแบบ พค.0403 ผิด สามารถแก้ไขโดยให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจ ยื่นคำร้อง โดยให้ชี้แจงเหตุผล และให้ออกใบทะเบียนพาณิชย์ใบใหม่ และนำใบทะเบียนพาณิชย์ใบเดิมที่พิมพ์ชื่อผิดแนบกับคำร้องด้วย โดยยกเว้นไม่ต้องเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง และไม่ต้องกรอกในแบบรายงานจดทะเบียนพาณิชย์ (เปลี่ยนแปลง) ประจำเดือน
23 กรณีที่ผู้ประกอบพาณิชยกิจ มายื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลงรายการ เช่น ชื่อตัว ชื่อสกุล คำนำหน้านาม ซึ่งไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียม จะต้องนำข้อมูลมากรอกตารางรายงานจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงในรายงานประจำเดือนด้วยหรือไม่ ไม่ต้องกรอกในข้อมูลในแบบรายงานจดทะเบียนพาณิชย์ (เปลี่ยนแปลง) ประจำเดือน
24 อบจ. จะทำโปรแกรมออนไลน์ เพื่อให้ อปท. บันทึกข้อมูลหรือไม่ เมื่อมีการจดทะเบียนพาณิชย์ตั้งใหม่ เปลี่ยนแปลง เลิก โดยที่สามารถดึงข้อมูลเป็นรายงานออกมาได้เลยหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีการออกแบบระบบเพื่อให้สามารถกรอกข้อมูลการจดทะเบียนพาณิชย์ ตั้งใหม่ เปลี่ยนแปลง และเลิก เป็นระบบออนไลน์

 

25 ผู้ประกอบพาณิชยกิจ ขายต้นไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ ตั้งอยู่บริเวณสวนข้างทาง ไม่มีเลขที่บ้าน ไฟฟ้าที่ใช้ก็ใช้มิเตอร์ไฟฟ้าตามการเกษตร จะใช้เลขที่ตั้งสำนักงาน อย่างไร กรณีนี้ หากมีการสร้างเรือนเพาะชำและขายเป็นประจำ สามารถมาจดทะเบียนพาณิชย์ได้ และวาดแผนที่ และระบุสถานที่ใกล้เคียงให้ชัดเจน
26 เอกสารที่ อบจ. ถ่ายโอนให้ ทะเบียนประวัติร้านค้าบางแห่งมีเอกสารไม่ครบ มีแค่สำเนาบัตรประชาชน กับสำเนาทะเบียนบ้าน จะมีผลอะไรหรือไม่ (เช่น ไม่มีสัญญาเช่าหรือ หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่) – ตามแนวทางปฏิบัติเดิมก่อนโอนงานจดทะเบียนพาณิชย์ให้เทศบาล/อบต. เอกสารที่ใช้แนบประกอบคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ) ใช้เฉพาะสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน

– ต่อมากรมฯพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จัดอบรมหลักสูตรเตรียมความพร้อมในการับโอนภารกิจงานจดทะเบียนพาณิชย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท) ได้กำหนดเอกสารแนบแบบ คำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.) เพิ่มเติมจำนวนหลายรายการ (สามารถดูรายละเอียดเอกสารที่ต้องแนบแนบคำขอแต่ละรายการได้จากไฟล์ Powerpoint ประกอบการประชุมชี้แจงวันที่ 9 พ.ค. 2554 จัด ณ อบจ. ลำปาง) ดังนั้น เมื่อเทศบาล/อบต. พิจารณาคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ จึงต้องให้แนบเอกสารไปตามนั้น

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีชดใช้เงินเดือนและเบี้ยปรับแทนลูกจ้าง

การรับลูกจ้างที่มีภาระผูกพันจากการลาไปศึกษาต่อ ซึ่งนายจ้างมักให้ทุนการศึกษาและจ่ายเงินเดือนให้ระหว่างลาไปศึกษาต่อ แต่จะมีสัญญาผูกมัดให้กลับมาทำงานกับนายจ้างเป็นระยะเวลากี่ปีแล้วแต่จะตกลงกัน กรณีลูกจ้างลาออกจากงานก่อนกำหนดอาจต้องชดใช้เงินคืนให้แก่นายจ้างรวมทั้งอาจจะมีเบี้ยปรับด้วย อันนี้เป็นกรณีที่ลูกจ้างได้รับทุนการศึกษาและออกงานจากก่อนกำหนด โดยนายจ้างใหม่ยินดีชดใช้เงินคืนรวมทั้งค่าปรับให้แก่นายจ้างเดิม สำหรับเงินค่าชดเชยและค่าปรับที่จ้างใหม่จ่ายแทนให้ลูกจ้าง ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (1) ของลูกจ้าง ซึ่งนายจ้างใหม่มีหน้าที่คำนวณภาษีและนำส่งต่อไป

เลขที่หนังสือ : กค.0702/4669

วันที่ : 8 มิถุนายน 2555

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการชดใช้เงินเดือนและเบี้ยปรับตามสัญญาลาศึกษา

ข้อกฎหมาย : มาตรา 39 มาตรา 40(1) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ

สำนักงานฯ ได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการชดใช้เงินเดือนและเบี้ยปรับตามสัญญาลาศึกษา โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า สำนักงานฯ เป็นองค์การมหาชน จัดตั้งโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรม ทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๕๔ มีความประสงค์จะรับนาย ช. และนาย ศ. ซึ่งปัจจุบันเป็นพนักงาน ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แต่เนื่องจากบุคคลทั้งสองราย ได้รับอนุมัติจาก สวทช. ให้ลาไปศึกษาตามระเบียบสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน ปฏิบัติงานวิจัย และบริการทางวิชาการ พ.ศ. ๒๕๕๒ และฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๕๒) โดยในระหว่างที่ได้รับอนุมัติ ให้ลาไปศึกษา ได้รับเงินเดือนในอัตราร้อยละ ๗๕ ของเงินเดือนที่มีสิทธิได้รับจาก สวทช. ซึ่งหากต้องการลาออกจาก สวทช. เพื่อมาปฏิบัติงานกับ สำนักงานฯ แล้วจะต้องชดใช้เงินเดือนที่ได้รับในระหว่างลาศึกษาและเบี้ยปรับอีกจำนวน ๑ เท่า แทนการปฏิบัติงานชดใช้ทุนเป็นระยะเวลาสองเท่าของวันลาตามระเบียบ สวทช.ฯ ซึ่งคิดเป็นเงินที่ต้องชดใช้กรณี นายชัยชนะฯ จำนวน ๑,๘๒๑,๙๖๐.๐๐ บาท และกรณีนาย ศ. จำนวน ๒,๙๕๓,๗๑๖.๓๘ บาท ทั้งนี้ โดยได้รับแจ้งจาก สวทช. ว่า หาก สำนักงานฯ มีความประสงค์จะรับบุคคลทั้งสองรายเข้าเป็นเจ้าหน้าที่ของ สำนักงานฯ ต้องชดใช้เงินทุน จำนวนดังกล่าวให้แก่ สวทช. แทนบุคคลทั้งสองรายจนครบจำนวนในวันที่โอนย้ายมาปฏิบัติงานที่ สำนักงานฯ ได้

สำนักงานฯ จึงหารือว่า การที่สำนักงานฯ ชำระเงินชดใช้เงินเดือนและเบี้ยปรับตามสัญญาศึกษาให้แก่ สวทช. แทนบุคคลทั้งสองราย โดยให้บุคคลทั้งสองรายชดใช้เงินดังกล่าวให้แก่ สำนักงานฯ ด้วยการปฏิบัติงานชดใช้ตามระยะ เวลาที่ สำนักงานฯ กำหนด ถือว่าเป็นกรณีที่บุคคลทั้งสองรายได้รับเงินได้ซึ่งต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือไม่ และหากถือเป็นเงินได้ที่บุคคลทั้งสองรายได้รับแล้ว สำนักงานฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย

กรณีตามข้อเท็จจริง นาย ช. และนาย ศ. ซึ่งเป็นพนักงานของ สวทช. ได้รับทุนการศึกษาจาก สวทช. ให้ลาไปศึกษา ตามระเบียบ สวทช.ฯ โดยบุคคลทั้งสองได้สำเร็จการศึกษาแล้ว และมีความประสงค์จะย้ายไปปฏิบัติงานที่ สำนักงานฯ ใน ระหว่างที่ชดใช้ทุนการศึกษา และ สำนักงานฯ ตกลงจะชดใช้ทุนการศึกษา เงินเดือน และเบี้ยปรับที่ สวทช. จ่ายให้แทน ถือว่า นาย ช. และนาย ศ. ได้รับประโยชน์จากการชำระหนี้แทนของ สำนักงานฯ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๐(๑) แห่งประมวลรัษฎากร โดยสำนักงานฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย นาย ช. และ นาย ศ. ตามมาตรา ๕๐(๑) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้ : 75/38151

ไม่มีใบกำกับภาษี ขอคืนภาษีซื้อได้หรือไม่

ใบกำกับภาษีเป็นเอกสารสำคัญอย่างยิ่งในการใช้เป็นหลักฐานประกอบการขอคืนภาษีซื้อ (ในการนำภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีขาย) แต่มีปัญหาว่า ถ้าผู้ประกอบการไม่มีใบกำกับภาษีซื้อมาลง จะมีวิธีใดบ้างที่จะนำใบกำกับภาษีมาขอคืนหรือขอเครดิตภาษีได้ ในกรณีนี้ผู้ประกอบการต้องย้อนกลับไปหาสาเหตุก่อนว่า ทำไมจึงไม่มีใบกำกับภาษีซื้อ แล้วจึงค่อยหาทางแก้ไขเพื่อที่จะให้ได้เอกสารที่จะนำมาแทนใบกำกับภาษีซื้อได้ ทั้งนี้ใบกำกับภาษีซื้อที่จะนำมาหักออกจากภาษีขายได้ต้องเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

1.กรณีใบกำกับภาษีซื้อสูญหาย

วิธีการแก้ไข ให้จัดหาใบแทนใบกำกับภาษีเพื่อนำมาเป็นหลักฐานในการขอคือหรือขอเครดิตภาษี ซึ่งในเรื่องเกี่ยวกับการขอใบแทนใบกำกับภาษี มีหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 36) ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 ให้การขอใบแทนใบ กำกับภาษีจากผู้ออกใบกำกับภาษี ทำได้ดังนี้

(1) ให้ผู้ออกใบกำกับภาษีถ่ายสำเนาใบกำกับภาษี

(2) ให้ผู้ออกใบกำกับภาษีบันทึกรายการ ดังต่อไปนี้ ลงในภาพถ่ายหรือด้านหลังภาพถ่าย

  • (ก) ใบแทนออกให้ครั้งที่
  • (ข) วัน เดือน ปี ที่ออกใบแทน
  • (ค) คำอธิบายย่อๆ ถึงสาเหตุที่ออกใบแทน
  • (ง) ลงลายมือขื่อของผู้ออกใบแทน ทั้งนี้ ให้ผู้ออกใบแทนใบกำกับภาษีบันทึก รายการตาม (ก) – (ง) ลงในหลังสำเนาใบกำกับ ภาษีที่อยู่กับตนเอง และไปบันทึกรายการออกใบ แทนในรายงานภาษีขายด้วย

2. กรณีไม่มีใบกำกับภาษีซื้อเพราะผู้ออกใบกำกับภาษี ระบุชื่อผิดไป

กรณีนี้เกิดขึ้นจากการที่ผู้ออกใบกำกับภาษีระบุชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในใบกำกับภาษี ผิดไปโดยระบุเป็นชื่อบุคคลอื่น ทำให้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไม่มีใบกำกับภาษีซื้อที่เป็นชื่อของตนเอง มาแสดง

วิธีการแก้ไข ผู้ที่ได้รับใบกำกับภาษีดังกล่าว จะต้องไปร้องขอต่อผู้ออกใบกำกับภาษีให้ยกเลิก ใบกำกับภาษีฉบับดังกล่าว และให้ออกใบกำกับภาษี ฉบับใหม่แทนฉบับเดิมที่ยกเลิกนั้น ระบุรายการของใบกำกับภาษี และชื่อของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการให้ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งวิธีการดังกล่าวได้กำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติไว้ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.86/25421 ข้อ 25 ดังนี้

(1) ผู้ออกใบกำกับภาษีดำเนินการเรืยกคืนใบกำกับภาษีฉบับเดิม และนำมาประทับตราว่า "ยกเลิก" หรือ ขีดฆ่า แล้วเก็บรวมไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิม

(2) จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ซึ่งเป็นเลขที่ใหม่ แต่จะต้องลงวัน เดือน ปี ให้ตรงกับวัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม และ

(3) หมายเหตุไว้ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ว่า "เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทน ฉบับเดิม เล่มที่…. ,เลขที่…." และหมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายของเดือน ภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วย

มีปัญหาอยู่ว่า ก้าผู้ออกใบกำกับภาษีไม่ยอมยกเลิก ใบกำกับภาษีฉบับเดิมและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ ผู้ขื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจะต้องทำอย่างไร?

ตามกฎหมายแล้วยังไม่มีการกำหนดบังคับให้ผู้ออกใบกำกับภาษีต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจึงควรร้องขอให้ผู้ออกใบกำกับภาษีดำเนินการยกเลิก และออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ โดยอาจใช้เหตุผลทางความสัมพันธ์ทางธุรกิจ เพราะถ้าไม่มีใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ระบุชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการแล้ว ก็ไม่มีทางที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจะนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีมาใช้ได้

3. กรณีผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการไม่ออกใบกำกับภาษีให้

ทำให้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไม่มีใบกำกับภาษี ผู้ซื้อสามารถแจ้งให้ผู้ขายสินค้าออกใบกำกับภาษีตามกฎหมาย เพราะการไม่ออกใบกำกับภาษีมีความผิดตามกฎหมายทั้งทางอาญาและต้องรับผิด เสียเบี้ยปรับเงินเพิ่ม อีกด้วย

ที่มา..สรรพากรสาส์น