เงินได้จากกิจการโรงเรียนที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ | รับทำเงินเดือน เงินได้จากกิจการโรงเรียนที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ | รับทำเงินเดือน

เงินได้จากกิจการโรงเรียนที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้

คุณ Suwanna Mongkonsamai ได้โพสต์จากบริเวณ Bangkok ไปยัง Suthep Pongpitak เมื่อ 19 ก.ค. 2556 ว่า
"เรียนอาจารย์ สุเทพที่เคารพ
หนูมีคำถามรบกวนอาจารย์ช่วยชี้แนะดังนี้คะ
บริษัททำธุรกิจเป็นโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ โดยได้รับอนุญาตจัดตั้งเป็นโรงเรียนเอกชน ตาม พ.ร.บ. โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 จากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งโดยปกติจะจัดการเรียนการสอนที่บริษัทเอง ในกรณีที่มีบริษัทว่าจ้างให้ไปสอนภาษาอังกฤษ ให้แก่พนักงานของบริษัท ตามหลักสูตรที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ แต่ให้โรงเรียนไปสอนที่บริษัท โดยบริษัทจะเป็นผู้จัดสถานที่ให้ ในกรณีนี้ถือว่าเป็นการเงินได้จากกิจการของโรงเรียนหรือไม่คะ เนื่องจากไปดู้ใน คำวินิจฉัยที่ กค 0702/7241 วันที่ 7 กันยายน 2554 วินิจฉัยว่า ตามมาตรา 120 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัตโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ข้อ 2(4) ของประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่องการกำหนดประเภทและลักษณะของโรงเรียน การจัดการเรียนการสอนและหลักสูตรของโรงเรียนนอกระบบ การสอนนอกสถานศึกษาตามมาตรฐาน เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการของโรงเรียนราษฎร์ จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องนำรายได้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
แต่มี คำวินิจฉัยที่ กค 0706/4101 วันที่ 18 เมษายน 2550 ตอบว่า การกระทำในลักษณะเดียวกับข้างต้นเป็นการจ้างเนื่องจาก ผู้ว่าจ้างเป็นผู้กำหนดรายละเอียด หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในสัญญาจ้าง และอีกทั้งเป็นการสอนให้กับบุคคลภายนอกที่มิใช่นักเรียนของโรงเรียน ดังนั้นเงินค่าจ้างจึงถือว่าไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
ไม่ทราบว่าตกลงตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ทางโรงเรียนต้องนำส่งภาษีหรือไม่คะ และคำวินิจฉัยทั้ง 2 ข้อ มีข้อแตกต่างกันอย่างไรคะ
ขอบคุณล่วงหน้าคะอาจารย์
ขอแสดงความนับถือ"
เรียน คุณ Suwanna Mongkonsamai
ได้พิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว ผมมีความเห็นว่า กรณีของบริษัทฯ ไม่เข้าตามข้อเลขที่หนังสือ : กค 0702/7241 ลงวันที่ 7 กันยายน 2554 ซึงเป็นกรณีการจัดการจัดการศึกษาร่วมของสถานศึกษา ตามมาตรา 120 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ซึ่งใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 ประกอบกับข้อ 2 (4) ของประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่องการกำหนดประเภทและลักษณะของโรงเรียน การจัดการเรียนการสอนและหลักสูตรของโรงเรียนนอกระบบ ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 กำหนดว่า การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนนอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ครูหรือผู้สอน โดยใช้สื่อการเรียนการสอน หรือโดยการเรียนการสอนแบบบูรณาการ โดยมีทั้งครูหรือผู้สอนและสื่อการเรียนการสอน อาจจัดร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับโรงเรียน หรือกับหน่วยงานอื่นทั้งในและนอกสถานศึกษาอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน
หากแต่เข้าตามแนวคำตอบข้อหารือเลขที่ กค 0706/4101 ลง
วันที่ 18 เมษายน 2550 เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินได้ของโรงเรียนสยามคอมพิวเตอร์และภาษา หาดใหญ่ การทำสัญญาจ้างระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข. กับโรงเรียนฯ เป็นการจ้างเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของผู้ว่าจ้าง ซึ่งผู้ว่าจ้างเป็นผู้กำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการอบรมตามสัญญาจ้าง อีกทั้งเป็นการสอนให้กับบุคคลภายนอกที่มิใช่นักเรียนของโรงเรียนฯ ดังนี้
ข้อหารือ :
1. โรงเรียนฯ ได้เข้าทำสัญญากับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข. เพื่อดำเนินการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ตามโครงการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาของ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ข. และองค์กรปกครองท้องถิ่นอื่น คิดเป็นค่าเล่าเรียนคนละ 7,974 บาท ซึ่งโรงเรียนฯ ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งจากกระทรวง ศึกษาธิการ ตามใบอนุญาตลงวันที่ 13 ธันวาคม 2539 เพื่อเปิดสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และกวดวิชาระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลายให้แก่บุคคลทั่วไป เมื่อเรียนจบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรเพื่อรับรองวิทยฐานะจากโรงเรียนฯ ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยในการสมัครเข้าเรียน ผู้สมัครต้องกรอกใบสมัคร และโรงเรียนฯ ต้องจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เข้าเรียน มีการให้ลงลายมือชื่อเข้าเรียนตามวันและเวลาที่กำหนดในแต่ละหลักสูตร ผู้ผ่านเกณฑ์การทดสอบประเมินผลต้องเขียนคำขอรับใบประกาศนียบัตร และโรงเรียนฯ จะจัดทำทะเบียนไว้เป็นหลักฐานตามข้อบังคับที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด สำหรับผู้เข้ารับการอบรมตามสัญญาฉบับดังกล่าว ได้แก่ ครูและบุคลากรทางการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขต 1 ถึง 3 รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงฯ กำหนดเช่นเดียวกับนักเรียนผู้สมัครเข้ารับการอบรมด้วยตนเองทุกประการ
2. แม้สัญญาจ้างจะกำหนดรายละเอียดให้อบรมด้วยหลักสูตร Microsoft Window XP, Adobe Photoshop CS และ Macromedia Authoware ก็ตาม แต่หลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตรที่ทางโรงเรียนฯ ได้เปิดสอนเป็นการทั่วไปอยู่แล้ว มิได้กำหนดขึ้นใหม่แต่อย่างใด องค์การบริหารส่วนจังหวัด ข. เป็นเพียงผู้เลือกหลักสูตร เพื่อให้บุคลากรในสังกัดได้เข้ารับการอบรมเท่านั้น ส่วนเงื่อนไขอื่นในสัญญาเป็นเพียงข้อกำหนดเกี่ยวกับระยะเวลาในการอบรม สถานที่ที่ใช้อบรมการจัดให้มีเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่แตกต่างไปจากการศึกษาที่โรงเรียนฯ แต่อย่างใด และแบบสัญญาจ้างที่ใช้เป็นเพียงแบบฟอร์มที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ข. นำมาใช้กับการทำนิติกรรมสัญญาทุกประเภท รายละเอียดบางส่วนจึงมิได้เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมเนื้อหาบางส่วนไม่อาจถือเป็นรายละเอียดในการอบรมตามโครงการนี้ได้
3. นักเรียนที่จะได้รับประกาศนียบัตรต้องผ่านการสอบประเมินผลการเรียนตามหลักสูตร ซึ่งผู้รับการอบรมตามสัญญานี้ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้เช่นเดียวกัน ตามมาตรฐานของกระทรวงฯ ที่กำหนดให้ใช้กับนักเรียน ผู้เข้ารับการอบรมตามสัญญานี้จึงเป็นนักเรียน ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน มิใช่บุคคลภายนอกแต่อย่างใด ในโครงการนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลามีงบสนับสนุนให้จัดการอบรมบุคลากรได้จำนวน 750 คน หากจะให้บุคลากรเหล่านั้นเดินทางมาสมัครเรียนด้วยตนเองเป็นรายบุคคล ย่อมจะเกิดความไม่สะดวก
แนววินิจฉัย :
การทำสัญญาจ้างระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข. กับโรงเรียนฯ เป็นการจ้างเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของผู้ว่าจ้าง ซึ่งผู้ว่าจ้างเป็นผู้กำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการอบรมตามสัญญาจ้าง อีกทั้งเป็นการสอนให้กับบุคคลภายนอกที่มิใช่นักเรียนของโรงเรียนฯ ดังนั้น เงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างที่โรงเรียนฯ ได้รับไม่ถือว่าเป็นเงินได้จากกิจการของโรงเรียนราษฎร์ จึงไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรม ดา ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของกฎกระทรวง 126 (พ.ศ. 2509)ฯ และรายรับดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้ : 70/34860

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.