เปิดร้านออนไลน์ เสียภาษีอย่างไร ? | รับทำเงินเดือน เปิดร้านออนไลน์ เสียภาษีอย่างไร ? | รับทำเงินเดือน

เปิดร้านออนไลน์ เสียภาษีอย่างไร ?

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าเศรษฐกิจของไทยอยู่ในภาวะตกต่ำโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีธุรกิจหนึ่งที่นอกจากจะไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าวแล้ว กลับมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกปี นั่นก็คือ “ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” (e-commerce) ยิ่งเมื่ออุปกรณ์สมาร์ทโฟนกับแท็บเล็ตมีราคาที่ต่ำลงจนคนส่วนใหญ่สามารถซื้อหาได้ง่ายบวกกับการเปิดเสรีด้านเทคโนโลยี 3G ทำให้ปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตภายในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้น เปิดโอกาสและช่องทางให้เกิดการใช้จ่ายทาง (e-commerce) มากตามไปด้วย

ฉบับนี้เราจึงขอหยิบเอาประเด็นของ “ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับการเสียภาษี” มาเล่าสู่กันฟัง แต่ว่า…แล้ว…อะไรคือ“e-commerce”ล่ะ? คำตอบก็คือ การซื้อขายบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อสินค้า และชำระเงินผ่านบัตรเครดิตหรือโอนเงินให้แก่คนขาย เมื่อคนขายได้รับเงินค่าสินค้าก็จะจัดส่งสินค้าไปถึงมือผู้ซื้อตามสถานที่ที่ตกลงกันไว้ ข้อดีของ e-commerce คือเป็นการซื้อขายบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จึงสามารถเปิดให้ซื้อขายได้อย่างไร้พรมแดนทั่วโลก ตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด ลงทุนน้อย ไม่ต้องมีหน้าร้าน ไม่ต้องจ้างพนักงานขาย และก็ง่ายต่อการประชาสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อและผู้ขายจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับระบบอินเทอร์เน็ต ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบโลจิสติกส์ (logistice) และกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว

..เปิดร้านออนไลน์ เขาเสียภาษีกันอย่างไร ? ขณะนี้เรายังไม่มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับภาษีธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจด้านนี้จึงต้องเสียภาษีภายใต้กฎหมายประมวลรัษฎากรโดยกรมสรรพากรมองว่า ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ การขายสินค้าหรือบริการเหมือนการประกอบกิจการทั่ว ๆ ไป เพียงแต่เป็นการเพิ่มช่องทางซื้อขายระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายอีกหนึ่งช่องทางคือทางอินเทอรเ์น็ตเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรม ส่วนการเสียภาษีของร้านค้าออนไลน์ก็อยู่ที่ว่า คุณเปิดขายสินค้า/บริการในรูปแบบใด ประเภทใด ก็จะเสียภาษีตามรูปแบบการประกอบการ ยกตัวอย่างเช่น คุณเปิดร้านขายหนังสือออนไลน์ โดยเปิดในนามบุคคลธรรมดา หากรายได้คุณถึงเกณฑ์ก็จะเสียเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะการขายหนังสือได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนวิธีการคำนวณภาษีก็คำนวณจากเงินที่ขายได้ทั้งปีหักค่าใช้จ่าย หักค่าลดหย่อนต่างๆ เหลือเงินได้สุทธิก็เอาไปคำนวณตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ต่อมาร้านค้าออนไลน์ของคุณเติบโตขึ้นมีรายได้ถึงหลักหลายสิบล้านบาทต่อปี อีกทั้งมีการเพิ่มประเภทสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น เครื่องเขียน เครื่องคิดเลข กระเป๋า แผ่นซีดี หรือ สินค้าที่ระลึกต่าง ๆ และจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด คุณก็จะต้องเสียภาษีในนามนิติบุคคล คือภาษีเงินได้นิติบุคคล และเนื่องจากสินค้าที่ขายเพิ่มขึ้นอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม คุณก็ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน นอกจากนี้หากคุณต้องจ้างพนักงานเพื่อช่วยทำงาน จ่ายค่าโทรศัพท์ ค่าใช้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต คุณก็ยังต้องมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อ คุณจ่ายเงินเดือนหรือจ่ายเงินได้บางประเภท ที่กรมสรรพากรกำหนดให้ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายอีกด้วย

หากคุณมีข้อสงสัยหรือต้องการคู่มือเกี่ยวกับการเสียภาษีของ e-commerce เรามี e-book มาให้Download ฟรี ที่ http://download.rd.go.th/fileadmin/download/insight_pasi/e_commerce.pdf หรือโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ RD Call Center 1161

ที่มา..วารสารสรรพากร เดือนมิถุนายน 2556

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.