ค่านายหน้ากรณีผู้รับเป็นนิติบุคคล
สำหรับค่านายหน้าทางด้านผู้มีเงินได้เป็นนิติบุคคล ไม่ค่อยมีปัญหานัก เพราะถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) เพียงกรณีเดียว
รับค่านายหน้าจากต่างประเทศต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
โดยปกติ ค่านายหน้าเป็นกิจกรรมที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าผู้รับมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี อยู่ในบังคับต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยกเว้นกรณีค่านายหน้าที่ได้รับจากต่างประเทศ ที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็คือตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 40 ข้อ 2 (3) “มูลค่าของการให้บริการเนื่องจากการเป็นนายหน้าตัวแทนให้แก่ผู้ประกอบการใน ต่างประเทศ ทั้งนี้เฉพาะในกรณีที่ผู้ประกอบการในต่างประเทศดังกล่าวขายสินค้า หรือให้บริการกับผู้ซื้อหรือผู้รับบริการในต่างประเทศด้วยกัน”
ค่านายหน้าที่ได้รับจากต่างประเทศที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น บริษัทเป็นนายหน้าขายสินค้าให้กับบริษัทในประเทศสิงคโปร์ และบริษัทในสิงค์โปร์ได้ขายสินค้าให้กับบริษัทในประเทศเวียดนาม บริษัทจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำค่านายหน้าที่ได้รับดังกล่าวมารวมคำนวณภาษี มูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 2 (3) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 40 (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.1564 ลว.29 มกราคม 2539)
ตัวอย่างค่านายหน้ารับจากต่างประเทศที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น กรณีที่บริษัทฯ เป็นผู้ทำการติดต่อในการซื้อขายสินค้าระหว่างผู้ซื้อในประเทศกับบริษัทผู้ ขายในต่างประเทศ ทำให้บริษัทในต่างประเทศสามารถขายสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศไทยได้ ถือว่า บริษัทฯ เป็นนายหน้าขายสินค้าของบริษัทในต่างประเทศ บริษัทฯ จึงมีหน้าที่นำค่านายหน้าที่ได้รับจากบริษัทในต่างประเทศมารวมคำนวณเพื่อ เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
โดยเสียภาษีใน อัตราร้อยละ 30 จากกำไรสุทธิ และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร โดยเสียภาษีในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือตอบกรมสรรพากรที่ กค 0811/พ.09658 ลว. 14 กันยายน 2542 http://www.rd.go.th/publish/23724.0.html )
สิ่งที่ควรจะต้องระวังในการรับค่านายหน้าจากต่างประเทศก็คือ กรณีเป็นนายหน้าตัวแทนให้กับบริษัทต่างประเทศเพื่อขายสินค้าให้ลูกค้าใน ประเทศไทย ต้องดูด้วยว่าบริษัทผู้รับค่านายหน้าเข้าข่ายเป็นลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนให้ กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ตามมาตรา 76 ทวิหรือไม่ ถ้าเข้าข่ายเป็นตัวแทนของนิติบุคคลต่างประเทศตามมาตรา 76 ทวิ ก็จะต้องมีหน้าที่ยื่นแบบเสียภาษีแทนนิติบุคคลต่างประเทศ อีกทั้งยังมีภาระต้องยื่นแบบนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 ทวิ การจ่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยอีกด้วย แม้ว่าบริษัท จะเพียงแต่รับค่านายหน้าจากการขายสินค้าหรือบริการ โดยไม่ได้มีส่วนในการรับ จ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการนั้นแต่อย่างใด กรณีนี้ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3935/2548 วินิจฉัยเอาไว้แล้ว
การหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับการจ่ายค่านายหน้าให้กับนิติบุคคลนั้นมีอยู่ 2 กรณีคือ
มาตรา 3 เตรส ซึ่งคำสั่งทป.4/2528 ข้อ 3/1 กำหนดให้ผู้จ่ายที่เป็นนิติบุคคลหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราดังนี้
1. ผู้รับเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย หักในอัตรา 3%
2. ผู้รับเป็นมูลนิธิหรือสมาคม (แต่ไม่ใช่มูลนิธิหรือสมาคมที่เข้าข่ายเป็นองค์การสาธารณกุศลตามประกาศรัฐมนตรีฯ) หักในอัตรา 10%
มาตรา 70 ผู้จ่ายไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล จ่ายค่านายหน้าให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่ไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย หักในอัตรา 15% ยกเว้นการจ่ายค่านายหน้าให้กับนิติบุคคลต่างประเทศที่เป็นประเทศที่มี อนุสัญญาภาษีซ้อนกับไทย ค่านายหน้าที่ได้รับจะเข้าข่ายเป็นกำไรจากธุรกิจ หากนิติบุคคลต่างประเทศนั้นไม่มีสถานประกอบการถาวรในไทย ประเทศไทยในฐานะประเทศแหล่งเงินได้จะไม่มีสิทธิจัดเก็บภาษีเงินได้กับ นิติบุคคลต่างประเทศนั้นได้ การจ่ายเงินค่านายหน้าดังกล่าวจึงไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
การนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
1. ถ้าเป็นการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส จะนำส่งด้วยแบบ ภงด.53
2. ถ้าเป็นการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 จะนำส่งด้วยแบบ ภงด.54
ที่เห็นจะเป็นปัญหากันบ่อย ๆ ก็คือนักบัญชีบ้านเรามักยึดเลข 3 คือเลขประจำชีวิต อะไรที่ไม่แน่ใจ ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 3% ไว้ก่อน การจ่ายค่านายหน้าก็เลยหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตรา 3% ทุกกรณีโดยไม่ได้ดูว่าจ่ายให้ให้ใคร ปัญหาจึงอยู่ที่ถ้าหักน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็อาจถูกสรรพากรให้ไปยื่นภาษีเพิ่มเติมพร้อมกับเงินเพิ่ม เช่น ถ้าไปจ่ายค่านายหน้าให้สมาคมฯ ซึ่งคำสั่งทป.4/2528 ข้อ 3/1 ให้หักในอัตรา 10% แต่ไปหักในอัตรา 3% เท่ากับนำส่งภาษีขาดไป 7% หรือกรณีจ่ายค่านายหน้าให้บุคคลธรรมดาที่เข้าข่ายเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) ถ้าจ่ายค่านายหน้าไปเพียง 100,000 ไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ไปหักไว้ในอัตรา 3% คือ 3,000 ถือว่าหักโดยไม่มีหน้าที่ต้องหัก จะไม่มีผลต้องรับผิดต่อสรรพากร แต่กลายเป็นว่าผู้รับค่านายหน้าต้องถูกหักภาษีไปทั้งที่ไม่จำเป็นต้องถูกหัก แต่ถ้าข้อเท็จจริงเปลี่ยนเป็นว่าจ่ายค่านายหน้าไป 300,000 ซึ่งบริษัทควรจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้จำนวน 11,000 (เงินได้ 300,000 หักค่าใช้จ่าย 60,000 และลดหย่อนส่วนตัว 30,000 คงเหลือเงินได้สุทธิ 210,000 เงินได้สุทธิ 100,000 บาทแรกยกเว้นภาษี ที่เหลือ 110,000 x 10%) ถ้าไปหักไว้ในอัตรา 3% คือ 300,000 x 3% = 9,000 เท่ากับนำส่งภาษีต่ำไป 2,000 บาท สรรพากรอาจให้ผู้จ่ายเงินต้องนำส่งภาษีส่วนที่นำส่งขาดไปพร้อมเงินเพิ่มได้
การจ่ายค่านายหน้าไปต่างประเทศกับการยื่นแบบภพ.36
การยื่นแบบภพ.36 จะเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี คือ
1. กิจการจ่ายเงินให้กับผู้ประกอบการในต่างประเทศ และผู้ประกอบการต่างประเทศนั้นเข้ามาให้บริการในไทยเป็นการชั่วคราว โดยไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ดูมาตรา 83/6 (1)) เช่น บริษัท ก. จำกัด จ้างบริษัทในต่างประเทศเข้ามาตรวจสอบขั้นตอนการทำงานของห้องแล็บของบริษัท ซึ่งอยู่ในประเทศไทย โดยบริษัทในต่างประเทศส่งพนักงานเข้ามาดำเนินการในไทย ถือว่าผู้ประกอบการในต่างประเทศเข้ามาให้บริการในไทย บริษัท ฯ จ่ายค่าซ่อมเครื่องจักรดังกล่าว มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.36) (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811/610 ลว. 25 มกราคม 2544 )
2. กิจการจ่ายเงินให้กับผู้ประกอบการในต่างประเทศ และผู้ประกอบการนั้นได้ให้บริการในต่างประเทศแต่ได้มีการใช้บริการนั้นใน ประเทศไทย (ดูมาตรา 83/6 (2)) เช่น บริษัท ก. จำกัดส่งเครื่องจักรไปซ่อมในต่างประเทศ เมื่อบริษัทในต่างประเทศซ่อมเสร็จเรียบร้อยแล้วได้ส่งกลับมาให้บริษัทฯ ใช้ในประเทศไทย ถือเป็นการให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในไทย บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.36) (คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.104/2544 ข้อ 6 ตัวอย่าง (1))
การจ่ายค่านายหน้าไปต่างประเทศต้องยื่น ภงด.54 และภพ.36 ทุกครั้งหรือไม่ ?
การ จะยื่นแบบ ภงด.54 หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ ถ้าเป็นการจ่ายค่านายหน้าให้กับนิติบุคคลต่างประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาภาษี ซ้อนกับไทย ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 ก็ต้องมีการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายด้วยแบบ ภงด.54 แต่ถ้าเป็นการจ่ายค่านายหน้าให้กับนิติบุคคลต่างประเทศที่มีอนุสัญญาภาษี ซ้อนกับไทย และนิติบุคคลนั้นไม่มีสถานประกอบการถาวร ค่านายหน้าที่ได้รับเข้าข่ายเป็นกำไรจากธุรกิจ จึงไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และไม่ต้องยื่นแบบ ภงด.54
สำหรับการยื่น ภพ.36 ก็ต้องดูว่าเข้าข่ายเป็นการให้บริการในต่างประเทศและมีการใช้บริการนั้นใน ประเทศหรือไม่ ถ้าเข้าข่ายก็ต้องยื่นแบบ ภพ.36 ถ้าไม่เข้าข่ายก็ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภพ.36
ถ้าจะสรุปการยื่นแบบ ภงด.54 และ ภพ.36 สำหรับการจ่ายค่านายหน้าไปต่างประเทศ จะแบ่งออกได้เป็น 4 กรณี คือ
1. กรณีต้องยื่นทั้งแบบ ภงด.54 และ ภพ.36 จะเป็นกรณีจ่ายค่านายหน้าให้กับนิติบุคคลต่างประเทศซึ่งไม่มีอนุสัญญาภาษี ซ้อนกับไทย และค่านายหน้านั้นเข้าข่ายเป็นการให้บริการในต่างประเทศ แต่ได้มีการใช้บริการในประเทศ เช่น บริษัทจ่ายค่านายหน้าให้นิติบุคคลในประเทศพม่า เนื่องจากบริษัทในประเทศพม่าติดต่อแนะนำให้บริษัทในประเทศไทยขายสินค้าให้ กับลูกค้าภายในประเทศไทย เวลาจ่ายเงินค่านายหน้าต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 และต้องนำส่งภาษมูลค่าเพิ่ม (ภพ.36) ด้วย
2. กรณีต้องยื่นแบบ ภงด.54 แต่ไม่ต้องยื่นแบบ ภพ.36 จะเป็นกรณีจ่ายค่านายหน้าให้กับนิติบุคคลต่างประเทศซึ่งไม่มีอนุสัญญาภาษี ซ้อนกับไทย และค่านายหน้านั้นจัดเป็นการให้บริการที่ทำในต่างประเทศ และไม่ได้มีการใช้บริการในประเทศ เช่น บริษัท จ้างบริษัทในประเทศไต้หวัน ให้เป็นนายหน้าติดต่อหาลูกค้าในประเทศไต้หวัน เวลาจ่ายเงินค่านายหน้าต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ด้วยแบบ ภงด.54 แต่ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.36)
3. กรณีต้องไม่ยื่น ภงด.54 แต่ต้องยื่นภพ.36 เป็นกรณีบริษัทจ่ายค่านายหน้าให้นิติบุคคลต่างประเทศซึ่งมีอนุสัญญาภาษีซ้อน กับไทย และนิติบุคคลต่างประเทศนั้นไม่มีสถานประกอบการถาวรในไทยด้วย แต่ค่านายหน้านั้นเข้าข่ายเป็นการให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้ บริการนั้นในประเทศ เช่น บริษัทฯ ได้รับการแนะนำจากบริษัทในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่มีสถานประกอบการหรือตัวแทนในประเทศไทย โดยทางโทรศัพท์หรือโทรสาร ให้ติดต่อขายสินค้าให้กับลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทในประเทศไทย การจ่ายเงินค่านายหน้าดังกล่าวไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 (ภพ.36) (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811 (กม)/พ.2168 ลว.25 ธันวาคม 2541 http://www.rd.go.th/publish/23304.0.html)
4. กรณีไม่ต้องยื่นทั้ง ภงด.54 และภพ.36 จะเป็นกรณีจ่ายค่านายหน้าให้นิติบุคคลต่างประเทศซึ่งมีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับ ไทย และนิติบุคคลต่างประเทศนั้นไม่มีสถานประกอบการถาวรในไทยด้วย และค่านายหน้าที่นิติบุคคลต่างประเทศได้รับไม่เข้าข่ายเป็นการให้บริการใน ต่างประเทศและใช้บริการนั้นในประเทศ เช่น บริษัทเป็นผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ได้จ่ายค่านายหน้าเพื่อเป็นค่าบริการในการจัดหาสินค้าและค่าตรวจสอบ (Q.C.) ให้กับบริษัทในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย การจ่ายเงินค่านายหน้าดังกล่าวไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0706/1552 ลว.23 กุมภาพันธ์ 2549 http://www.rd.go.th/publish/30945.0.html
แบบ ภ.พ.36 ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม 3 ประเภท คือ
ส่วนที่ 1 ได้แก่ ผู้จ่ายเงินซึ่งจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้ ผู้ประกอบการที่เข้ามาประกอบกิจการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวฯ หรือให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ หรือให้แก่ผู้ประกอบการอื่นที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
ส่วนที่ 2 ได้แก่ ผู้รับรับโอนสินค้า หรือรับโอนสิทธิในบริการที่ได้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0
ส่วนที่ 3 ได้แก่ ผู้ขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือส่วนราชการขายทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ถูกยึดมาตามกฏหมายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาด
Speak Your Mind