ภาษีค่าสินไหมทดแทน | รับทำเงินเดือน ภาษีค่าสินไหมทดแทน | รับทำเงินเดือน

ภาษีค่าสินไหมทดแทน

เงินค่าสินไหมทดแทนที่เกิดจากการประกันภัย หรือเกิดจากการละเมิดของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้เสียหายได้คืนสู่สภาพเดิม ดังนั้นในทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากผู้เสียหายได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดจากคู่กรณีก็ดี หรือเงินค่าสินไหมทดแทนที่ได้จากการบริษัทผู้รับประกันภัยก็ดี มีข้อกำหนดของกฎหมายให้ผู้เสียหายหรือผู้เอาประกันภัยที่ได้รับเงินค่าสินไหมทดแทน ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42 (13) แห่งประมวลรัษฎากร

เช่น นาย ก. ทำประกันภัยรถยนต์ (ชั้นหนึ่ง) ไว้กับบริษัทผู้รับประกันภัย ต่อมารถเกิดอุบัติเหตุ นาย ก. จึงเรียกเคลมค่าช่อมแซมจากบริษัทผู้รับประกันภัย ทั้งกรณีค่าสินไหมทดแทนของ นาย ก. และค่าสินไหมทดแทนผู้เสียหายที่เกิดจากการกระทำของนาย ก. ถือเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

อย่างไรก็ตาม กรณีผู้เอาประกันเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เมื่อได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทผู้รับประกัน เงินค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวให้ถือเป็นรายได้อื่นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น และให้ถือเอาค่าซ่อมแซมค่าความเสียหายแก่ทรัพย์สินเป็นรายจ่ายในการดำเนินงานตามปกติ เช่น เกิดเพลิงไหม้โกดังเก็บสินค้าของบริษัทฯ เสียหายทั้งหมด ราคาต้นทุนของโกดังตามบัญชีคิดเป็นมูลค่า 1 ล้านบาท บริษัทฯ ได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทผู้รับประกันจำนวน 5 ล้านบาท เช่นนี้ ถือว่าบริษัทฯ มีรายได้อื่น 5 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายเนื่องจากโกดังเลียหายจำนวน 1 ล้านบาท อย่างนี้ผลต่างย่อมถือเป็นกำไรที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย ซึ่งจะแตกต่างจากกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

กรณีบริษัทฯ ส่งรถยนต์ไปให้บริษัทประกันภัยซ่อมให้ ในทางปฏิบัติเนื่องจากรายได้เท่ากับรายจ่าย จึงไม่มีการบันทึกรายการทางบัญชีกันแต่อย่างใด

เงินค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทผู้รับประกันภัยได้จ่ายให้แก่ผู้เอาประกันนั้น บริษัทผู้รับประกันภัยไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด

นอกจากนี้ เงินค่าสินไหมทดแทนไม่ถือเป็นรายได้ที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย

ที่มา..สรรพากรพื้นที่ 4

Comments

  1. ตอบคุณนพดล
    โดยปกติแล้วต้องชดใช้ค่าเสียหายรวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย (แต่ไม่เกินวงเงินเอาประกัน) ผมยกตัวอย่างว่า กรณีรถถูกชนและมีค่าซ่อม+ภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทประกันก็ต้องชดใช้ทั้งหมด เนื่องจากผู้เคลมอาจจะขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้ก็มีครับ (เช่นบุคคลธรรมดา หรือบริษัทที่ไม่ได้จดภาษีมูลค่าเพิ่ม)

  2. นพดล มีสุขเสมอ says:

    ผมได้อ่านบทความเรื่อง ภาษีค่าสินไหมทดแทนแล้ว มีคำถามเพิ่มเติม โดยต้องการสอบถามว่า…ในกรณีที่ประกันภัยรับประกันภัยความรับผิดของผู้ขนส่ง ซึ่งประกันภัยมีหน้าที่เข้าไปรับภาระแทน “ผู้ขนส่ง” หากเกิดความเสียหายตามสัญญาขนส่งและสัญญาประกันภัย แก่ “ผู้ว่าจ้าง” อันเป็นความรับผิดตามกฎหมาย….

    กรณีที่มีความเสียหายเกิดแก่สินค้าของผู้ว่าจ้างขนส่งและอยู่ในความคุ้มครองของประกันภัย การจ่ายค่าสินไหม จะสามารถเพิ่ม “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ด้วยได้หรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ประกันภัยจะไม่ชดใช้ “ภาษีมูลค่า” เพิ่มในการพิจารณาจ่ายเคลม หากสามารถจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น จะดำเนินการได้อย่างไร ในกรณี…

    1. ประกันภัย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ “เจ้าของสินค้า” ผู้ได้รับความเสียหาย โดยตรง

    2. ประกันภัย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ “ผู้รับจ้างขนส่ง”

    จำเป็นต้องดำเนินการทางด้านภาษีมูลค่าเพิ่มหรือด้านเอกสารอย่างไร ที่จะไปแสดงต่อประกันภัย เพื่อยืนยันว่า สินค้าที่ได้รับความเสียหายนั้น มีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและอยู่ในมูลค่าการประกันภัยด้วย

    ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ

    นพดล มีสุขเสมอ

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.