วิธีการคำนวณภาษีเงินเดือนค่าแรง เพื่อหักนำส่ง ภงด.1 | รับทำเงินเดือน วิธีการคำนวณภาษีเงินเดือนค่าแรง เพื่อหักนำส่ง ภงด.1 | รับทำเงินเดือน

วิธีการคำนวณภาษีเงินเดือนค่าแรง เพื่อหักนำส่ง ภงด.1

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 96/2543

เรื่อง      การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวล

            รัษฎากร กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

———————————————

               เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำผู้มีเงินได้และผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

               ข้อ 1   การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ไม่รวมถึงเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานให้ปฏิบัติดังนี้

                        (1) ให้คำนวณหาจำนวนเงินได้พึงประเมินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี โดยให้นำเงินได้พึงประเมินที่จ่ายแต่ละคราวคูณด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย (ต่อปี) ดังนี้

                                 (ก) กรณีจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือนให้คูณด้วย 12

                                 (ข) กรณีจ่ายค่าจ้างเดือนละ 2 ครั้งให้คูณด้วย 24

                                 (ค) กรณีจ่ายค่าจ้างเป็นรายสัปดาห์ให้คูณด้วย 52

                                 การจ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งเข้าทำงานระหว่างปี ให้คูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายแต่ละคราวในปีที่เข้าทำงานด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายจริงสำหรับปีนั้น เช่น เข้าทำงานวันที่ 1 เมษายน และกำหนดจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน จำนวนคราวที่จะต้องจ่ายสำหรับปีที่เข้าทำงานจะเท่ากับ 9

                        (2) ให้นำจำนวนเงินได้พึงประเมินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปีตาม (1) มาคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ นำมาหักค่าใช้จ่ายค่าลดหย่อน และคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดาเป็นเงินภาษีทั้งสิ้น

                              การคำนวณหักค่าลดหย่อน ให้คำนวณตามที่ผู้มีเงินได้ได้แจ้งไว้พร้อมกับแนบสำเนาหลักฐานแสดงสิทธิในค่าลดหย่อนตามแบบ ล.ย.01(แบบแจ้งรายการเพื่อการหักลดหย่อน) ทั้งนี้ ให้คำนวณหักค่าลดหย่อนได้ตามที่ผู้มีเงินได้ได้แจ้งไว้ตั้งแต่ต้นปีที่เริ่มหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ว่าจะจ่ายค่าลดหย่อนนั้นในเดือนใดของปีก็ตาม เว้นแต่ค่าลดหย่อนเงินบริจาคให้คำนวณหักได้เมื่อมีการจ่ายเงินบริจาคจริงเท่านั้น

                              กรณีผู้มีเงินได้ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงรายการค่าลดหย่อนระหว่างปี ให้คำนวณหักค่าลดหย่อนตามที่ผู้มีเงินได้ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้น

                        (3) ให้นำจำนวนเงินภาษีทั้งสิ้นที่คำนวณได้ตาม (2) มาหารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย (ต่อปี) ตาม (1) ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใด ให้หักเป็นเงินภาษี ณ ที่จ่าย ในแต่ละคราวที่จ่ายเงินนั้น

                              ถ้าการหารด้วยจำนวนคราวไม่ลงตัวเหลือเศษเท่าใด ให้เพิ่มเงินเท่าจำนวนที่เหลือเศษนั้นรวมเข้ากับเงินภาษีที่จะต้องหักไว้ครั้งสุดท้ายในปีนั้น เพื่อให้ยอดเงินภาษีที่หักรวมทั้งปีเท่ากับจำนวนภาษีที่ต้องเสียทั้งปี

                        (4) กรณีมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินได้พึงประเมินที่จ่ายระหว่างปี ให้คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายใหม่ทุกคราว ตามวิธีการตาม (1) – (3)

                        (5) กรณีมีการจ่ายเงินพิเศษเป็นครั้งคราวระหว่างปี เช่น ค่าล่วงเวลา เงินโบนัส ให้นำเงินพิเศษนั้นคูณด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย (ต่อปี) เพื่อหาจำนวนเงินพิเศษเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี และให้นำมารวมเข้ากับเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามปกติที่คำนวณได้เสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษีใหม่ตามที่กล่าวตาม (2) เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดให้นำภาษีที่คำนวณจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามปกติทั้งปี (ก่อนจ่ายเงินพิเศษ) หักออกได้ผลลัพธ์เป็นเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินเพิ่มพิเศษซึ่งจ่ายเป็นครั้งคราวนั้น แล้วให้นำมารวมกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินที่จ่ายตามปกติในคราวนั้น ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นเงินภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายทั้งสิ้นในคราวที่มีการจ่ายเงินพิเศษนั้น

                        (6) กรณีมีการจ่ายเงินได้พึงประเมินที่ไม่สามารถคำนวณหาจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย (ต่อปี) ให้คำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายแต่ละคราวตามเกณฑ์ในมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใด ให้หักเป็นเงินภาษีนำส่งไว้เท่านั้น หากคำนวณแล้วไม่มีเงินภาษีที่ต้องเสียก็ไม่ต้องหัก ในปีเดียวกันนี้ถ้ามีการจ่ายเงินได้พึงประเมินให้ผู้รับรายเดียวกันนี้อีก ให้นำเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในครั้งแรกมารวมกับเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในครั้งที่สอง แล้วคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เช่นเดียวกับการคำนวณครั้งแรก หากคำนวณแล้วไม่มีภาษีที่ต้องเสียก็ไม่ต้องหัก ถ้าได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้นำเงินภาษีที่หักและนำส่งไว้แล้ว (ถ้ามี) มาเครดิตออก เหลือเท่าใดจึงหักเป็นเงินภาษีและนำส่งไว้เท่านั้น ถ้ามีการจ่ายเงินได้พึงประเมินในครั้งที่สามและครั้งต่อ ๆ ไป ก็ให้คำนวณตามวิธีดังกล่าวนี้ทุกครั้งไป

                        (7) กรณีนายจ้างออกเงินค่าภาษีแทนให้ลูกจ้างสำหรับเงินเดือนหรือค่าจ้าง ที่ลูกจ้างได้รับในปีใด โดยลูกจ้างไม่ต้องรับภาระในการเสียภาษีด้วยตนเองเลย ให้นำเงินค่าภาษีที่นายจ้างออกแทนให้ไปรวมกับเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในปีนั้น แล้วคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร จนกว่าจะไม่มีเงินค่าภาษีที่นายจ้างต้องออกแทนให้อีก

                        (8) กรณีนายจ้างออกเงินค่าภาษีแทนให้ลูกจ้าง สำหรับเงินเดือนหรือค่าจ้างเป็นจำนวนที่แน่นอน เช่น เท่ากับจำนวนภาษีที่จะต้องชำระ ให้นำเงินค่าภาษีที่นายจ้างออกแทนให้ไปรวมกับเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในปีนั้น แล้วคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48 (1)แห่งประมวลรัษฎากร

                ข้อ 2   การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในเดือนธันวาคมซึ่งเป็นเงินภาษีที่จะต้องหักไว้เป็นครั้งสุดท้ายในปีนั้น ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินมีสิทธิที่จะคำนวณภาษีเพื่อให้ยอดเงินภาษีที่หักเมื่อรวมแล้วเท่ากับจำนวนภาษีที่ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีทั้งสิ้น โดยนำจำนวนภาษีที่ได้หักและนำส่งไว้แล้วมาหักออกจากภาษีที่ต้องเสียทั้งสิ้น ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้หักและนำส่งไว้เท่านั้น เช่น

                        นาย ก. มีเงินได้พึงประเมินที่จะต้องเสียภาษีทั้งปีจำนวน 20,140 บาท ซึ่งจะต้องถูกหักภาษีไว้เดือนละ 1,678.33 บาท ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินได้หักภาษี (คำนวณตามข้อ 1) และนำส่งไว้เดือนละ 928.33 บาท เป็นเวลา 9 เดือน (มกราคม-กันยายน) และเดือนละ 4,315 บาท เป็นเวลา 2 เดือน (ตุลาคม-พฤศจิกายน) รวมเป็นเงินภาษีที่หักและนำส่งไว้แล้ว = (928.33 X 9) + (4,315 X 2) = 16,984.97 บาท เหลือภาษีที่จะต้องหักและนำส่งในเดือนธันวาคม = 20,140 – 16,984.97 = 3,155.03 บาท

                ข้อ 3   การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในเดือนสุดท้ายที่ผู้มีเงินได้ออกจากงานระหว่างปี ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินมีสิทธิที่จะคำนวณภาษี เพื่อให้เงินภาษีที่หักไว้ถูกต้องครบถ้วนตามรายการค่าลดหย่อนที่แท้จริงตามหลักฐานที่ผู้มีเงินได้นำมาแสดงโดยนำเงินภาษีที่หักไว้ไม่ครบถ้วนหรือเกินในเดือนก่อน ๆ มารวมหรือหักกับภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายไว้ครั้งสุดท้ายนั้นได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใด ให้หักและนำส่งไว้เท่านั้น เช่น

                        นาย ก. ถูกหักภาษีไว้เดือนละ 928.33 บาท (ตามรายการค่าลดหย่อนที่ได้แจ้งไว้ต่อผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน) เป็นเวลา 5 เดือน นาย ก. ลาออกจากงานในเดือนต่อมา เมื่อผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินคำนวณภาษี ตามรายการค่าลดหย่อนที่แท้จริงในเดือนสุดท้ายที่ออกจากงาน ได้ผลลัพธ์เป็นเงินภาษีที่ต้องหักเดือนละ 1,008.33 บาท ภาษีที่หักไว้ไม่ครบ = (1,008.33 – 928.33) X 5 = 400 จึงต้องหักภาษีและนำส่งในเดือนสุดท้ายนั้น = 1,008.33 + 400 = 1,408.33 บาท (กรณีถูกหักภาษีในแต่ละเดือนไว้ขาด) นาย ก. ถูกหักภาษีไว้เดือนละ 928.33 บาท (ตามรายการค่าลดหย่อนที่ได้แจ้งไว้ต่อผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน) เป็นเวลา 5 เดือน นาย ก. ลาออกจากงานในเดือนต่อมา เมื่อผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินคำนวณภาษี ตามรายการค่าลดหย่อนที่แท้จริงในเดือนสุดท้ายที่ออกจากงาน ได้ผลลัพธ์เป็นเงินภาษีที่ต้องหักเดือนละ 803.33 บาท ภาษีที่หักไว้เกิน = (928.33 – 803.33) X 5 = 625 จึงต้องหักภาษีและนำส่งในเดือนสุดท้ายนั้น = 803.33 – 625 = 178.33 บาท (กรณีถูกหักภาษีในแต่ละเดือนไว้เกิน)

                ข้อ 4   การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในเดือนอื่นนอกจากกรณีตามข้อ 2 และข้อ 3 ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินยังคงต้องคำนวณภาษีและหัก ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ตามที่กล่าวในข้อ 1

                ข้อ 5   บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้เป็นอันยกเลิก

สั่ง ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543

ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ

อธิบดีกรมสรรพากร

แบบแจ้งรายการเพื่อการหักลดหย่อน (แบบ ล.ย.01) >>

———————————————

ตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย

กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 96/2543

ตัวอย่างที่ 1  

กรณีจ่ายเงินได้พึงประเมินเป็นรายเดือน เดือนละเท่า ๆ กันตลอดปีภาษี ตามข้อ 1 (1) (2) (3)

ปีภาษี 2542 นาย ก. ได้รับเงินเดือน ๆ ละ 30,000 บาท นาย ก. ได้แจ้งสถานะการหักลดหย่อนไว้ดังนี้

ภรรยาไม่มีเงินได้ และบุตรกำลังศึกษา 2 คน

ต้องจ่ายเบี้ยประกันชีวิตในเดือนกรกฎาคม 2542 จำนวน 9,600 บาท และ ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมฯ ที่จะต้องจ่ายทั้งปี จำนวน 13,200 บาท

ผู้จ่ายเงินได้ ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแต่ละเดือน ดังนี้

วิธีคำนวณ

เงินเดือนเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี    =    30,000 x 12 =   360,000.-    บาท

หัก ค่าใช้จ่าย (40 % ไม่เกิน 60,000 บาท)                  =     60,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย                               =   300,000.-    บาท

หัก ค่าลดหย่อนส่วนตัว                 30,000.-    บาท

ค่าลดหย่อนคู่สมรส                        30,000.-    บาท

ค่าลดหย่อนบุตรศึกษา 2 คน          34,000.-    บาท

ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต              9,600.-    บาท

ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมฯ        10,000.-    บาท       =   113,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้สุทธิ                                                       =   186,400.-    บาท

ภาษีเงินได้ทั้งปี ((100,000 – 50,000) X 5%) + (86,400 X10%)      =     11,140.-      บาท

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแต่ละเดือน 11,140 หาร 12                                 =          928.33    บาท

เหลือเศษ                                                                                                =               0.003   บาท

จำนวนเงินที่เหลือเศษให้รวมกับเงินภาษี

ที่จะต้องหักไว้ครั้งสุดท้ายในเดือนธันวาคม = 928.33 + (0.003 x 12)                                  =          928.37 บาท

สรุป ผู้จ่ายเงินได้จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของ นาย ก. ในกรณีนี้ ดังนี้

เดือนมกราคม ถึง พฤศจิกายน เดือนละ                                                                               =          928.33 บาท

เดือนธันวาคม                                                                                        =          928.37 บาท

———————————————

ตัวอย่างที่ 2   

กรณีมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินได้พึงประเมินที่จ่ายระหว่างปีภาษี ตามข้อ 1 (4) และการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย เดือนธันวาคมตามข้อ 2

จากตัวอย่างที่ 1 ถ้านาย ก. ได้รับเงินเดือนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2542 เป็นเดือนละ 60,000 บาท ผู้จ่ายเงินได้ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้

วิธีคำนวณ

เงินเดือนเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี    =    60,000 x 12                         =   720,000.-    บาท

หัก ค่าใช้จ่าย (40 % ไม่เกิน 60,000 บาท)                                          =     60,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย                                                       =   660,000.-    บาท

หัก ค่าลดหย่อน (30,000 + 30,000 + 34,000 + 9,600 + 10,000   =   113,600.-    บาท

คงเหลือเงินได้สุทธิ                                                                               =   546,400.-    บาท

ภาษีเงินได้ทั้งปี ((100,000 – 50,000) X 5%) + (400,000 X10%) + (46,400 X 20%)

                                                                                                            =      51,780.-   บาท

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป 51,780 หาร 12       =        4,315.-   บาท

สำหรับในเดือนธันวาคม ให้ปรับปรุงการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้ :

ภาษีที่ต้องเสียทั้งปีจากเงินได้ที่ได้รับจริง (คำนวณจากเงินเดือน ๆ ละ 30,000 บาท 9 เดือน

และเดือนละ 60,000 บาท 3 เดือน)                                                        =      20,140.-   บาท

ภาษีเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งไว้แล้ว (ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนพฤศจิกายน)

= (928.33 X 9) + (4,315 X 2)                                                           =     16,984.97 บาท

เป็นภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ในเดือนธันวาคม = 20,140 – 16,984.97      =       3,155.03 บาท

สรุป ผู้จ่ายเงินได้จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของ นาย ก. ในกรณีนี้ ดังนี้

เดือนมกราคม ถึง กันยายน เดือนละ                                                      =          928.33 บาท

เดือนตุลาคม ถึง พฤศจิกายน เดือนละ                                                   =       4,315.-    บาท

เดือนธันวาคม                                                                                       =       3,155.03 บาท

———————————————

ตัวอย่างที่ 3

กรณีมีการจ่ายเงินพิเศษเป็นครั้งคราวในระหว่างปีภาษี ตามข้อ 1 (5)

จากตัวอย่างที่ 1 ถ้าในเดือนมีนาคม 2542 นาย ก. ได้รับเงินโบนัสอีก จำนวนหนึ่งเป็นเงิน 90,000 บาท ผู้จ่ายเงินได้จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เดือนมีนาคม 2542 ดังนี้

วิธีคำนวณ

เงินเดือนเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี    =    30,000 x 12                       =   360,000.-    บาท

บวก เงินโบนัส = 90,000 X 1                                                           =     90,000.-    บาท

รวมเงินได้พึงประเมิน                                                                         =   450,000.-    บาท

หัก ค่าใช้จ่าย (40 % ไม่เกิน 60,000 บาท)                                        =     60,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย                                                     =   390,000.-    บาท

หัก ค่าลดหย่อน (30,000 + 30,000 + 34,000 + 9,600 + 10,000 =   113,600.-    บาท

คงเหลือเงินได้สุทธิ                                                                             =   276,400.-    บาท

ภาษีเงินได้ทั้งปีของเงินเดือนรวมเงินโบนัส

((100,000 – 50,000) X 5%) + (176,400 X10%)                        =      20,140.-   บาท

หัก ภาษีเงินได้ทั้งปีเฉพาะเงินเดือน (ตามตัวอย่าง 1)                            =      11,140.-   บาท

คงเหลือภาษีเงินได้ของโบนัส                                                               =        9,000.-   บาท

บวก ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเงินเดือนของเดือนมีนาคม (ตามตัวอย่าง 1) =           928.33 บาท

รวม ภาษีต้องหัก ณ ที่จ่าย เดือนมีนาคม                                               =       9,928.33 บาท

สรุป ผู้จ่ายเงินได้จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของ นาย ก. ในกรณีนี้ ดังนี้

เดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ เดือนละ                                                =          928.33 บาท

เดือนมีนาคม                                                                                      =       9,928.33 บาท

เดือนเมษายน ถึง พฤศจิกายน เดือนละ                                               =          928.33 บาท

เดือนธันวาคม                                                                                     =          928.37 บาท

———————————————

ตัวอย่างที่ 4 

กรณีจำนวนคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินไม่สม่ำเสมอตลอดปีภาษี ตามข้อ 1(6)

จากตัวอย่างที่ 1 นาย ก. ได้รับเงินเดือนและได้รับเงินค่าล่วงเวลาตาม จำนวนวันที่ทำงาน

เดือนมกราคมได้รับค่าล่วงเวลา 6,500 บาท

เดือนกุมภาพันธ์ได้รับค่าล่วงเวลา 5,200 บาท

ผู้จ่ายเงินได้ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายดังนี้

วิธีคำนวณ

มกราคม

เงินเดือนเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี    =    30,000 x 12                       =   360,000.-    บาท

บวก ค่าล่วงเวลาเดือนมกราคม                                                            =       6,500.-    บาท

รวมเงินได้พึงประเมิน                                                                         =   366,500.-    บาท

หัก ค่าใช้จ่าย (40 % ไม่เกิน 60,000 บาท)                                        =     60,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย                                                     =   306,500.-    บาท

หัก ค่าลดหย่อน (30,000 + 30,000 + 34,000 + 9,600 + 10,000 =   113,600.-    บาท

คงเหลือเงินได้สุทธิ                                                                             =   192,900.-    บาท

ภาษีเงินได้ทั้งปีของเงินเดือนรวมค่าล่วงเวลา ((100,000 – 50,000) X 5%) + (92,900 X10%)

                                                                                                         =      11,790.-   บาท

หัก ภาษีเงินได้ทั้งปีเฉพาะเงินเดือน (ตามตัวอย่าง 1)                            =      11,140.-   บาท

คงเหลือภาษีเงินได้ของค่าล่วงเวลาเดือนมกราคม                                   =           650.-   บาท

บวก ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเงินเดือนของเดือนมกราคม                         =          928.33 บาท

รวมภาษีต้องหัก ณ ที่จ่ายเดือนมกราคม (650 + 928.33)                     =       1,578.33 บาท

กุมภาพันธ์

เงินเดือนเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี    =    30,000 x 12                        =   360,000.-    บาท

บวก ค่าล่วงเวลาเดือนมกราคม                                                             =       6,500.-    บาท

บวก ค่าล่วงเวลาเดือนกุมภาพันธ์                                                          =       5,200.-    บาท

รวมเงินได้พึงประเมิน                                                                         =   371,700.-    บาท

หัก ค่าใช้จ่าย (40 % ไม่เกิน 60,000 บาท)                                         =     60,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย                                                      =   311,700.-    บาท

หัก ค่าลดหย่อน (30,000 + 30,000 + 34,000 + 9,600 + 10,000)=   113,600.-    บาท

คงเหลือเงินได้สุทธิ                                                                              =   198,100.-    บาท

ภาษีเงินได้ทั้งปีของเงินเดือนรวมค่าล่วงเวลา ((100,000 – 50,000) X 5%) + (98,100 X10%)

                                                                                                          =      12,310.-   บาท

หัก ภาษีเงินได้ทั้งปีเฉพาะเงินเดือน (ตามตัวอย่าง 1)                             =      11,140.-   บาท

ภาษีเงินได้ของค่าล่วงเวลา                                                                    =        1,170.-   บาท

หัก ภาษีเงินได้ค่าล่วงเวลาเดือนมกราคม                                               =            650.-   บาท

คงเหลือภาษีเงินได้ค่าล่วงเวลาเดือนกุมภาพันธ์                                       =            520.-   บาท

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเงินเดือนของเดือนกุมภาพันธ์                               =           928.33 บาท

รวมภาษีต้องหัก ณ ที่จ่ายเดือนกุมภาพันธ์ (520 + 928.33)                    =       1,448.33 บาท

สรุป ผู้จ่ายเงินได้จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของ นาย ก. ในกรณีนี้ ดังนี้

เดือนมกราคม                                                                                      =       1,578.33 บาท

เดือนกุมภาพันธ์                                                                                   =       1,448.33 บาท

เดือนมีนาคม ถึง พฤศจิกายน เดือนละ                                                  =          928.33 บาท

เดือนธันวาคม                                                                                       =          928.37 บาท

———————————————

ตัวอย่างที่ 5  

กรณีนายจ้างออกเงินค่าภาษีเงินได้แทนให้ลูกจ้าง สำหรับเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในปีภาษี โดยลูกจ้างไม่ต้องรับภาระในการเสียภาษีเงินได้ด้วยตนเองเลย (ออกภาษีให้ตลอดไป) ตามข้อ 1 (7)

นายลิขิตมีเงินเดือน ๆ ละ 25,000 บาท มีภรรยาชอบด้วยกฎหมาย และบุตร กำลังศึกษา 1 คน บริษัทออกเงินภาษีให้ตลอดไป ผู้จ่ายเงินได้ ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้

วิธีคำนวณ

ครั้งที่ 1

เงินเดือนเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี    =    25,000 x 12                                   =   300,000.-    บาท

หัก ค่าใช้จ่าย (40 % ไม่เกิน 60,000 บาท)                                                    =     60,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย                                                                 =   240,000.-    บาท

หัก ค่าลดหย่อนส่วนตัว                                 30,000.-    บาท

ค่าลดหย่อนคู่สมรส                                       30,000.-    บาท

ค่าลดหย่อนบุตรศึกษา 1 คน                          17,000.-    บาท                         =   77,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้สุทธิ                                                                                          =  186,400.-    บาท

ภาษีที่คำนวณได้ครั้งที่ 1 ((100,000 – 50,000) X 5%) + (63,000 X10%) =       8,800.-    บาท

ครั้งที่ 2

เงินเดือนเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี    =    25,000 x 12                                   =   300,000.-    บาท

บวก ภาษีที่คำนวณได้ครั้งที่ 1                                                                        =        8,800.-    บาท

รวมเงินได้พึงประเมิน                                                                                     =   308,800.-    บาท

หัก ค่าใช้จ่าย (40 % ไม่เกิน 60,000 บาท)                                                    =     60,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย                                                                 =   248,800.-    บาท

หัก ค่าลดหย่อน (30,000 + 30,000 + 17,000)                                           =     77,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้สุทธิ                                                                                         =  171,800.-    บาท

ภาษีที่คำนวณได้ครั้งที่ 2 ((100,000 – 50,000) X 5%) + (71,800 X10%) =      9,680.-    บาท

ครั้งที่ 3

เงินเดือนเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี    =    25,000 x 12                                  =   300,000.-    บาท

บวก ภาษีที่คำนวณได้ครั้งที่ 2                                                                       =        9,680.-    บาท

รวมเงินได้พึงประเมิน                                                                                    =   309,680.-    บาท

หัก ค่าใช้จ่าย (40 % ไม่เกิน 60,000 บาท)                                                    =     60,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย                                                                 =   249,680.-    บาท

หัก ค่าลดหย่อน (30,000 + 30,000 + 17,000)                                           =     77,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้สุทธิ                                                                                         =  172,680.-    บาท

ภาษีที่คำนวณได้ครั้งที่ 3 ((100,000 – 50,000) X 5%) + (72,680 X10%)=       9,768.-    บาท

ครั้งที่ 4

เงินเดือนเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี    =    25,000 x 12                                  =   300,000.-    บาท

บวกภาษีที่คำนวณได้ครั้งที่ 3                                                                        =        9,768.-    บาท

รวมเงินได้พึงประเมิน                                                                                    =   309,768.-    บาท

หัก ค่าใช้จ่าย (40 % ไม่เกิน 60,000 บาท)                                                    =     60,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย                                                                =   249,768.-    บาท

หัก ค่าลดหย่อน (30,000 + 30,000 + 17,000)                                          =     77,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้สุทธิ                                                                                        =  172,768.-    บาท

ภาษีที่คำนวณได้ครั้งที่ 4 ((100,000 – 50,000) X 5%) + (72,768 X10%)=      9,776.80 บาท

ครั้งที่ 5

เงินเดือนเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี    =    25,000 x 12                                   =   300,000.-    บาท

บวก ภาษีที่คำนวณได้ครั้งที่ 4                                                                       =        9,776.80 บาท

รวมเงินได้พึงประเมิน                                                                                    =   309,776.80 บาท

หัก ค่าใช้จ่าย (40 % ไม่เกิน 60,000 บาท)                                                    =     60,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย                                                                 =   249,776.80 บาท

หัก ค่าลดหย่อน (30,000 + 30,000 + 17,000)                                           =     77,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้สุทธิ                                                                                         =  172,776.80 บาท

ภาษีที่คำนวณได้ครั้งที่ 5 ((100,000 – 50,000) X 5%) + (72,776.80 X10%)

                                                                                                                      =      9,777.68 บาท

ครั้งที่ 6

เงินเดือนเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี    =    25,000 x 12                                   =   300,000.-    บาท

บวก ภาษีที่คำนวณได้ครั้งที่ 5                                                                        =        9,777.68 บาท

รวมเงินได้พึงประเมิน=   309,777.68 บาท

หัก ค่าใช้จ่าย (40 % ไม่เกิน 60,000 บาท)                                                    =     60,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย                                                                 =   249,777.68 บาท

หัก ค่าลดหย่อน (30,000 + 30,000 + 17,000)                                           =     77,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้สุทธิ                                                                                         =  172,777.68 บาท

ภาษีที่คำนวณได้ครั้งที่ 6 ((100,000 – 50,000) X 5%) + (72,777.68 X 10%)

                                                                                                                     =      9,777.77 บาท

ครั้งที่ 7

เงินเดือนเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี    =    25,000 x 12                                  =   300,000.-    บาท

บวก ภาษีที่คำนวณได้ครั้งที่ 6                                                                       =        9,777.77 บาท

รวมเงินได้พึงประเมิน                                                                                    =   309,777.77 บาท

หัก ค่าใช้จ่าย (40 % ไม่เกิน 60,000 บาท)                                                   =     60,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย                                                                =   249,777.77 บาท

หัก ค่าลดหย่อน (30,000 + 30,000 + 17,000)                                          =     77,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้สุทธิ                                                                                        =  172,777.77 บาท

ภาษีที่คำนวณได้ครั้งที่ 7 ((100,000 – 50,000) X 5%) + (72,777.77 X 10%)

                                                                                                                     =      9,777.78 บาท

ครั้งที่ 8

เงินเดือนเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี    =    25,000 x 12                                  =   300,000.-    บาท

บวก ภาษีที่คำนวณได้ครั้งที่ 7                                                                       =        9,777.78 บาท

รวมเงินได้พึงประเมิน                                                                                    =   309,777.78 บาท

หัก ค่าใช้จ่าย (40 % ไม่เกิน 60,000 บาท)                                                   =     60,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย                                                                =   249,777.78 บาท

หัก ค่าลดหย่อน (30,000 + 30,000 + 17,000)                                          =     77,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้สุทธิ                                                                                        =  172,777.78 บาท

ภาษีที่คำนวณได้ครั้งที่ 8 ((100,000 – 50,000) X 5%) + (72,777.78 X 10%)         

                                                                                                                     =      9,777.78 บาท

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแต่ละเดือน 9,777.78 หาร 12                                     =         814.81 บาท

เหลือเศษ                                                                                                        =               .005 บาท

จำนวนเงินเหลือเศษให้รวมกับเงินภาษี

ที่จะต้องหักไว้ครั้งสุดท้ายในเดือนธันวาคม = 814.81 + (0.005 X 12 )          =        814.87 บาท

สรุป ผู้จ่ายเงินได้จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของ นายลิขิต ในกรณีนี้ ดังนี้

เดือนมกราคม ถึง พฤศจิกายน เดือนละ                                                         =        814.81 บาท

เดือนธันวาคม                                                                                                =       814.87 บาท

———————————————

ตัวอย่างที่ 6  

กรณีนายจ้างออกเงินค่าภาษีเงินได้แทนให้ลูกจ้าง สำหรับเงินเดือนหรือค่าจ้างเป็นจำนวนที่ แน่นอน (ออกภาษีให้ครั้งเดียว) ตามข้อ 1 (8) เช่น เท่ากับจำนวนภาษีเงินได้ที่จะต้องชำระ

จากตัวอย่างที่ 5 นายจ้างออกเงินค่าภาษีให้ครั้งเดียวเป็นจำนวนที่แน่นอน ผู้จ่ายเงินได้ ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้

วิธีคำนวณ

ครั้งที่ 1

เงินเดือนเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี    =    25,000 x 12                                  =   300,000.-    บาท

หัก ค่าใช้จ่าย (40 % ไม่เกิน 60,000 บาท)                                                   =     60,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย                                                                =   240,000.-    บาท

หัก ค่าลดหย่อน (30,000 + 30,000 + 17,000)                                           =   77,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้สุทธิ                                                                                         =  163,000.-    บาท

ภาษีที่คำนวณได้ครั้งที่ 1 ((100,000 – 50,000) X 5%) + (63,000 X10%) =      8,800.-    บาท

ครั้งที่ 2

เงินเดือนเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี    =    25,000 x 12                                   =   300,000.-    บาท

บวก ภาษีที่คำนวณได้ครั้งที่ 1                                                                        =        8,800.-    บาท

รวมเงินได้พึงประเมิน                                                                                     =   308,800.-    บาท

หัก ค่าใช้จ่าย (40 % ไม่เกิน 60,000 บาท)                                                    =     60,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย                                                                 =   248,800.-    บาท

หัก ค่าลดหย่อน (30,000 + 30,000 + 17,000)                                           =     77,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้สุทธิ                                                                                         =  171,800.-    บาท

ภาษีที่คำนวณได้ครั้งที่ 2 ((100,000 – 50,000) X 5%) + (71,800 X10%) =      9,680.-    บาท

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแต่ละเดือน 9,680 หาร 12                                            =         806.66 บาท

เหลือเศษ                                                                                                         =                .006 บาท

จำนวนเงินเหลือเศษให้รวมกับเงินภาษี

ที่จะต้องหักไว้ครั้งสุดท้ายในเดือนธันวาคม = 806.66 + (0.006 X 12 )           =         806.74 บาท

สรุป ผู้จ่ายเงินได้จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของ นายลิขิต ในกรณีนี้ ดังนี้

เดือนมกราคม ถึง พฤศจิกายน เดือนละ                                                         =          806.66 บาท

เดือนธันวาคม                                                                       =          806.74 บาท

———————————————

ตัวอย่างที่ 7  

การคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้ถูกต้องครบถ้วนตามหลักฐานการหักค่าลดหย่อนที่แท้จริงที่ผู้มีเงินได้นำมาแสดง กรณีผู้มีเงินได้ออกจากงานในระหว่างปีภาษี ตามข้อ 3

จากตัวอย่างที่ 1 นาย ก. ได้ลาออกจากงานวันที่ 30 มิถุนายน 2542 และไม่สามารถนำหลักฐานการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตจำนวน 9,600 บาท ที่แจ้งรายการขอหักลดหย่อนไว้ต่อผู้จ่ายเงินได้มาแสดงได้ แต่ได้นำใบเสร็จรับเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่จ่ายในแต่ละเดือนมาแสดงจำนวน 12,000 บาท ผู้จ่ายเงินได้ต้อง คำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเดือนมิถุนายน 2542 ดังนี้

วิธีคำนวณ

เงินเดือนเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี    =    30,000 x 12                                  =   360,000.-    บาท

หักค่าใช้จ่าย (40 % ไม่เกิน 60,000 บาท)                                                    =     60,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย                                                                =   300,000.-    บาท

หัก  ค่าลดหย่อนส่วนตัว                    30,000.-    บาท

ค่าลดหย่อนคู่สมรส                            30,000.-    บาท

ค่าลดหย่อนบุตรศึกษา 2 คน               34,000.-    บาท

ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมฯ             10,000.-    บาท                                  =   104,000.-    บาท

คงเหลือเงินได้สุทธิ                                                                                       =   196,000.-    บาท

ภาษีเงินได้ทั้งปี ((100,000 – 50,000) X 5%) + (96,000 X10%)            =     12,100.-    บาท

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแต่ละเดือน 12,100 หาร 12                                       =       1,008.33 บาท

ภาษีที่นำส่งไว้ขาดแต่ละเดือน (1,008.33 – 928.33)                                     =            80.-    บาท

จำนวนเดือนที่ส่งไว้ขาด คือ 5 เดือน (มกราคม – พฤษภาคม)

ภาษีที่ต้องนำส่งเดือนมิถุนายน 1,008.33 + (80.00 X 5)                              =       1,408.33

บาท

สรุป ผู้จ่ายเงินได้จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของ นาย ก. ในกรณีนี้ ดังนี้

เดือนมกราคม ถึง พฤศจิกายน เดือนละ                                                       =          928.33 บาท

เดือนธันวาคม                                                                                             =          928.37 บาท

ที่มา..คำสั่ง ป.96/2543

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.