หลักเกณฑ์การหักค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ พร้อมวิธีคำนวณ | รับทำเงินเดือน หลักเกณฑ์การหักค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ พร้อมวิธีคำนวณ | รับทำเงินเดือน

หลักเกณฑ์การหักค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ พร้อมวิธีคำนวณ

เลขที่ข่าว ปชส. 13/2554
วันที่แถลงข่าว 18 พฤศจิกายน 2553

เรื่อง หลักเกณฑ์การหักค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ พร้อมวิธีคำนวณ
………………………………………………………………………………….….
ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงการคลัง สนับสนุนการออมรูปแบบประกันชีวิตแบบบำนาญ ให้ประชาชนได้ออมไว้ใช้จ่ายภายหลังเกษียณอายุการทำงาน โดยเพิ่มเติมค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตที่มีอยู่แล้วตามปกติ อีก 200,000 บาท เฉพาะประกันชีวิตแบบบำนาญ ซึ่งวงเงินที่เพิ่มขึ้นนี้ ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และต้องไม่เกินยอดหักลดหย่อนในภาพรวม เมื่อผนวกกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ต้องไม่เกิน 500,000 บาทด้วย นั้น

หลักเกณฑ์ที่ผู้มีสิทธิหักลดหย่อน “ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ” ( เพิ่มเติมจากประกันชีวิตปกติที่หักได้ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) มีเงื่อนไขที่ควรตรวจสอบก่อนใช้สิทธิ ดังนี้

หลักเกณฑ์ตามคุณลักษณะพื้นฐานของประกันชีวิตแบบบำนาญ

  1. เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และผ่านการอนุมัติและรับรองจากสำนักงาน คปภ. ว่าเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่ใช้สิทธิหักลดหย่อนตามกฎหมายได้
  2. เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ทำสัญญาไว้กับบริษัทที่ประกอบกิจการในไทย
  3. ต้องไม่มีการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ในระหว่างปี หรือช่วงที่จ่ายเบี้ยประกัน หรือก่อนกรมธรรม์จะหมดอายุสัญญา
  4. ต้องเป็นแบบที่เมื่อผู้ทำประกันอายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปี จะได้รับเงินคืน (บำนาญ) เป็นรายงวดเท่าๆ กันอย่างสม่ำเสมอจนถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่า และได้รับเงินบำนาญคืนเมื่อได้ชำระเบี้ยประกันครบตามสัญญาแล้ว

การคำนวณเพื่อนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปใช้ลดหย่อนภาษี

กรณีตัวอย่าง นายภาษี มีเงินได้ทุกประเภทรวมทั้งปีเท่ากับ 3,400,000 บาท ได้ซื้อประกันชีวิตปกติของตนเองไว้รวมปีละ 60,000บาท ได้ซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญไว้ 300,000 บาท และซื้อหน่วยลงทุน RMF ไว้ ในปี เดียวกันถึง 360,000 บาท อยากทราบว่านายภาษี จะสามารถหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญได้
จำนวนเท่าไร

ขั้นตอนที่ 1  คำนวณยอดการใช้สิทธิหักไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ แล้วพักไว้เช่น มีเงินได้ทั้งปี 3,400,000 บาท ไม่เกินร้อยละ 15 มีเพดานสูงสุดเท่ากับ = 3,400,000 x 15% = ไม่เกิน 510,000 บาท

ขั้นตอนที่ 2 ตรวจสอบและดำเนินการใช้สิทธิ โดยนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปคำนวณตามลำดับขั้น ดังต่อไปนี้

     ลำดับขั้นที่ 1 นำไปใช้สิทธิหักร่วมกับประกันชีวิตปกติจนครบเพดานสูงสุดได้ไม่เกิน100,000 บาท การดำเนินการตามสิทธิเป็นดังนี้

  1. นายภาษีจ่ายค่าเบี้ยประกันปกติ 60,000 บาท
  2. คงเหลือสิทธิที่จะใช้กับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เท่ากับ 100,000 – 60,000 = 40,000 บาท ดังนั้น ใช้สิทธิหักเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญในลำดับขั้นที่ 1 ได้ เท่ากับ 40,000 บาท

     ลำดับขั้นที่ 2 นำไปหักตามสิทธิของค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ (สูงสุด 200,000 บาท แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้)

  1. นายภาษีซื้อประกันแบบบำนาญไว้ 300,000 บาท
  2. เมื่อเทียบวงเงินตามขั้นตอนที่ 1 พบว่าไม่เกิน 510,000 บาท จึงสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนได้ตามลำดับขั้นที่ 2 นี้เต็ม 200,000 บาท (เต็มเพดานสิทธิที่ให้หักได้ในลำดับนี้) ดังนั้น นายภาษีสามารถหักได้เต็ม 200,000 บาท นำไปพักไว้รอตรวจสอบตามลำดับขั้นที่ 3

     ลำดับขั้นที่ 3 นำยอดที่คำนวณได้ตามลำดับขั้นที่ 2 ไปตรวจสอบผลรวมตามเพดานสูงสุดเมื่อ นำไปรวมกับหน่วยลงทุน RMF ซึ่งหลังจากนำไปรวมกับหน่วยลงทุน RMF แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

  1. นายภาษีซื้อหน่วยลงทุน RMF รวม 360,000 บาท ในปีที่ใช้สิทธิ
  2. นำเงินเบี้ยประกันแบบบำนาญตามลำดับขั้นที่ 2 รวมกับหน่วยลงทุน RMF เพื่อตรวจสอบสิทธิการหักค่าลดหย่อนได้ ไม่เกิน 500,000 บาท = 200,000 + 360,000 = 560,000 บาท พบว่า เกินวงเงินที่สามารถหักได้รวม เท่ากับ 60,000 บาท (จาก 560,000 – 500,000)
  3. คำนวณสิทธิที่หักได้ตามลำดับขั้นที่ 2 ใหม่ เพื่อหาสิทธิที่ได้รับจริง โดยนำยอดที่คำนวณได้ตามลำดับขั้นที่ 2 (200,000 บาท) – ส่วนเกินวงเงินในลำดับขั้นที่ 3 (60,000 บาท) = 200,000 – 60,000 = มีสิทธิหักได้จริง 140,000 บาท

ดังนั้น นายภาษี สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญเท่ากับ 40,000 (ลำดับขั้นที่ 1) + 140,000 บาท รวมทั้งสิ้น 180,000 บาท ในปีนี้ ทั้งนี้ หากสิทธิหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตปกติ ได้มีการใช้สิทธิหักลดหย่อนเต็มเพดานไปก่อนแล้ว(ก่อนการหักเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ) ให้คำนวณเริ่มต้นจากขั้นตอนที่ 2 ลำดับขั้นที่ 2 ได้ทันที

นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า “ เนื่องจากเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญนั้น เป็นลูกผสมระหว่างการประกันชีวิตปกติกับการประกันความมั่นคงในการดำรงชีพเมื่อผู้ประกันตนใช้ชีวิตหลังเกษียณ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สิทธิลดหย่อนการประกันประเภทนี้เป็นส่วนหนึ่งกับการประกันชีวิตปกติ และมีลักษณะการทำงานที่เหมือนกับหน่วยลงทุน RMF ไปพร้อมกัน จึงทำให้สิทธิทางภาษีการประกันชีวิตรูปแบบดังกล่าว มีระบบการคำนวณที่ผนวกความเหมือนและแยกความต่างสำหรับใช้สิทธิแต่ละกรณี

การใช้สิทธิหักลดหย่อนเบี้ยประกันแบบบำนาญอย่างถูกต้อง ผู้มีสิทธิควรทำความเข้าใจในหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตลอดจนพิจารณารายละเอียดในกรมธรรม์ให้เป็ นไปตามที่กฎหมายกำหนดด้วยทุกครั้ง และจะมีผลบังคับใช้สำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี 2553 ที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีในปี พ.ศ. 2554 อย่างแน่นอน ”

****************************************
ที่มา.. กรมสรรพากร โทร. 0 2617 3320-21 โทรสาร 0 2617 3324 หรือ RD Call Center 1161

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.