SMEs เสียภาษีสรรพากรอย่างไร? | รับทำเงินเดือน SMEs เสียภาษีสรรพากรอย่างไร? | รับทำเงินเดือน

SMEs เสียภาษีสรรพากรอย่างไร?

ท่ามกลางกระแสของสังคมที่เรียกร้องต้องการแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียงใน ปัจจุบัน การประกอบกิจการในรูปแบบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ Small and Medium Enterprises (SMEs) นับว่าเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการทั่วไป หากย้อนกลับไปดูจะพบว่า SMEs เป็นกลุ่มพลังที่ใหญ่ที่สุดของภาคธุรกิจที่มีประมาณกว่าร้อยละ 85 ของรายที่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในปัจจุบัน นับว่ามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยเพราะเป็นกิจการที่สร้าง มูลค่าแก่ระบบเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ทั้งในแง่ของการสร้างงาน สร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างรายได้ในบทบาทที่หลากหลาย เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่ายสินค้าและผู้ให้บริการ เรื่องจากปกในสรรพากรสาส์นฉบับนี้ จึงนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร รวมทั้งสิทธิและประโยชน์ทางภาษีอากรที่ SMEs ได้รับตามประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญต่อการประกอบกิจการในรูปแบบของ SMEs ในประเทศไทย

    ลักษณะของ SMEs
กิจการ ที่จะเข้าลักษณะเป็น SMEs นั้น ความหมายที่เข้าใจกันโดยทั่วไปอาจอนุมานมาจากความหมายที่สำนักงานส่งเสริม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการสนับสนุน SMEs โดยเฉพาะ ในการนี้ สสว. ได้กำหนดลักษณะของ SMEs ที่อยู่ในความรับผิดชอบโดยแสดงเป็นตารางดังนี้1

จำนวน
ขนาดย่อม
ขนาดกลาง
 

จำนวน
(คน)

 สินทรัพย์ถาวร
(ล้านบาท)

จำนวน
(คน)

 สินทรัพย์ถาวร
(ล้านบาท)

กิจการการผลิต ไม่เกิน 50 ไม่เกิน 50 51-200 เกินกว่า 50 – 200
กิจการบริการ ไม่เกิน 50 ไม่เกิน 50 51-200 เกินกว่า 50 – 200
กิจการค้าส่ง ไม่เกิน 25 ไม่เกิน 50 26-50 เกินกว่า 50 – 100
กิจการค้าปลีก ไม่เกิน 15 ไม่เกิน 30 16-30 เกินกว่า 30-60

(ที่มา : กฎกระทรวง กำหนดจำนวนการจ้างงานและมูลค่าสินทรัพย์ถาวรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2545)

     ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า กิจการที่จะเข้าลักษณะเป็น SMEs สสว. พิจารณาจากมูลค่าของสินทรัพย์ถาวรในการประกอบกิจการ และจำนวน แรงงานที่ใช้ประกอบกัน โดยแยกตามประเภทการประกอบกิจการสูงสุดจะมีมูลค่าขั้นสูงของสินทรัพย์ถาวร สำหรับการประกอบกิจกรรมด้านการผลิตหรือการให้บริการไม่เกิน 200 ล้านบาทและมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน
     สำหรับ SMEs ในด้านภาษีอากรนั้น กรมสรรพากรมิได้ให้คำนิยามไว้ หากแต่เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรที่ให้สิทธิและประโยชน์แก่ ผู้ประกอบการกลางและขนาดย่อม จะพบว่าในประมวลรัษฎากรได้กล่าวถึงผู้ประกอบการที่จะได้สิทธิประโยชน์ทาง ภาษีอากร อันถือว่าเป็นการประกอบกิจการในลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไว้ดัง นี้

  1. พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 431) พ.ศ. 2548 บัญญัติให้ลดอัตราภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มี ทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาท
  2. พระ ราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 บัญญัติให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวม ที่ดินไม่เกินสองร้อยล้านบาทและมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราเร่งได้

     ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า SMEs ในทางภาษีอากรหมายถึงบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนที่ชำระแล้วใน วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท หรือจะมีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาทและมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คนก็ได้

     ภาระภาษี ตามประมวลรัษฎากร
     การประกอบกิจการของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs พบว่าจะมีทั้งในรูปแบบของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ภาระภาษีของการประกอบกิจการจึงต้องเกี่ยวข้องกับประเภทภาษีต่างๆ ดังนี้

      ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
     ประมวลรัษฎากรได้กำหนดหน่วยภาษีที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไว้จำนวน 4 หน่วย อันได้แก่ บุคคลธรรมดา ผู้ถึงแก่ความตายในระหว่างปีภาษี กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง และคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล ดังนั้น กรณี SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดาจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ด้วย ทั้งนี้ ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากรที่ได้บัญญัติว่า “ให้บุคคลทุกคน เว้นแต่ผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมา แล้วพร้อมทั้งข้อความอื่นๆ ภายในเดือนมีนาคมทุกๆ ปี…” โดยในการคำนวณภาษี ผู้ประกอบการ SMEs จะต้องคำนวณภาษีตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ กรณีการประกอบกิจการให้บริการ ผลิต ค้าปลีก หรือค้าส่ง ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร SMEs จะต้องนำเงินได้พึงประเมินที่ได้รับไป หักค่าใช้จ่ายตามที่กำหนด ในพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาตามอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือจะขอหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถหักค่าลดหย่อนต่างๆ ที่มีได้ตามมาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากรอีกด้วย
     เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว SMEs ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะต้องนำเงินได้สุทธิไปคำนวณภาษี เงินได้ในอัตราก้าวหน้า (Progressive Rate) ดังนี้
 

เงินได้สุทธิ
เงินได้แต่ละขั้นสุทธิ
อัตราภาษีร้อยละ
ภาษีแต่ละขั้นเงินได้

ภาษีเงินสะสม

0 – 150,000 150,000 ยกเว้น

150,001 – 500,000 350,000 10 35,000 35,000
500,001 – 1,000,000 500,000 20 100,000 135,000
1,000,001 – 4,000,000 3,000,000 30 900,000 1,035,000
4,000,001 บาทขึ้นไป

37

     อย่างไรก็ดี นอกจากการคำนวณภาษีเงินได้ ตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว SMEs ที่มีหน้าที่เสียภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาจะต้องเสียภาษีเงินได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5 ของยอดเงินได้พึงประเมินทั้งสิ้นที่ไม่หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ทั้งนี้ ตามมาตรา 48(2) โดยไม่คำนึงว่าในการประกอบกิจการในปีภาษีนั้นๆ จะมีผลกำไรหรือขาดทุนอย่างไร

     ภาษีเงินได้นิติบุคคล
     สำหรับ SMEs ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ โดยคำนวณหากำไรสุทธิที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการให้เป็นไปตามหลัก เกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในประมวลรัษฎากร กล่าวคือให้ใช้เกณฑ์สิทธิ์ในการคำนวณกำไรสุทธิ โดยนำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบ ระยะเวลาบัญชีนั้น และนำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้นแม้จะยังมิได้จ่ายในรอบระยะเวลา บัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น แล้วคำนวณกำไรสุทธิให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
     เมื่อคำนวณหากำไรสุทธิได้แล้ว SMEs ที่มีฐานะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ และยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 50 พร้อมชำระภาษี (ถ้ามี) ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลนั้นตั้งอยู่ในท้องที่ด้วย

     ภาษีมูลค่าเพิ่ม
     เนื่องจากการประกอบกิจการขายสินค้าหรือการให้บริการโดยผู้ประกอบการ และการนำเข้าสินค้าโดยผู้นำเข้า อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อ SMEs ประกอบกิจการให้บริการ ผลิต ค้าปลีก หรือค้าส่ง จึงมีหน้าที่ จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการ SMEs ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการตามประเภทที่บัญญัติไว้ในมาตรา 81 แห่งประมวลรัษฎากร ก็จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการประเภทนั้นๆ สำหรับผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่มีมูลค่าของฐานภาษีไม่เกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม กล่าวคือ มีรายรับไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร

 

สิทธิและประโยชน์ด้านภาษีอากร
     ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดา การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปัจจุบันยังมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคล ธรรมดาเหมือนกับบุคคลทั่วไป โดยมิได้รับสิทธิและประโยชน์ทางภาษีอากรที่พิเศษหรือแตกต่างไปแต่ประการใด แต่เฉพาะสำหรับ SMEs ที่มีฐานะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะได้รับสิทธิและประโยชน์ทาง ภาษีดังนี้

     1.ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดย่อม2 ที่ มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท จากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 15 สำหรับกำไรสุทธิ ไม่เกิน 1 ล้านบาท และ ร้อยละ 25 สำหรับกำไรสุทธิ 1-3 ล้านบาท สำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่เกินกว่า 3 ล้านบาทยังคงเสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 โดยผู้ประกอบการขนาดย่อม เฉพาะกรณีที่ผู้ประกอบการมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกิน 5 ล้านบาท จะได้รับการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนี้

กำไรสุทธิ (บาท)
อัตราภาษี (%)
1-1,000,000 15
1,000,001-3,000,000 25
3,000,0001 30

     หมายเหตุ : สำหรับกรณีมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีเกิน 5 ล้านบาท ขึ้นไป ยังคงต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 30 ตามปกติ

     2. บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท และจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน หักค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินประเภทคอมพิวเตอร์ อาคาร และเครื่องจักรในอัตราพิเศษ สำหรับทรัพย์สินที่ได้มาภายในหรือหลัง วันที่ 31 ม.ค. 45 ดังนี้3
       2.1 คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (ไม่รวมโปรแกรมคอมพิวเตอร์) ให้หักค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นร้อยละ 40 ในวันที่ได้ทรัพย์สินมา ส่วนที่เหลือให้ทยอยหักตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สามารถหักค่าเสื่อมได้ภายในเวลาไม่น้อยกว่า 3 รอบระยะเวลาบัญชี
       2.2 อาคาร โรงงาน ให้หักค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นร้อยละ 25 ในวันที่ได้ทรัพย์สินมา ส่วนที่เหลือให้ทยอยหักตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ อาคาร โรงงาน สามารถหักค่าเสื่อมได้ภายในเวลาไม่น้อยกว่า 20 รอบระยะเวลาบัญชี
       2.3 เครื่อง จักร และอุปกรณ์เครื่องจักร ให้หักค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นร้อยละ 40 ในวันที่ได้ทรัพย์สินมา ส่วนที่เหลือให้ทยอยหักตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ เครื่องจักรและอุปกรณ์เครื่องจักร สามารถหักค่าเสื่อมได้ภายในเวลาไม่น้อยกว่า 5 รอบระยะเวลาบัญชี

     3. ยกเว้นเงินปันผล หรือผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้นที่นิติบุคคลร่วมลงทุน (Venture Capital: VC)4 ได้ รับจากการถือหุ้นในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม: SMEs (สินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดิน ไม่เกิน 200 ล้านบาทและจ้างแรงงาน ไม่เกิน 200 คน) โดยมีเงื่อนไข ดังนี้5
       (1) นิติบุคคลร่วมลงทุน (VC) ต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยตามประกาศกระทรวงการคลังที่ประกอบธุรกิจเงิน ร่วมลงทุน โดยมีทุนจดทะเบียน ไม่น้อยกว่า  200  ล้านบาท  และมีการชำระค่าหุ้นครั้งแรกไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทุนจดทะเบียน และชำระค่าหุ้นที่เหลือทั้งหมดภายใน  3  ปีนับแต่วันจดทะเบียน (โดย VC สามารถลดทุนจดทะเบียนได้หากถือหุ้นใน SMEs ติดต่อกันนานกว่า 7 ปี)
       (2) ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ภายในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2551
       (3) VC ต้องมีสัดส่วนหุ้นใน SMEs ต่อทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ดังนี้
         – 20% สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีที่ 1 เว้นแต่มีเหตุอันสมควรและได้รับอนุญาตจากอธิบดี จะมีจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 20 ก็ได้
         – 40% สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีที่ 2
         – 60% สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีที่ 3
         – 80% สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีที่ 4
       (4) ต้องถือหุ้นใน SMEs อย่างน้อย   5 ปีติดต่อกัน เว้นแต่ SMEs นั้นจะสามารถเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีในรอบปีบัญชีต่อเนื่องกัน หรือ SMEs ที่ VC ถือหุ้นมีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกินสองร้อยล้านบาทและมีการจ้าง แรงงานไม่เกินสองร้อยคน จึงจะอนุโลมให้ถือหุ้นใน SMEs น้อยกว่า 5 ปี ก็ได้
       (5) ต้องมอบหมายให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการเงินร่วมลงทุนเป็นผู้จัดการ VC ใน SMEs

     4. ยกเว้นเงินปันผลและผลประโยชน์จากการโอนหุ้นที่ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือ นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจาก VC ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามข้อ 3.

สรุปสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

สิทธิประโยชน์
หลักเกณฑ์/เงื่อนไข
1. ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ  ผู้ประกอบการขนาดย่อม จากร้อยละ 30 เหลือ

  • ร้อยละ 15 สำหรับกำไรสุทธิไม่เกิน 1 ล้านบาท
  • ร้อย ละ 25 สำหรับกำไรสุทธิที่เกิน 1 ล้าน บาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท และสำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่เกินกว่า 3 ล้านบาทให้เสียภาษี ในอัตราร้อยละ 30
1. ต้องเป็นนิติบุคคลไทยที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท
2. ต้องเป็นกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2545 เป็นต้นไป

2. ให้ผู้ประกอบการการขนาดกลางขนาดย่อม (SMEs) หักค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินประเภทคอมพิวเตอร์ อาคาร และเครื่องจักรในอัตราพิเศษ ดังนี้

  • คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ (ไม่รวม โปรแกรม คอมพิวเตอร์) ให้หักค่าเสื่อมราคา เบื้องต้นร้อยละ 40 ในวันที่ได้ทรัพย์สินมา ส่วนที่เหลือให้ทยอยหักตามอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยสามารถหักค่าเสื่อมภายในเวลา ไม่น้อยกว่า 3 รอบระยะเวลาบัญชี
  • อาคาร โรงงาน ให้หักค่าเสื่อมราคา เบื้องต้นร้อยละ 25 ในวันที่ได้ทรัพย์สินมา ส่วนที่เหลือให้ทยอยหักตามอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยสามารถหักค่าเสื่อมภายในเวลา ไม่น้อยกว่า 20 รอบระยะเวลาบัญชี
  • เครื่อง จักร และอุปกรณ์เครื่องจักร ให้หักค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นร้อยละ 40 ในวันที่ได้ทรัพย์สินมา ส่วนที่เหลือให้ทยอยหักตามอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยสามารถหักค่าเสื่อมภายในเวลาไม่น้อยกว่า 5 รอบระยะเวลาบัญชี
1. ต้องเป็นนิติบุคคลไทย ที่มีสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดิน ไม่เกิน 200 ล้านบาท และจ้างแรงงาน ไม่เกิน 200 คน
2. ใช้สำหรับทรัพย์สินที่ได้มาภายในหรือหลังวันที่ 31 ม.ค. 45
3. ยกเว้นเงินปันผล หรือผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้นที่นิติบุคคลร่วมลงทุน (VC) ได้รับจากการถือหุ้นในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

1. วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ VC เข้าไปลงทุน หมายถึง นิติบุคคลไทย ที่มีสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท และจ้างแรงงาน ไม่เกิน 200 คน
2. บริษัทที่เป็น VC จะต้องเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งเป็นนิติบุคคลร่วมลงทุนตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยกำหนดกิจการ จัดการเงินร่วมลงทุนให้เป็นธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อประกอบกิจการธุรกิจเงินร่วมลงทุน และมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท โดยต้องมีการชำระค่าหุ้นครั้งแรกเป็นจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทุนจด ทะเบียน และชำระค่าหุ้นที่เหลือทั้งหมดภายในระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันจดทะเบียน สำหรับการลดทุนจดทะเบียนให้กระทำได้ เมื่อได้ถือหุ้นในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 7 ปีติดต่อกัน
3. ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ภายในวันที่ 31 มกราคม 2551
4. VC ต้องมีสัดส่วนหุ้นใน SMEs ต่อทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ดังนี้

  • 20% สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีที่ 1 เว้นแต่มีเหตุอันสมควรและได้รับอนุญาตจากอธิบดี จะมีจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 20 ก็ได้
  • 40% สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีที่ 2
  • 60% สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีที่ 3
  • 80% สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีที่ 4

5. ต้องถือหุ้นในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีในรอบปีบัญชีต่อเนื่องกัน เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้ จะมีระยะเวลาการถือหุ้นน้อยกว่า 5 ปีในรอบปีบัญชีต่อเนื่องกันก็ได้
(ก) เป็นการถือหุ้นในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี ในรอบปีบัญชีต่อเนื่องกัน หรือ
(ข) เป็นการถือหุ้นในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตลอดระยะเวลาที่วิสาหกิจนั้นมี สินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาทและมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน
6. ต้องมอบหมายให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการเงินร่วมลงทุนเป็น ผู้จัดการ VC ใน SMEs

4. ยกเว้นเงินปันผลและผลประโยชน์จากการโอนหุ้นที่ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือ นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจาก VC ที่ได้รับจากการยกเว้นภาษีตาม ข้อ 3. ผู้ถือหุ้นใน VC หากได้รับเงินปันผลหรือผลประโยชน์จากการโอนหุ้น จะได้รับการยกเว้นภาษีโดยไม่จำเป็นต้องกำหนดระยะเวลาในการถือครองหุ้นใน VC ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 3

 

บทสรุป
     จากภาพรวมภาระภาษีที่เกี่ยวข้องกับ กิจการ SMEs รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการ SMEs ที่มีฐานะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามประมวลรัษฎากร จะได้รับการสนับสนุน และส่งเสริมการประกอบกิจการด้านอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยเสียภาษีใน อัตราที่ต่ำกว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไป และยังได้รับสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราพิเศษ เป็นผลให้สามารถบันทึกรายจ่ายได้มากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ทั่วไป ทั้งนี้ ด้วยความมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถแข่งขันกับ ผู้ประกอบการรายใหญ่ต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ดี นอกจาก ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีฐานะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแล้ว ยังพบว่ามีผู้ประกอบการ SMEs ในรูปแบบบุคคลธรรมดาอยู่จำนวนไม่น้อย แต่ก็ยังมิได้มีมาตรการทางภาษีที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนเฉพาะเจาะจงแต่ประการ ใด ดังนั้น หากรัฐจะกำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุน SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดาให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ก็น่าจะเป็นการพัฒนาธุรกิจรากหญ้าของประเทศไทยให้แข็งแรงมากขึ้น อันอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กลุ่ม รากแก้วเข้มแข็งตามไปด้วยได้ แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ SMEs ในรูปแบบใด การศึกษาข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะกฎหมายภาษีอากร ก็จะช่วยให้การประกอบกิจการราบรื่นและเติบโตไปได้ตามเป้าหมาย ซึ่งนอกเหนือจากหลักการสำคัญ ที่นำเสนอผ่านทางบทความนี้แล้ว ก็ขอให้ศึกษาแนวคำวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องท้ายบทสำหรับประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจควบคู่กันไปด้วย

ที่มา..สรรพากรสาส์น

Comments

  1. ไม่มีไรจ่ะพิมพ์

    อิอิ

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.