ชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำ | รับทำเงินเดือน ชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำ | รับทำเงินเดือน

ชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำ

ประกาศกรมทะเบียนการค้า
เรื่อง กำหนดชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำ ข้อความและรายการ
ที่ต้องมีในบัญชี ระยะเวลาที่ต้องลงรายการในบัญชี
และเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี
พ.ศ. ๒๕๔๔


          อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ (๑) (๒) (๓) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๓ อธิบดีกรมทะเบียนการค้าออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมทะเบียนการค้า เรื่อง กำหนดชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำข้อความและรายการที่ต้องมีในบัญชี ระยะเวลาที่ต้องลงรายการในบัญชี และเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๔”

ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

หมวด ๑
ชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำ

ข้อ ๓ ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีที่เป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย และกิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากรต้องจัดทำบัญชีดังต่อไปนี้ โดยต้องจัดทำให้ครบถ้วนถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชี
             (๑) บัญชีรายวัน
                  (ก) บัญชีเงินสด
                  (ข) บัญชีธนาคาร แยกเป็นแต่ละเลขที่บัญชีธนาคาร
                  (ค) บัญชีรายวันซื้อ
                  (ง) บัญชีรายวันขาย
                  (จ) บัญชีรายวันทั่วไป
             (๒) บัญชีแยกประเภท
                  (ก) บัญชีแยกประเภทสินทรัพย์ หนี้สินและทุน
                  (ข) บัญชีแยกประเภทรายได้และค่าใช้จ่าย
                  (ค) บัญชีแยกประเภทลูกหนี้
                  (ง) บัญชีแยกประเภทเจ้าหนี้
             (๓) บัญชีสินค้า
             (๔) บัญชีรายวัน บัญชีแยกประเภทอื่น และบัญชีแยกประเภทย่อยตามความจำเป็นแก่การทำบัญชีของธุรกิจ

หมวด ๒
ข้อความและรายการที่ต้องมีในบัญชี

ข้อ ๔ ปกด้านหน้าของสมุดบัญชี หรือแผ่นหน้าของบัญชีกรณีที่บัญชีเป็นแผ่น ต้องมีข้อความดังต่อไปนี้
             (๑) ชื่อของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีไม่ใช่นิติบุคคลจะใช้ชื่อทางการค้าก็ได้
             (๒) ชนิดของบัญชี
             (๓) ลำดับเล่มบัญชีแต่ละชนิดให้ใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิค ถ้าบัญชีแต่ละชนิดมีมากกว่าหนึ่งเล่ม ต้องเรียงลำดับเล่มต่อเนื่องกัน

ข้อ ๕ บัญชีรายวัน บัญชีแยกประเภท และบัญชีสินค้า ต้องมีข้อความและรายการในบัญชี ดังต่อไปนี้
             (๑) ชื่อบัญชี วัน เดือน ปี เลขที่ของเอกสารประกอบการลงบัญชีหรือหน้าบัญชีหรือรหัสที่อ้างอิง รายการบัญชี และจำนวนเงิน
             (๒) หน้าบัญชีต้องมีตัวเลขไทยหรืออารบิคเรียงลำดับทุกหน้า
             (๓) รายการในบัญชีที่เป็นจำนวนเงินต้องเป็นหน่วยเงินตราไทย

ข้อ ๖ บัญชีแต่ละชนิดดังต่อไปนี้ นอกจากต้องมีรายการตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๕ แล้ว ต้องมีรายการต่อไปนี้ด้วย
             (๑) บัญชีเงินสด หรือบัญชีธนาคาร ให้มีรายละเอียดการได้มาหรือจ่ายไปซึ่งเงินสด เงินในธนาคาร แต่ถ้ามีรายละเอียดดังกล่าวในเอกสารประกอบการลงบัญชีหรือบัญชีรายวันชนิด หนึ่งชนิดใดแล้วจะลงรายการรับหรือจ่ายเงินประเภทเดียวกันเป็นยอดรวมก็ได้
             (๒) บัญชีรายวันซื้อหรือบัญชีรายวันขาย ให้มีรายละเอียด ชนิด ประเภท จำนวน และราคาของสินค้าหรือบริการที่ซื้อขาย แต่ถ้ามีรายละเอียดดังกล่าวในเอกสารประกอบการลงบัญชีหรือทะเบียนใดแล้ว จะลงรายการซื้อหรือขายสินค้าหรือบริการนั้นเป็นยอดรวมก็ได้
             (๓) บัญชีรายวันทั่วไป ให้มีคำอธิบายรายการบัญชี
             (๔) บัญชีแยกประเภทสินทรัพย์ หนี้สินและทุน ให้มีรายละเอียดการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของสินทรัพย์ หนี้สินและทุน โดยให้อ้างชนิดของบัญชีและหน้าบัญชีหรือรหัสที่อ้างอิงด้วย
             (๕) บัญชีแยกประเภทรายได้และค่าใช้จ่าย ให้มีรายละเอียดที่มาแห่งรายได้หรือค่าใช้จ่าย โดยให้อ้างชนิดของบัญชีและหน้าบัญชีหรือรหัสที่อ้างอิงด้วย
             (๖) บัญชีแยกประเภทลูกหนี้หรือบัญชีแยกประเภทเจ้าหนี้ ให้มีชื่อลูกหนี้หรือเจ้าหนี้การแสดงรายการบัญชีให้มีรายละเอียดการก่อหนี้หรือระงับหนี้ การลงรายการดังกล่าวให้อ้างชนิดของบัญชีและหน้าบัญชีหรือรหัสที่อ้างอิงด้วย
             (๗) บัญชีสินค้า ให้มีชื่อ ชนิด จำนวน หน่วยนับ รายละเอียดการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินค้า และจำนวนสินค้านั้น

หมวด ๓
ระยะเวลาที่ต้องลงรายการในบัญชี

ข้อ ๗ กำหนดระยะเวลาที่ต้องลงรายการในบัญชีให้แล้วเสร็จไว้ ดังต่อไปนี้
             (๑) บัญชีรายวัน ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รายการนั้นเกิดขึ้น
             (๒) บัญชีแยกประเภท ต้องผ่านรายการจากบัญชีรายวันภายในสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่รายการนั้นเกิดขึ้น
             (๓) บัญชีสินค้า ภายในสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่รายการนั้นเกิดขึ้น
          ในกรณีที่เป็นบัญชีตาม (๒) และ (๓) ซึ่งต้องมีการลงรายการยอดคงเหลือต้องลงรายการยอดคงเหลือให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันปิดบัญชี

หมวด ๔
เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี

ข้อ ๘ เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี ได้แก่ บันทึก หนังสือ หรือเอกสารใดๆ ที่ใช้เป็นหลักฐานในการลงรายการในบัญชี ซึ่งแยกได้เป็น ๓ ประเภท คือ
             (๑) เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีที่จัดทำขึ้นโดยบุคคลภายนอก
             (๒) เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีที่จัดทำขึ้นโดยผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีเพื่อออกให้แก่บุคคลภายนอก
             (๓) เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีที่จัดทำขึ้นโดยผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีเพื่อใช้ในกิจการของตนเอง

ข้อ ๙ เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีตามข้อ ๘ ทุกประเภทต้องมีรายการดังต่อไปนี้ และมีรายการตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ (๑) หรือ (๒) หรือข้อ ๑๑ ตามแต่ประเภทของเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีด้วย
             (๑) ชื่อของผู้จัดทำเอกสารซึ่งอาจใช้ชื่อที่ใช้ในการประกอบธุรกิจของผู้จัดทำเอกสารก็ได้
             (๒) ชื่อของเอกสาร
             (๓) เลขที่ของเอกสาร และเล่มที่ (ถ้ามี)
             (๔) วัน เดือน ปี ที่ออกเอกสาร
             (๕) จำนวนเงินรวม

ข้อ ๑๐ ถ้าเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีเป็นเอกสารตามข้อ ๘ (๒) ต้องมีรายการตามที่กำหนดไว้ใน (๑) หรือ (๒) ด้วยแล้วแต่กรณี คือ
               (๑) ในกรณีที่เป็นเอกสารเพื่อเป็นหลักฐานในการรับเงิน รับฝากเงิน รับชำระเงินหรือตั๋วเงินต้องมีรายการต่อไปนี้
                     (ก) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของกิจการที่จัดทำเอกสาร
                     (ข) สถานที่ตั้งของกิจการที่จัดทำเอกสาร
                     (ค) รายละเอียดเกี่ยวกับการรับเงินหรือตั๋วเงิน
                     (ง) ชื่อ ชนิด จำนวน หน่วยนับ ราคาต่อหน่วย และราคารวมของสินค้าหรือบริการแต่ละรายการ เว้นแต่ได้ระบุรายละเอียดดังกล่าวไว้ในเอกสารตาม (๒) (ค) แล้ว
                     (จ) ลายมือชื่อของผู้รับเงินหรือตั๋วเงิน เว้นแต่เป็นเอกสารที่จัดทำและส่งมอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องมืออื่นใดที่ได้ผลในทำนองเดียวกัน
               (๒) ในกรณีที่เป็นเอกสารเพื่อเป็นหลักฐานในการจำหน่าย จ่ายโอน ส่งมอบสินค้าหรือบริการโดยยังมิได้มีการชำระเงินหรือตั๋วเงินต้องมีรายการ ต่อไปนี้
                     (ก) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของกิจการที่จัดทำเอกสาร
                     (ข) สถานที่ตั้งของกิจการที่จัดทำเอกสาร
                     (ค) ชื่อ ชนิด จำนวน หน่วยนับ ราคาต่อหน่วย และราคารวมของสินค้าหรือบริการแต่ละรายการ
                     (ง) ชื่อหรือชื่อที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ และที่อยู่ของผู้ซื้อหรือผู้รับสินค้าหรือผู้รับบริการ
                     (จ) ลายมือชื่อผู้จัดทำเอกสาร
                     (ฉ) ลายมือชื่อผู้รับสินค้าหรือผู้รับบริการ

ข้อ ๑๑ ถ้าเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีเป็นเอกสารตามข้อ ๘ (๓) ต้องมีรายการต่อไปนี้ด้วย คือ
               (๑) คำอธิบายรายการ
               (๒) วิธีการและการคำนวณต่างๆ (ถ้ามี)
               (๓) ลายมือชื่อของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี หรือผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อนุมัติรายการ

ข้อ ๑๒ เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีที่จัดทำขึ้นโดยผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี เพื่อออกให้แก่บุคคลภายนอกต้องมีสำเนาเก็บไว้อย่างน้อย ๑ ฉบับ

ข้อ ๑๓ การลงรายการในบัญชีรายวันและบัญชีสินค้าต้อง
               (๑) มีเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีทุกรายการและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการ ลงบัญชีนั้นต้องสามารถแสดงความถูกต้องครบถ้วนของรายการบัญชีตามความเป็นจริง และเป็นที่เชื่อถือได้
               (๒) ใช้เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีตามข้อ ๘ ในลำดับ (๑) หรือ (๒) แล้วแต่กรณีก่อนเว้นแต่ไม่มีเอกสารดังกล่าวจึงให้ใช้เอกสารในลำดับ (๓)

ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๔
อดุลย์ วินัยแพทย์
อธิบดีกรมทะเบียนการค้า

ที่มา..กระทรวงพาณิชย์

Comments

  1. อยากทราบเลขที่เสียภาษีรายได้ของตัวเองต้องดูจากที่ไหน

  2. ศิริพร says:

    ขอบคุณมากค่ะ

  3. อธิบายตามวิธีมาตรฐานนะครับ
    ปกติ ใบส่งของ/ใบกำกับภาษี ทางแผนกบัญชีต้องได้รับเอกสาร 3 ใบ
    – ใบที่ 1 ต้นฉบับใบกำกับภาษี เก็บไว้ในแฟ้มใบกำกับภาษีซื้อ
    – ใบที่ 2 สำเนา เก็บในแฟ้ม สมุดรายวันซื้อ พร้อมใบสำคัญซื้อ
    – ใบที่ 3 สำเนา เก็บในแฟ้ม รอจ่าย เมื่อ Supplier วางบิล เราจะเอาสำเนาใบที่ 3 แนบ เพื่อทำใบสำคัญจ่าย และเอกสารใบที่ 3 นี้จะแนบอยู่กับใบสำคัญจ่ายเลย

    แต่โดยปกติ ส่วนใหญ่ผมจะได้รับเอกสารเพียง 2 ใบ เท่านั้นคือ ต้นฉบับ กับ สำเนา ซึ่งผ่านระบบมาจากสโตร์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ตรวจสอบการรับพร้อมเซ็นชื่อและประทับตราในสำเนามาแล้ว และส่งทั้งต้นฉบับกับสำเนามาให้แผนกบัญชีพร้อมรายงานการรับ ทางบัญชีจะเป็นผู้แยกเอกสาร ต้นฉบับใบกำกับภาษี และประทับคำว่า “เอกสารจัดเก็บแล้ว พร้อมเลขที่” และผมจะบันทึกบัญชีจากเอกสารต้นฉบับใบกำกับภาษีใบนี้ (บัญชีซื้อ) ส่วนสำเนาเก็บไว้ตรวจสอบเมื่อ Supplier วางบิล พร้อมแนบในใบสำคัญจ่าย

  4. ศิริพร says:

    อยากทราบว่า รายวันซื้อ เมื่อเราดึงมาชำระเงินเรียบร้อยแล้ว จำเป็นต้องแยกออกจากใบสำคัญจ่าย หรือไม่ หลังจากชำระเงินให้supplier เรียบร้อยแล้ว
    เพื่อเก็บเอกสารเป็น เล่มตามสมุดรายวัน หรือสามารถเก็บรวมกันกับ ใบสำคัญจ่ายได้เลยค่ะ

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.