ค่ารับรอง หลักเกณฑ์และตัวอย่างประกอบ | รับทำเงินเดือน ค่ารับรอง หลักเกณฑ์และตัวอย่างประกอบ | รับทำเงินเดือน

ค่ารับรอง หลักเกณฑ์และตัวอย่างประกอบ

ค่ารับรอง กิจการสามารถนำค่ารับรองมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้ โดยบันทึกรวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ค่ารับรองเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถขอคืนภาษีซื้อได้

ลองมาดูหลักเกณฑ์ค่ารับรองตามกฎกระทรวงมาตรา 143 กันนะครับ

  1. เป็นค่ารับรองตามธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจทั่วไป ต้องเป็นการรับรองบุคคลอื่น (ลูกค้า) ไม่ใช่พนักงานของบริษัท เว้นแต่พนักงานบริษัทต้องเข้าร่วมในการรับรองนั้น
  2. กรณีให้เป็นสิ่งของต้องไม่เกินคนละ 2,000 บาทในแต่ละคราวที่มีการรับรองหรือการบริการ (2,000 บาท/คน/ครั้ง)
  3. จำนวนเงินค่ารับรอง ให้นำมาหักเป็นรายจ่ายได้เท่ากับจำนวนที่จ่าย แต่รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 0.3 ของจำนวนเงินโดยคำนวณจาก
    – ยอดรายได้ทั้งปี หรือ ยอดขายที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายใดในรอบระยะเวลาบัญชี
    – ทุนจดทะเบียนที่ได้รับชำระแล้วถึงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
    โดยบริษัทสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ตัวเลขจากยอดใด ซึ่งแล้วแต่ว่าจำนวนใดจะมากกว่า แต่ทั้งนี้กฎหมายกำหนดให้หักได้สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท
  4. ค่ารับรอง ต้องมีกรรมการ หรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้จัดการ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าวเป็นผู้อนุมัติหรือสั่งจ่ายค่ารับรอง หรือค่าบริการนั้นด้วย
  5. ต้องมีหลักฐานการจ่าย ใบเสร็จรับเงิน

นอกจากนี้ควรมีข้อมูลประกอบการเบิกค่ารับรองเพิ่มเติมคือ

  1. ต้องระบุบุคคลที่ได้รับการรับรองได้ เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อไว้ในใบเบิกจ่ายเงิน หรือใบสำคัญจ่าย
  2. ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าบุคคลที่ได้รับการรับรอง เกี่ยวข้องกับกิจการหรือเอื้อประโยชน์ต่อกิจการอย่างไร เช่น เป็นลูกค้า

ค่ารับรองที่ถือเป็นรายจ่ายได้ ตัวอย่างเช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร เครื่องดื่ม ดูมหรสพ การกีฬา การให้กระเช้าของขวัญในเทศกาลปีใหม่กับลูกค้า เป็นต้น

ค่ารับรองที่ไม่สามารถบันทึกรายจ่ายได้ ตัวอย่างเช่น ซื้อบัตรการกุศล ค่าของขวัญและดอกไม้วันเกิด ค่าสมาชิกกอล์ฟ ค่าช่วยงานต่าง ๆ เช่น งานศพ งานแต่งงานให้ลูกค้า เป็นต้น ถือเป็นรายจ่ายส่วนตัว หรือการให้โดยเสน่หาเพื่อประโยชน์ทางสังคมของผู้มีอำนาจจ่ายเงิน

ค่ารับรองที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวข้างต้น จะถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม ซึ่งต้องบวกกลับตอนคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตอนสิ้นปี

ตัวอย่างที่สรรพากรตอบไว้นะครับ

เลขที่: : 404928

เรื่อง: : พาลูกค้าไปเล่นกอล์ฟถือเป็นค่ารับรอง

คำถาม: : บริษัทพาลูกค้าไปเล่นกอล์ฟจะถือเป็นค่ารับรองได้หรือไม่

คำตอบ: : ได้ แต่ไม่เกินคนละ 2,000 บาท เนื่องจากเป็นการรับรองลูกค้าอันจำเป็นตามประเพณีทางธุรกิจทั่วไป ไม่ต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี(4) แห่งประมวลรัษฎากร และ กฎกระทรวง ฉบับที่ 143 (พ.ศ.2522)

เลขที่: : 401490

เรื่อง: : รายจ่ายต้องห้าม กรณีค่าซื้อบัตรการกุศล ค่าซื้อของขวัญวันเกิด และค่าช่วยงาน

คำถาม: : บริษัท มีรายจ่ายค่าซื้อบัตรการกุศล ค่าของขวัญและดอกไม้วันเกิด ค่าสมาชิกกอล์ฟ และค่าช่วยงานต่าง ๆ เช่น งานศพ งานแต่งงานให้ลูกค้า ซึ่งเป็นไปตามประเพณีนิยมในการดำเนินกิจการค้าขายโดยทั่วไปต้องมีค่าเลี้ยง ดู ค่ารับรองแขกในรูปต่าง ๆ รายจ่ายดังกล่าวถือเป็นรายจ่ายใ

คำตอบ: : รายจ่ายดังกล่าว ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวหรือการให้โดยเสน่หาเพื่อประโยชน์ ทางสังคมของผู้มีอำนาจจ่ายเงิน มิใช่รายจ่ายเพื่อหารายได้ในการดำเนินธุรกิจ จึงต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี(3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร (คำพิพากษาฎีกาที่ 7124/2545 และ 3661/2545)

เลขที่: : 405580

เรื่อง: : จ่ายช่วยค่าของรางวัลในการจัดกีฬาสีของบริษัทลูกค้า

คำถาม: : บริษัทได้จ่ายช่วยค่าของรางวัลในการจัดกีฬาสีของบริษัทลูกค้าจะถือเป็นค่าส่งเสริมการขายหรือค่ารับรองได้หรือไม่

คำตอบ: : ไม่ถือเป็นค่าส่งเสริมการขายและค่ารับรอง แต่เป็นการให้โดยเสน่หาต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี(3) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งถ้าจะเป็นค่ารับรองต้องเข้าเงื่อนไข ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 143 (พ.ศ.2522)

เลขที่: : 408405

เรื่อง: : ซื้อกระเช้าของขวัญปีใหม่ให้ลูกค้าเข้าลักษณะเป็นค่ารับรองถือเป็นรายจ่ายได้

คำถาม: : ซื้อกระเช้าของขวัญปีใหม่ให้ลูกค้าถือเป็นรายจ่ายได้หรือไม่

คำตอบ: : รายจ่ายค่ากระเช้าของขวัญที่ซื้อมาแจกหรือให้เป็นของขวัญแก่ลูกค้าเนื่องใน พิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี  เข้าลักษณะเป็นค่ารับรอง ดังนั้น จึงถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 143 (พ.ศ.2522) แก้ไขเพิ่มเติมโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 222 (พ.ศ.2542)

อ้างอิง กฎกระทรวง ฉบับที่ 143 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้

Comments

  1. ตอบคุณเบญจมาศ
    สามารถบันทึกเป็นค่ารับรองได้ครับ

  2. สอบถามหน่อยค่ะ ว่า ค่าอาหารและค่าของฝาก สำหรับเลี้ยงวิทยากรที่มาอบรมหลักสูตรต่างๆให้พนักงานของบริษัทนั้น สามารถลงเป็นค่ารับรองได้หรือไม่คะ

  3. ตอบคุณวาสนา

    วิธีคำนวณค่ารับรอง
    50 ล้าน x 80% x 0.3% หรือ 30 x 0.3% ดูว่าอันไหนได้มากกว่าก็ใช้อันนั้น
    แล้วไปเทียบกับค่ารับรองที่เกิดขึ้นจริง ถ้าไม่เกินก็ใช้ได้เลย ถ้าเกินก็ให้ใช้ผลคำนวณค่ารับรอง

  4. สอบถามค่ะ เรามีทุนจุดทะเบียน 50 ล้านบาทเรียกชำระค่าห้นแล้วร้อยละ 80 ของทุนจดทะเบียน รายได้ 30 ล้าน ค่ารับรอง 150000 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว คำนวณค่ารับรองอย่างไรค่ะ เราจะนำรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพิื่อเสียภาษีได้หรือไมค่ะ

  5. สวัสดีค่ะ

  6. ตอบคุณนุ๊ก

    สามารถเบิกคืนกรรมการได้ ไม่ถือเป็นรายได้บริษัทครับ

  7. ถ้าลูกค้าโอนเงินช่วยงานศพแม่ของกรรมการเข้าบัญชีบริษัทฯ จะถือเป็นรายได้ของบริษัทฯไหม หรือจะถอนเงินออกมาได้เลยไหมคะ ช่วยตอบให้ด้วยขอบคุณค่ะ

  8. บริษัทได้ซื้อรถยนต์นั่งมาเมื่อปี49 และครบสัญญาเช่าซื้้อ(hirperchas)เดือนกันยายน2554 นี้โดยเบื้องต้นได้สอบถามราคากับทางlising ได้ราคา ประมาณ 630,000 บาท ราคารถยนต์1,200,000 บาท ค่าเสื่อมราคาสะสม 1,199,999 บาทอยากทราบว่าจะบันทึกบัญชีอย่างไร แล้วทางภาษีจะต้องบวกกลับเท่าไรพร้อมวิธีการ

  9. ได้ครับ ขอให้เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย

  10. มีการซื้อของขวัญปีใหม่ให้ลุกค้าแต่ไม่ได้เป็นกระเช้าจะลงเป็นค่ารับรองได้ไหมค่ะ

  11. ผมเองก็มีเว็บไซต์นะครับ
    ถ้าเป็นใบอนุญาตสำหรับเว็บไซต์ไม่มีนะครับรวมถึงเงินการันตีด้วย

    แต่อาจต้องมีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเลคโทรนิกส์ สำหรับเว็บไซต์ที่มีการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านเว็บ

  12. สวัสดีค่ะ คุณเกียรติชัย

    มินตรา มีเรื่องอยากรบกวนค่ะ ตอนนี้มีชื่อ website สำหรับกอล์ฟเป็นนายหน้าสำหรับ booking tee time ของสนามกอล์ฟ ในการที่เราจะทำเว๊บไซส์เราจำเป็นต้องมีใบอนุญาติ หรือมีเงินการันตีในบริษัทหรื่อเปล่าค่ะ

    ขอบคุณค่ะ

    มินตรา ภูเก็ต 081.539.3351

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.