กรกฎาคม, 2012 | รับทำเงินเดือน กรกฎาคม, 2012 | รับทำเงินเดือน

สรรพากรจ้องฟัน2หมื่น"คณะบุคคล"เลี่ยงภาษี

นับเป็นอีกข่าวในรอบสัปดาห์นี้ ที่ผู้คนในแวดวงธุรกิจทุกประเภท รวมแม้กระทั่งกลุ่มแพทย์ และกลุ่มดารากำลังจ้องติดตามความเคลื่อนไหวข่าวนี้อย่างใกล้ชิด

หลังจาก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีนโยบายสั่งการให้กรมสรรพากร"ยกเลิก"การจัดเก็บภาษีในรูปแบบของ"คณะบุคคล" เพื่อแก้ปัญหาการ"เลี่ยงภาษี"ของผู้มีรายได้มากมายหลายทาง

เนื่องจากกรมสรรพากรตรวจสอบพบความผิดปกติในการจัดตั้ง"คณะบุคคล"มาก เช่น กลุ่มแพทย์ ตั้งคณะบุคคลร่วมกับคนขับรถ ทำธุรกิจซื้อมาขายไป กลุ่มดารา กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง เป็นต้น

@สรรพากรจ้องฟัน2หมื่นคณะบุคคล

เดิมการจัดตั้งคณะบุคคลสามารถนำรายได้ของผู้ที่ร่วมจดทะเบียนจัดตั้งมาแยกยื่นเสียภาษีกับรายได้ปกติได้ ทำให้ผู้เสียภาษีดังกล่าวเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าที่ลดลง ส่งผลให้มีการจัดตั้งคณะบุคคลกันมาก เพื่อเลี่ยงภาษี

แต่จากนี้ไปกรมสรรพากรจะนำรายได้ของคณะบุคคลที่เกิดจากการทำธุรกิจ มารวมคำนวณเป็นรายได้ปกติของสมาชิกในคณะบุคคลนั้นๆ เพื่อยื่นชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นรายบุคคลด้วย เพื่อให้การเสียภาษีเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราก้าวหน้า ในหลักการที่ว่าผู้มีรายได้สูง ต้องจ่ายภาษีสูงตามไปด้วย ส่วนผู้มีรายได้น้อย ก็จ่ายภาษีน้อย

ที่ผ่านมากรมสรรพากรได้ติดตามความเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2552 ภายหลังจากได้นำข้อมูลของผู้เสียภาษีที่ได้จดทะเบียนในรูปแบบของคณะบุคคลจำนวน 60,000 รายมาวิเคราะห์ พบว่า ในจำนวนนี้มีอยู่ประมาณ 20,000 ราย อยู่ในข่ายที่น่าสงสัยว่า จะมีการใช้ช่องว่างของกฎหมายหลบเลี่ยงภาษี

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ทำกันมานานกว่า 30 ปีแล้ว แต่เริ่มทำกันมากจนผิดสังเกตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากการที่กรมสรรพากรไปไล่บี้ภาษีนายหน้าซื้อขายที่ดินที่ได้รับค่าคอมมิชชั่นเป็นจำนวนมาก พบว่า มีการเลี่ยงการเสียภาษีจำนวนมาก โดยการจัดตั้งคณะบุคคลหลาย ๆ คณะขึ้นมา เพื่อกระจายรายได้

นอกจากนี้ มีพ่อค้าหัวใสตั้งคณะบุคคล เพื่อสร้างรายจ่ายเทียม เพื่อส่งให้บริษัทนำไปหักภาษี หรือบางกรณีจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเข้าไปรับเหมางานของส่วนราชการ หรือจัดตั้งขึ้นมา เพื่อเอาไว้จ่ายเงินใต้โต๊ะ

หลังจากนั้นช่องทางเลี่ยงภาษีโดยการจัดตั้งคณะบุคคลเริ่มแพร่หลายในกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ เช่น ดารา นักแสดงตลก ทนายความ แพทย์ สถาปนิก วิศวะ นายหน้าขายประกัน ฯลฯ

อย่างสรรพากรพื้้นที่บางแห่งมีนายแพทย์มายื่นเรื่องขอจัดตั้งคณะบุคคลปีละ 12 คณะ ทำให้เจ้าหน้าที่สรรพากรต้องเชิญนายแพทย์ท่านนั้นมาเข้าพบ และขอให้ลดเหลือเพียงคณะเดียว

แถมบางคนมีชื่ออยู่ในคณะบุคคลถึง 300 คณะ ซึ่งถือเป็นการผิดสังเกต และเข้าข่ายการหลบเลี่ยงภาษีอย่างเห็นได้ชัดเจน

@"แพทย์-ดารา"รับจัดตั้งคณะบุคคลเลี่ยงภาษีเพียบ

คำจำกัดความของ"คณะบุคคล"ตามประมวลรัษฎากรระบุว่า คือ สัญญาที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงกัน เพื่อกระทำกิจการร่วมกันเหมือนห้างหุ้นส่วนสามัญ แต่จะต้องไปไม่มีการแบ่งผลกำไรที่ได้มาจากการทำกิจกรรมนั้น ๆ

โดยสาระสำคัญของกฎหมายจะเน้นที่การทำกิจกรรมร่วมกัน แล้วมีเงินได้เกิดขึ้น ยกตัวอย่าง คณะตลกสมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกัน จุดกำเนิดเงินได้จึงกระจายไปยังสมาชิกทุกคน

จะต่างจากกรณีของหมอ ทนายความ สถาปนิก วิศวกร รายได้เกิดจากตัวบุคคลนั้นเพียงคนเดียว หากไปดึงบุคคลอื่นมาตั้งเป็นคณะบุคคล ทั้งที่ไม่มีส่วนร่วมในกิจการ ไม่ถือว่าเป็นคณะบุคคลตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด

แหล่งข่าวจากวงการแพทย์ กล่าวกับ"มติชนออนไลน์"ยอมรับว่า ในวงการแพทย์มีการจัดตั้งคณะบุคคลกันมาก เพราะถือเป็นช่องโหว่ของกฎหมายที่เปิดให้ทำได้ ไม่ได้ถือเป็นการทำผิดกฎหมาย แต่หากกรมสรรพากรจะมีการปรับแก้ไขข้อกฎหมาย ไม่ให้ดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ทุกคนพร้อมจะปฏิบัติตาม

นางสาวปนัดดา วงศ์ผู้ดี ดารานักแสดงและพีธีกรรายการโทรทัศน์ กล่าวว่า ตัวเองจ่ายภาษีเต็มตามกฎหมายกำหนดตลอด เพราะทำธุรกิจอยู่หลายอย่างด้วย ไม่อยากมีปัญหา ที่ผ่านมาเคยเห็นดารารุ่นพี่โดนเรียกภาษีย้อนหลังกันแล้วโหดมาก  อย่างไรก็ตาม ตัวเองพบข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรเช่นกรณีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ระหว่างการถูกว่าจ้างไปเป็น "ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์"จะเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายน้อยกว่า การที่เจ้าของงานระบุว่าว่าจ้างไปเป็น"พิธีกร"จะโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายมากกว่า

แหล่งข่าวจากวงการบันเทิง เปิดเผย"มติชนออนไลน์"ว่า ยอมรับว่าในวงการดารานักแสดงมีการจัดตั้งคณะบุคคลกันมาก เพื่อหลบเลี่ยงภาษี โดยเฉพาะพระเอก นางเอกที่ได้รับค่าตัวสูง ๆ บางครั้งที่มีสัญญาว่าจ้างตลอดปี การรับค่าจ้างครั้งหนึ่งจะสูง อาจจะ 6-8 ล้านบาท จะมีการจัดตั้งคณะบุคคลอาจจะถึง 20 คน เพื่อให้กระจายการรับเงิน จะได้ไม่ตัองเสียภาษี อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งคณะบุคคลไม่ได้ทำเฉพาะในวงการบันเทิง เท่าที่ทราบในวงการนักการเมืองมีการจัดตั้งคณะบุคคลมากกว่าวงการดาราอีก แต่นักการเมืองเองไม่กล้าแตะต้องกันเองมากกว่า

ขณะที่ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย"มติชนออนไลน์"ว่า เรื่องดังกล่าวได้มีการดำเนินการในระหว่างที่ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแล้ว ในขณะนั้นกรมสรรพากรเสนอเป็นแนวคิดขึ้นมาและเห็นด้วยได้มอบหมายให้ไปศึกษาเพิ่มเติม 

"ผมเข้าใจว่าการศึกษาในรายละเอียดเสร็จแล้ว  และรัฐบาลมีนโยบายเดียวกัน ที่จะยกเลิกการรวมตัวกันในรูปคณะบุคคล  ผมก็เห็นด้วยและคิดว่า เดินหน้าต่อไปได้เลย" นายกรณ์ กล่าว

นายกรณ์  กล่าวอีกว่า  "ไม่มีเหตุผลอะไรที่นโยบายนี้จะไม่เกิดขึ้น  ผมเห็นทางท่าน อธิบดีกรมสรรพากร  กับรองนายกฯ  ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะใช้เวลาหนึ่งปี ผมคิดว่าให้รีบทำ และต้องให้ความยุติธรรมกับผู้ที่ก่อตั้งเป็นคณะบุคคลอยู่แล้ว  โดยให้ไปปรับวิธีการรายงานรายได้และชำระภาษี  แต่ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรม ผมว่า การพิจารณายกเลิกนั้นถูกต้องแล้ว ผมเห็นด้วยและยินดีสนับสนุนอย่างเต็มที่"

เรื่องโดย:กฤษณา ไพฑูรย์

ที่มา..มติชนออนไลน์

สรรพากรเร่งดึงคณะบุคคลเสียภาษีเงินได้ให้ถูกต้อง

โดยเฉพาะดารา นักแสดง เดินหน้าตรวจสอบนิติบุคคล หากพบข้อมูลชี้ชัดว่ามีเจตนาเลี่ยงภาษีต้องตรวจสอบย้อนหลัง ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่

วันนี้ ( 10 ก.ค. 2555) นางวณี ทัศนมณเฑียร ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี กรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรกำลังเตรียมเสนอแก้ไขกฎมาย เพื่อกำหนดความชัดเจนของการจัดตั้งคณะบุคคล ที่ต้องไม่ใช่เป็นการตั้งขึ้นเพื่อหลบเลี่ยงภาษี เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งกรมฯ ได้เรียกให้ผู้มีรายชื่อในคณะบุคคล ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ถูกต้อง โดยเฉพาะกลุ่มดารา นักแสดง ที่ส่วนใหญ่มักจะมาตั้งเป็นคณะบุคคล แต่นับจากนี้ไปจะจัดตั้งคณะบุคคลไม่ได้แล้ว  จึงได้เรียกมาชี้แจงทำความเข้าใจ ซึ่งช่วยให้กรมสรรพากรได้เงินภาษีจากกลุ่มนี้เข้ามาจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน กรมสรรพากร กำลังตรวจสอบการเสียภาษีของนิติบุคคลที่จะยื่นเสียภาษีกลางปี 2555 นี้ ซึ่งจะมีผลในการปรับลดอัตราภาษีเหลือ 23% เป็นงวดแรก โดยหากพบว่ามีหลักฐานชัดเจนว่าบางบริษัทเจตนาหลบเลี่ยง หรือยื่นเสียภาษีไม่ถูก จะเข้าไปตรวจสอบย้อนหลัง ไม่เช่นนั้นจะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่หากไม่มีข้อมูลบ่งชี้ ก็จะไม่เข้าไปตรวจสอบย้อนหลังแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม มองว่าการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 23% ในปี 2555 นี้ และเหลือ 20%ในปี 2556 หน้านั้น ไม่ได้มีผลให้นิติบุคคลเข้ามายื่นเสียภาษีให้ถูกต้องมากนัก ส่วนการปรับลดภาษีต่ำกว่า 20% นั้นเป็นเรื่องของนโยบาย
นางวณี กล่าวว่าขณะนี้กรมสรรพากร มีเรื่องต้องเดินหน้าต่อ คือการแก้ไขกฎหมายให้แยกยื่นภาษีระหว่างสามี-ภรรยา  ที่หลังจากนี้กระทรวงการคลังจะเร่งผลักดันกฎหมาย เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันในการยื่นเสียภาษีปี 56 ขณะที่ก่อนหน้านี้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า หากนิติบุคคลยอมเข้ามาเสียภาษีอย่างถูกต้อง กรมสรรพากรก็ไม่ควรเข้าไปตรวจสอบภาษีย้อนหลัง เพื่อเป็นการจูงใจให้ นิติบุคคลเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น

ที่มา..เดลินิวส์