กรกฎาคม, 2010 | รับทำเงินเดือน กรกฎาคม, 2010 | รับทำเงินเดือน

เงิน เงิน เงิน….. ค่าจ้าง

ใกล้วันตรุษจีนแล้วนะครับคุณผู้อ่าน หลายคนโดยเฉพาะเด็ก ๆ ก็คงตั้งหน้าตั้งตารอซองอั่งเปาจากผู้ใหญ่ในครอบครัว ส่วนคนทำงานบริษัทหลายท่านก็อาจแอบมีความหวังเล็ก ๆ ว่าเจ้านายอาจแจกโบนัส ที่เป็นแต๊ะเอียหรืออั่งเปา ในช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่คนที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในช่วงนี้คือผู้สมัครรับเลือกตั้งรวมทั้ง ผู้สนับสนุนผู้สมัครทั้งหลาย ซึ่งหากท่านใจดีแจกอั่งเปาหรือแจกแตะเอียให้กับคนอื่นโดยจูงใจให้เขามาใช้ สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครคนใดคนหนึ่งหรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมือง หนึ่ง ผิดกฎหมายเลือกตั้งนะครับ รับรองได้รับของสมนาคุณเป็นใบแดง (แสลงใจ) และอาจพ่วงด้วยการรับของชำร่วยเป็นคดีอาญาโทษจำคุกถึง 10 ปี เลยทีเดียวนะครับ

Lisa ฉบับนี้ผมอยากทำความเข้าใจกับคุณผู้อ่านทั้งที่เป็นลูกจ้างตาดำ ๆ หรือนายจ้างใจดีทั้งหลายในเรื่องของอั่งเปา โบนัส เงิน หรือสิ่งของแบบไหนที่นายจ้างจ่าย ที่กฎหมายไทยถือเป็นค่าจ้าง ? ซึ่งถ้าหากเป็น ค่าจ้างตามกฎหมาย ทั้งสองฝ่ายก็สามารถใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวค่าชด เชย ค่าทำงานล่วงเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุด เพื่อใช้เป็นแนวทางในการรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้อ่าน Lisa ทั้งที่เป็นลูกจ้างและนายจ้าง ดังนี้ครับ

ค่าจ้าง..…คืออะไร ?

ค่าจ้าง คือเงินที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการที่ลูกจ้างได้ทำงาน ให้แก่นายจ้าง ไม่ว่าจะจ่ายเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น (บางคนทำงานต่อเนื่องจ่ายเป็นรายปีก็มีครับ) หรือจ่ายโดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงาน รวมถึงเงินที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงานด้วย โดยเงินที่ถือเป็นค่าจ้างต้องจ่ายโดยนายจ้างเท่านั้น หากจ่ายโดยคนอื่นไม่ถือเป็นค่าจ้างนะครับ เช่น ทำงานอยู่ร้านอาหารมีรายได้จากเงินค่าจ้างส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งได้จากค่าทิปของผู้มาใช้บริการที่เห็นว่าเสริฟอาหารได้ถูกใจ (ไม่หน้าบึ้ง) เรียกใช้ได้ง่าย ลูกค้าไม่ต้องลุกขึ้นไปตามอาหาร ถึงได้ทิปก็ไม่ใช่ค่าจ้างนะครับ เพราะไม่ใช่เงินของนายจ้าง

ลูกจ้างบางคนต้องเกี่ยวพันกับลูกค้าใกล้ชิด จนลูกค้าพอใจการบริการของลูกจ้างบางคน อาจให้เงินพิเศษแก่ผู้ให้บริการอย่างนี้ก็ไม่ใช่ค่าจ้างเช่นกันครับ และเงินค่าจ้างบางประเภทไม่ได้เรียกว่าเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง โดยอาจจะเรียกว่าค่าครองชีพ เช่นเราทำงานได้เงินเดือน 15,000.-บาท ค่าครองชีพ 3,000.-บาท อย่างนี้ถ้าหากค่าครองชีพดังกล่าวเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็น ประจำ มีจำนวนแน่นอนเช่นนี้ก็ถือเป็นค่าจ้างเหมือนกันนะครับ จึงเท่ากับว่าลูกจ้างรายนี้มีเงินเดือน 18,000.-บาท ครับ

แต่ช้าก่อนครับอย่าเพิ่งดีใจไปจ๊ะคุณลูกจ้างทั้งหลาย เพราะศาลฎีกาเคยตัดสินว่าค่าครองชีพไม่ใช่ค่าจ้าง เนื่องจากค่าครองชีพดังกล่าวนายจ้างไม่ได้เป็นผู้จ่าย เช่น ค่าครองชีพของครูโรงเรียนเอกชน ซึ่งเจ้าของโรงเรียนผู้เป็นนายจ้างไม่ได้เป็นผู้จ่าย แต่กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้จ่ายให้แก่ครูเอกชน ดังนั้นค่าครองชีพของครูเอกชนจึงไม่ใช่ค่าจ้างครับผม

นายจ้างบางรายจ่ายเงินพิเศษโดยแบ่งออกเป็นหลายส่วนให้ลูกจ้างควบคู่ไปกับ เงินเดือน เช่น เงินสวัสดิการ เงินเบี้ยเลี้ยง เช่น เงินเดือน 10,000.-บาท เงินสวัสดิการ 3,000.-บาท บางครั้งลูกจ้างต้องออกไปปฏิบัติงานต่างจังหวัดเป็นประจำ นายจ้างต้องให้เบี้ยเลี้ยงในเดือนนั้นเพิ่มอีก 6,000.-บาท ถ้าเงินทั้ง 3 จำนวนนี้จ่ายกันเป็นประจำในทางกฎหมายก็ถือเป็นค่าจ้างนะครับ แต่ถ้าหากเป็นเบี้ยเลี้ยงที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นครั้งคราว เช่น ถ้าออกไปทำงานต่างจังหวัดก็จะได้รับ บางเดือนไม่ได้ออกไปทำงานต่างจังหวัดก็เลยไม่ได้รับ เงินเบี้ยเลี้ยงนี้จึงไม่เป็นค่าจ้างครับ
เงินค่าตอบแทน..…อื่นๆ

ค่าพาหนะ ค่าน้ำมันรถ เนื่องจากลูกจ้างใจดีใช้รถส่วนตัวไปในกิจการงานของบริษัท เจ้านายจึงช่วยเหลือค่าน้ำมันรถให้ลูกจ้างโดยให้ลูกจ้างนำใบเสร็จค่าน้ำมันรถใน แต่ละเดือนมาเบิกได้ โดยทางบริษัทจะจ่ายให้ตามความเป็นจริงและการเบิกเงินแต่ละครั้งต้องมีใบ เสร็จมาแสดง ดังนี้ ไม่เป็นเงินค่าจ้างนะครับ เพราะว่าไม่ใช่เงินที่ลูกจ้างได้รับเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน แต่ถ้าหากนายจ้างให้ความช่วยเหลือค่าพาหนะ ค่าน้ำมันรถแก่ลูกจ้างโดยการเหมาจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นประจำ เช่น จ่ายค่าน้ำมันรถเดือนละ 10,000.-บาท โดยที่ลูกจ้างไม่ต้องนำใบเสร็จเป็นหลักฐานมาแสดงว่าได้จ่ายไปจริง และเหลือก็ไม่ต้องมาคืน เช่นนี้ ในทางกฎหมายถือเป็นค่าจ้างนะครับ เพราะฉะนั้นคุณผู้อ่าน Lisa อย่าเพิ่งเหมารวมไปนะครับ เพราะเงินค่าพาหนะ ค่าน้ำมันรถจากบริษัทบางครั้งก็เป็นค่าจ้าง บางครั้งก็ไม่เป็นค่าจ้าง ต้องพิจารณาดังข้างต้นครับ

เงินค่านายหน้า ค่าคอมมิชชั่น หรือค่าธรรมเนียมการขาย ถ้าเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณเป็นร้อยละจากยอดที่ลูกจ้าง คนเก่งคนนั้นๆขายสินค้าได้ โดยต้องขายในวันและเวลาปกติของวันทำงานจึงจะถือเป็นค่าจ้าง แต่ถ้าหากลูกจ้างไม่มีวันเวลาปกติของการทำงานคือจะขายเมื่อใด วันใดก็ได้ อย่างเช่นสินค้าขายตรงทั้งหลายที่ขายได้ตั้งแต่บนรถเมล์จนถึงรถไฟใต้ดิน หรือขายได้ตั้งแต่ที่บ้านไปจนที่ทำงานเช่นนี้ ก็ไม่ถือเป็นค่าจ้างนะจ๊ะสาวมิสทีน สาวยูสตาร์ สาวแอมเวย์ สาวกิพฟารีน ฯลฯ ไปจนสาวยาคูลท์

เงินจากค่าบริการ ถ้าเป็นเงินที่นายจ้างเรียกเก็บจากลูกค้าที่มาใช้บริการและนายจ้างเฉลี่ย จ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นประจำอย่างนี้ก็ถือเป็นค่าจ้างครับ แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่นายจ้างใจดีมาก ๆ หรือบางทีลูกค้าเขี้ยวยาวลากดินเป็นหนี้ไม่ยอมจ่ายค่าบริการมาตลอด จนมาเจอพนักงานแสนเก่งที่สามารถเรียกเก็บเงินให้บริษัทได้สำเร็จ บริษัทจึงยกเงินทั้งหมดให้แก่ลูกจ้างคนนั้น ๆ โดยนายจ้างไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากเงินดังกล่าวเลย อย่างนี้ต้องถือว่าเป็นเงินที่ลูกค้าจ่ายให้แก่ลูกจ้าง นายจ้างมิได้เป็นผู้จ่าย เช่นนี้ ก็ไม่ถือเป็นค่าจ้างนะครับ

เบี้ยกันดาร ฟังดูแล้วเหมือนไปทำงานกลางทุ่งกุลาสมัยโบราณ (ที่บัดนี้อีสานเขียวแล้วครับ) หรืออยู่ห่างไกลไปจนถึงดินแดนโคกอี (คุณ) หลวย เขาอี (คุณ) หลอด แต่ปัจจุบันยังมีนะครับที่บางครั้งลูกจ้างต้องไปทำงานในต่างจังหวัดห่างไกล และทุรกันดาร นายจ้างก็จะเพิ่มเงินพิเศษให้แก่ลูกจ้างเรียกว่าเบี้ยกันดาร ซึ่งหากจ่ายเป็นประจำทุกเดือน ก็ถือเป็นค่าจ้างครับ

เงินค่ากะกลางคืน บางบริษัททำงานทั้งวันทั้งคืน ดังนั้น ลูกจ้างที่เข้าทำงานในช่วงกลางคืนซึ่งเป็นเวลาพักผ่อนหลับนอน นายจ้างก็จ่ายเงินเพิ่มพิเศษให้เพื่อเป็นค่าตอบแทนกรณีพิเศษที่ลูกจ้างยอมอด ตาหลับขับตานอน (จนมีนัยน์ตาคล้ายหมีแพนด้า) เข้าทำงานในกะกลางคืน โดยเพิ่มเงินอีกจำนวนหนึ่งนอกเหนือจากค่าจ้าง เช่นนี้ ลูกจ้างที่เข้ากะหมุนเวียนในรอบกลางคืนจึงได้รับเงินค่ากะกลางคืนเป็นประจำ จากนายจ้าง เช่นนี้ก็เป็นค่าจ้างเหมือนกัน

เงินประกันค่าเสียหาย การทำงานในบางตำแหน่งต้องมีเงินประกันค่าเสียหาย แต่ปรากฏว่าลูกจ้างมิได้ชำระเงินประกันค่าเสียหายไว้ นายจ้างจึงได้หักเงินค่าจ้างจากลูกจ้างไว้ทุกเดือน เพื่อเป็นเงินประกันค่าเสียหาย กฎหมายให้ถือว่าเงินส่วนที่หักไปก็เป็นค่าจ้างเหมือนกันครับ

เงินประจำตำแหน่ง คือเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่มีความสามารถจนได้ตำแหน่งสำคัญ เช่น ผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการฝ่าย รองผู้จัดการฝ่าย หรือผู้ช่วยผู้จัดการฝ่าย ฯลฯ หากลูกจ้างคนใดอยู่ในตำแหน่งที่บริษัทกำหนดว่าจะได้เงินประจำตำแหน่ง ก็จะได้เงินพิเศษจำนวนนี้ นอกเหนือจากค่าจ้าง ซึ่งมักจ่ายเป็นประจำทุกเดือน มีกำหนดเวลาที่แน่นอน อย่างนี้ก็เป็นค่าจ้างแน่นอนครับ ไม่พลาด จนกว่าเก้าอี้คุณจะถูกเลี่อย

เงินรับรอง ลูกจ้างตำแหน่งผู้บริหารที่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่จากชาติปางก่อน มาชาตินี้จึงได้ทำหน้าที่สำคัญ เช่นผู้จัดการ หรือรองผู้จัดการ ก็จะมีเงินหรืองบพิเศษ ที่เรียกว่าเงินรับรอง เงินจำนวนนี้นายจ้างจะจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นประจำทุกเดือน ไม่ว่าลูกจ้างจะออกไปรับรองลูกค้าหรือไม่ก็ตาม อย่างนี้ก็เป็นเงินค่าจ้างเหมือนกันครับ แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่ลูกจ้างต้องนำใบเสร็จรับเงินค่ารับรองมาเบิกเงิน จากบริษัท แปลว่าต้องมีการรับรองกันจริงถึงจะได้เงินค่ารับรองนี้จากบริษัท เช่นนี้ก็ไม่ใช่ค่าจ้างนะครับเพราะไม่ใช่เงินได้ของลูกจ้างครับ

กรณีนายจ้างจ่าย..…แต่ไม่ใช่ค่าจ้าง
เงินบางประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง แต่ไม่ได้จ่ายกันเป็นประจำทุกเดือน หรือจ่ายแบบครั้งคราวเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เงินโบนัส เงินบำเหน็จ เงินค่าทิป เงินรางวัลเพื่อจูงใจ เบี้ยขยัน ค่าที่พัก ค่าจอดรถเหมาจ่าย เงินช่วยเหลือสวัสดิการ ค่าอาหาร เงินช่วยเหลือบุตร เงินภาษีที่นายจ้างออกให้ เงินค่าอบรมพิเศษ เงินค่าไฟฟ้าที่นายจ้างออกให้ เงินช่วยเหลือเมื่อไปทำงานต่างประเทศ เงินค่ายังชีพที่จ่ายในระหว่างหยุดกิจการ เงินค่าซักรีด เงินค่าล่วงเวลา เงินค่าทำงานในวันหยุด ฯลฯ ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนเป็นเงินที่นายจ้างมิได้จ่ายเป็นประจำอันเนื่องมาจาก การทำงานในวันเวลาปกติ เช่นนี้ ก็ไม่ถือเป็นค่าจ้างนะครับ เวลาจะนำเงินค่าจ้างมาคำนวณเพื่อหาค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าชดเชยก็จะไม่นำเงินเหล่านี้มารวมคำนวณด้วยครับผม
อั่งเปา แตะเอีย โบนัส…ไม่ใช่ค่าจ้าง

เงินอั่งเปา แตะเอีย หรือ โบนัสที่นายจ้างได้จัดไว้เป็นเงินพิเศษให้แก่ลูกจ้างเนื่องในโอกาสวันตรุษ จีนเพื่อให้ลูกจ้างได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้สอยหรือไปเที่ยวหาความสุข ความสำราญ เงินเหล่านี้ไม่ใช่เงินค่าจ้างครับ แต่เป็นเงินพิเศษที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งแม้จะจ่ายเป็นประจำทุกปี แต่เงินอั่งเปา แตะเอีย หรือโบนัสที่จ่ายกันในช่วงวันตรุษจีนจึงไม่ใช่เงินค่าจ้างครับ ซึ่งถ้าหากมีกรณีเลิกจ้างกันเกิดขึ้นก็จะไม่นำมาคำนวณเพื่อคิดเป็นค่าชดเชย หรอกครับ

รู้ทันนายจ้าง..…หัวหมอ
นายจ้างบางคนขี้โกงครับ เช่น กำหนดเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างในอัตราเดือนละ 10,000.-บาท ซึ่งลูกจ้างคนนี้ทำงานอยู่ในฝ่ายขายโดยเขาจะมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่นจากการ ขายคิดเป็นร้อยละจากยอดขายเฉลี่ยตกเดือนละประมาณ 20,000.-บาท นอกจากนั้นยังได้รับค่าน้ำมันรถเป็นการเหมาจ่ายอีกเดือนละ 10,000.-บาท ลูกจ้างทำงานมาได้ 3 ปีเศษ นายจ้างกลับบอกเลิกจ้างลูกจ้าง โดยลูกจ้างไม่มีความผิด ซึ่งในการคำนวณเพื่อจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าว กฎหมายกำหนดให้คิดจากค่าจ้างเงินเดือนบวกเงินค่าชดเชยอีกเป็นเวลา 6 เดือน รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 7 เดือน นายจ้างหัวหมอ (ขี้โกง) ก็คำนวณจากฐานเงินเดือนในอัตราเดือนละ 10,000.-บาทแค่นั้น เท่ากับจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเงิน 70,000.-บาท เช่นนี้ไม่ถูกต้องและผิดกฎหมายนะครับ

แท้จริงแล้วรายได้ของลูกจ้างคนนี้ไม่ใช่แค่เงินเดือน ๆ ละ 10,000.-บาท หากแต่มีรายได้จากเงินเดือน ๆ ละ 10,000.-บาท บวกค่าคอมมิชชั่นเดือนละ 20,000-บาท บวกค่าน้ำมันรถอีกเดือนละ 10,000.-บาท รวมแล้วลูกจ้างมีรายได้เดือนละ 40,000.-บาท ซึ่งต้องนำจำนวนเงิน 40,000.-บาท มาคำนวณเป็นเงินค่าจ้าง ดังนั้น ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับเงินค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวและค่าชดเชยรวมแล้ว เป็นเงิน 280,000.-บาท มิใช่ 70,000.-บาท ตามที่นายจ้างหัวหมอพิจารณาจ่ายให้ครับ อย่าทำนะครับคุณนายจ้าง เดี๋ยวถูกฟ้องจากลูกจ้าง

เป็นอย่างไรบ้างครับคุณผู้อ่าน หวังว่าคงพอเข้าใจในเรื่องค่าจ้างชัดเจนขึ้นแล้วใช่ไหมครับ ไม่ว่าคุณผู้อ่านจะอยู่ในฐานะนายจ้างหรือลูกจ้าง ต่อไปคงไม่ปวดหัวกับการพิจารณาเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าชดเชยอีกแล้วนะครับ และในช่วงตรุษจีนปีนี้ผมขออวยพรให้คุณผู้อ่าน Lisa ทั้งหลายมีความสุข ซินเจียยูอี่ ซินนี้ฮวดไช้ และขอให้ได้รับอั่งเปากันทั่วหน้า และขอให้ร่ำรวยมีเงินเยอะ ๆ ครับผม

เงิน เงิน เงิน….. ค่าจ้าง เล่ม 5
ลงหนังสือ Lisa ปีที่ 6 ฉบับที่ 5 วันพฤหัส 3 กุมภาพันธ์ 2548
อ.ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช

ที่มา..http://www.pramarn.com/

รูปแบบองค์กรที่เหมาะสมของบริษัทต่างประเทศ

บริษัทต่างประเทศ ที่จะเข้ามาลงทุน ประกอบธุรกิจ ในบ้านเรา มักมีคำถามคล้ายๆ กันว่า รูปแบบองค์กรที่เหมาะสม ควรจัดตั้งในรูปแบบใด (จึงประหยัดภาษี)

ในภาพกว้างๆ คงสรุปรูปแบบหลักๆ ได้ 5 ประเภท

  1. จดทะเบียน จัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ ในประเทศไทย (2)
  2. เปิดสาขาในไทย
  3. ตั้งเป็นกิจการร่วมค้า (Joint Venture)
  4. ตั้งตัวแทนจำหน่าย (Distributor)
  5. ตั้งสำนักผู้แทน (Representative Office)

ถามว่ารูปแบบใดดีกว่ากัน?
คงต้องมองกัน ในหลายแง่มุม และว่ากันยาวซะแล้ว!

1. การจดทะเบียน จัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ แนวทางนี้ จะเสมือนเป็นการ เข้ามาปักรากปักฐานอยู่นาน

ตัวอย่างเช่น บริษัท ยูโนแคล (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสัมปทานขุดเจาะสำรวจ และผลิตปิโตรเลียม ในอ่าวไทยเป็นเวลา 30 ปี

บริษัท โตโยต้า (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาตั้งฐาน การผลิตรถยนต์ที่ กบินทร์บุรี เพื่อส่งออกและจำหน่าย ในประเทศไทย เป็นต้น

การเลือกตัดสินใจ ลงทุนในระยะยาว ในประเทศใด ประเทศหนึ่ง เช่นนี้ มีเหตุผลปัจจัย หลายประการ อาทิ เสถียรภาพทางการเมือง โครงสร้างพื้นฐาน ที่เอื้อต่อการลงทุน อัตราค่าจ้างแรงงาน การควบคุมการไหลเข้าออก ของเงินตราต่างประเทศ และภาระภาษีอากร เป็นต้น

กล่าวในแง่ของภาษีอากร ข้อดีของการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ จะมีผลให้บริษัทใหม่ มีสถานะเป็น คนละหน่วยภาษี (tax entity) กับบริษัทแม่ ในต่างประเทศ ดังนั้น รายจ่ายต่างๆ ที่บริษัทแม่ในต่างประเทศ เรียกเก็บจากบริษัทในเครือ ในประเทศไทย จึงสามารถนำมาหัก เป็นรายจ่ายในประเทศไทย ได้ทั้งจำนวน ทำให้กำไรสุทธิ ในไทยลดลง และเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลต่ำลง เช่นกัน

ตัวอย่างของรายจ่าย ที่คัดมาจากสำนักงานใหญ่ ได้แก่ ค่าที่ปรึกษาทางเทคนิค ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เงินเดือนค่าจ้าง ของผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ที่ถูกส่งเข้ามาช่วยเหลือ หรือช่วยปฏิบัติงานต่างๆ ในประเทศไทย เป็นต้น กรณีดังกล่าว จึงเป็นช่องทางหนึ่ง ที่ใช้เป็นเครื่องมือ ในการถ่ายโอนกำไร ออกจากประเทศไทย โดยปลอดจากภาระภาษี โดยเฉพาะในกรณีที่อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เหลื่อมล้ำกันของทั้ง 2 ประเทศคู่ค้า

แต่ข้อเสียของรูปแบบองค์กรใ นลักษณะนี้ก็คือ จะต้องมีการชำระบัญชี เมื่อเลิกกิจการ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุ ให้ถูกออกหมายเรียก ทำการตรวจสอบภาษีได้ ซึ่งหลายบริษัท ต้องน้ำตาตก ในการถูกปรับภาษีเพิ่มเติม ในตอนจบนี่แหละ!

2. เปิดเป็นสาขา หรือสำนักงานชั่วคราวในไทย

กรณีนี้ก็คือ การประกอบกิจการ ในประเทศไทย ตามนัยมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยการขออนุญาต ประกอบกิจการในไทย ในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ ตามอายุของโครงการ เช่น การสร้างสะพาน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตามสัญญาจ้าง 3 ปี เป็นต้น โดยการส่งลูกจ้าง ผู้ทำการแทน หรือผู้จัดการสาขา เป็นตัวแทนเข้ามาบริหารงาน ของกิจการในประเทศไทย

ในบางกิจการอาจติดข้อจำกัด ของกฎหมายและใบอนุญาต เช่น กรณีของการเปิดสาขา ของธนาคารต่างประเทศ เป็นต้น

ตามหลักกฎหมาย ระหว่างประเทศ การเปิดสาขา หรือขออนุญาต ตั้งสำนักงานชั่วคราวดังกล่าว ก็ยังถือว่า บริษัทต่างประเทศรายนั้นๆ มีสัญชาติ ตามบริษัทแม่ (head office) กรณีนี้จึงสามารถ ใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามข้อบท ในอนุสัญญาภาษีซ้อน ที่ประเทศไทยทำไว้กับบริษัทแม่ได้ เช่น การลดหรือยกเว้นภาษีเงินได้ในบางกรณี ฯลฯ ในทางกลับกัน กรณีก็อาจทำให้ สาขาของบริษัทต่างประเทศ เสียสิทธิในการประกอบกิจการ ในบางประเภทธุรกิจ ที่สงวนไว้แก่คนไทยเช่นกัน

กรณีที่บริษัทต่างประเทศดังกล่าว มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ ที่ได้ทำความตกลง ว่าด้วยการยกเว้น การเก็บภาษีซ้อน ไว้กับประเทศไทย (ขณะนี้มี 43 ประเทศ) บางอนุสัญญากำหนดระยะเวลาเข้ามาดำเนินธุรกิจน้อยกว่า 6 เดือน ก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิที่ได้รับจากการประกอบกิจการ ในไทย ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเลือกรูปแบบองค์กร เพื่อวางแผนประหยัดภาษีได้เช่นกัน

ตัวอย่างเช่น บริษัทต่างประเทศ เข้ามาตั้งสาขา ประกอบธุรกิจในไทย โดยบริษัทแม่ในต่างประเทศ นำเงินมาลงทุน ถือหุ้นในบริษัทไทยแห่งหนึ่ง เมื่อบริษัทแม่ ได้รับเงินปันผล จากการถือหุ้นดังกล่าว กรมสรรพากร ได้วางแนวปฏิบัติ ว่าไม่ต้องนำเงินปันผลดังกล่าว มารวมในการคำนวณ กำไรสุทธิของสาขาในไทย คงมีภาระเพียงถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตรา 10% เท่านั้น (ถือเป็น final tax)

3. การตั้งเป็นกิจการร่วมค้า (Joint Venture)

เหตุผลในการขอตั้ง เป็นกิจการร่วมค้า โดยทั่วไป เป็นเพราะบริษัทมากกว่า 2 แห่งขึ้นไป มีเทคโนโลยี และความสามารถ แตกต่างกันคนละด้าน จึงต้องเข้าร่วมประมูลงาน หรือร่วมมือกันดำเนินงาน ให้โครงการ สำเร็จลุล่วงลง เช่น โครงการประมูลงานก่อสร้าง สะพานพระราม 9 บริษัท A เก่งงานด้านการก่อสร้าง ฐานรากในแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนบริษัท B เก่งงานด้านการก่อสร้างตัวสะพาน ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ในการขึงลวดสลิง เพื่อพยุงตัวสะพานเอาไว้ เป็นต้น

กรมสรรพากรได้วางแนวปฏิบัติ ว่าลักษณะของกิจการร่วมค้า จะต้องเข้าเกณฑ์หนึ่ง เกณฑ์ใด ดังนี้

  1. มีการร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สิน แรงงานหรือเทคโนโลยี หรือร่วมกันในผลกำไร หรือขาดทุน อันจะพึงได้ตามสัญญา ที่ร่วมกันทำ กับบุคคลภายนอก หรือ
  2. ได้ร่วมกันทำสัญญา กับบุคคลภายนอก โดยระบุไว้ในสัญญานั้น ว่าเป็นกิจการร่วมค้า หรือ
  3. ได้ ร่วมกันทำสัญญา กับบุคคลภายนอก โดยสัญญานั้น กำหนดให้ ต้องรับผิดร่วมกัน ในงานที่ทำ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และต้องรับค่าตอบแทน ตามสัญญาร่วมกัน โดยสัญญานั้น ไม่ได้แบ่งแยกงาน และค่าตอบแทน ระหว่างกันไว้อย่างชัดเจน

ข้อเสียของกิจการร่วมค้าก็คือ ผู้ร่วมค้าแต่ละราย ไม่อาจใช้สิทธิประโยชน์ จากอนุสัญญาภาษีซ้อน ตามสัญชาติ ของผู้ร่วมค้ารายนั้นๆ เพราะประมวลรัษฎากร ถือว่ากิจการร่วมค้า เป็นหน่วยภาษีใหม่ แยกต่างหากจาก ผู้ร่วมค้าแต่ละราย เช่น กิจการร่วมค้าระหว่างบริษัท J (ญี่ปุ่น) + บริษัท G (เยอรมัน) เป็นต้น

นอกจากนั้นกรณีโครงการ ของกิจการร่วมค้า มีผลการดำเนินงาน เป็นขาดทุนสุทธิ กรณีก็ไม่อาจนำ หรือโอนผลขาดทุนดังกล่าว ไปหักเป็นรายจ่า ยของผู้ร่วมค้า แต่ละราย ตามนัยมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากรเช่นกัน เพราะเป็นคนละหน่วยภาษีกัน

ในการวางแผนภาษี จึงต้องชั่งใจ ข้อดี/ข้อเสีย ว่าจะจัดเป็น รูปแบบองค์กร ในลักษณะนี้หรือไม่ ทางออกก็คือ ถ้าจับมือกันอย่างหลวมๆ กรณีก็จะถือเป็น Consortium ซึ่งกรมสรรพากร วางแนวทาง ให้ผู้ร่วมค้าแต่ละราย ต้องแบ่งแยก รายได้รายจ่าย ของโครงการร่วมทุน เพื่อนำไปเสียภาษีในนาม ของผู้ร่วมค้า แต่ละรายโดยตรง

ลักษณะของ Consortium เช่น ในสัญญาว่าจ้าง มิได้ใช้ชื่อว่ากิจการร่วมค้า หรือในสัญญาว่าจ้าง จะมีการแยกงาน แยกรายได้ค่าจ้าง ออกต่างหาก เป็นของผู้ร่วมค้า แต่ละรายโดยตรง เป็นต้น

4. การตั้งตัวแทนจำหน่าย (Distributor)

ตัวอย่างเช่น บริษัท กันยงอิเล็กทริค จำกัด (ตัวแทนจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อมิตซูบิชิของญี่ปุ่น) บริษัท ดีทแฮล์ม (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด เป็นต้น

กรณีดังกล่าวอาจเป็น เพราะตลาดบ้านเรา ยังมีขนาดเล็ก ไม่คุ้มค่าต่อการยกทัพ เข้ามาเองโดยตรง

ปัญหาของการ ตั้งตัวแทนจำหน่าย ก็คือ ประเด็นการตีความ ว่าบริษัทไทย ที่เป็นตัวแทนขายเหล่านั้น จะเข้าลักษณะ เป็นผู้ทำการแทนที่ไม่อิสระ ตามนัยมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ หากใช่ บริษัทไทยดังกล่าว จะต้องมีหน้าที่ และความรับผิด ในการยื่นแบบ แสดงรายการ ชำระภาษีเงินได้ นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) แทนบริษัทต่างประเทศ

ในการวางแผนภาษี ของบริษัทไทยดังกล่าว จึงต้องชั่งใจว่า จะประกอบกิจการ ในลักษณะซื้อมาขายไป หรือจะเลือกเป็นตัวแทนขาย ซึ่งต้องเสี่ยง ต่อการตีความ เป็นผู้ทำการแทน ตามมาตรา 76 ทวิ นั่นเอง

5. การจัดตั้งสำนักผู้แทน (representative office)

การขอจัดตั้งสำนักผู้แทน ของนิติบุคคลต่างประเทศ จะต้องเป็นไปตาม ข้อกำหนด ในประกาศ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2529 ส่วนในแง่ภาษีอากร จะต้องเป็นไปตามแนวปฏิบัติ ของกรมสรรพากร ซึ่งโดยหลักการ จะไม่มีการจัดเก็บ ภาษีใดๆ จากสำนักผู้แทนดังกล่าว เว้นแต่จะมีการประกอบธุรกรรม ทางการค้า

ตัวอย่างหน้าที่ความรับผิดชอบ ของสำนักผู้แทน เช่น การตรวจสอบ และควบคุมคุณภาพ และปริมาณของสินค้า ที่สำนักงานใหญ่ซื้อหรือจ้างผลิต ในประเทศ การให้คำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับตัวสินค้า ของสำนักงานใหญ่ ที่จำหน่ายแก่ตัวแทนจำหน่าย หรือผู้ใช้สินค้า การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับสินค้า หรือบริการใหม่ ของสำนักงานใหญ่ และการรายงาน ความเคลื่อนไหวทางธุรกิจ ในประเทศไทย ให้สำนักงานใหญ่ทราบ

6. สรุปข้อดี ข้อเสีย ของรูปแบบองค์กร ในลักษณะต่างๆ ของบริษัทต่างประเทศ ได้ดังนี้

6.1 การตั้งบริษัทใหม่ในไทย หักรายจ่ายได้ ในกรณีที่บริษัทแม่ ในต่างประเทศ เรียกเก็บค่าบริการ / ค่าจ้าง / ค่าใช้จ่ายอื่นๆ จากไทย เป็นช่องทาง ถ่ายโอนกำไร โดยปลอดภาระภาษี (transfer pricing) ชะลอการเสียภาษี ตามมาตรา 70 ทวิ โดยจัดสรรการจำหน่าย เงินกำไรให้เหมาะสม ต้องชำระบัญชี เมื่อเลิกกิจการ ซึ่งอาจถูกตรวจสอบภาษีได้
6.2 การขอเปิดสาขา หรือสำนักงาน ชั่วคราวในไทย เข้ามาน้อยกว่า 6 เดือนอาจได้รับ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามอนุสัญญาภาษีซ้อน ไม่ต้องชำระบัญชี หรือแจ้งเลิกบริษัท เมื่อจบโครงการ ต้องเสียภาษี จากการจำหน่าย เงินกำไรอัตรา 10% ตามมาตรา 70 ทวิ เมื่อสิ้นสุดโครงการ
6.3 กิจการร่วมค้า (Joint Venture) ได้รับยกเว้นภาษี สำหรับเงินส่วนแบ่งกำไร แก่ผู้ร่วมค้าที่ประกอบ กิจการในประเทศไทย ไม่ต้องจัดสรร เป็นเงินทุนสำรอง 5% ตามมาตรา 1202 แห่งประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ ไม่สามารถยกผลขาดทุน ของกิจการร่วมค้า ไปหักเป็นรายจ่าย ของผู้ร่วมค้าแต่ละรายได้
6.4 การตั้งบริษัทไทย เป็นตัวแทนจำหน่าย ถ้าวางแผนดี บริษัทต่างประเทศ อาจไม่ต้องเสียภาษี เงินได้นิติบุคคล จากการส่งสินค้า เข้ามาขายในไทย มีความเสี่ยง จากการตีความ ว่าบริษัทไทย เป็นผู้ทำการแทน ตามมาตรา 76 ทวิ
6.5 การตั้งสำนักผู้แทน ของบริษัทต่างประเทศ ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เพราะมิได้ ประกอบธุรกิจการค้าใดๆ

7. ส่งท้าย

ปัญหาภาษีที่บริษัทต่างประเทศ ประสบอยู่ ในการเข้ามา ประกอบธุรกิจ ในเมืองไทยก็คือ ความซับซ้อน และไม่ชัดเจน ของตัวบทกฎหมาย และระเบียบปฏิบัติ ต้นทุนในการปฏิบัติ ตามกฎหมายภาษี (compliance cost) จึงสูง และยังไม่แน่นอน อีกโสตหนึ่ง

ขณะที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีคลัง กำลังง่วน อยู่กับการใช้ นโยบายการคลัง (ภาษีอากร) ในการจูงใจ ให้ต่างชาติ เข้ามาลงทุนในไทย ด้วยสารพัดแคมเปญ การลด แลก แจก แถม… ก็ขออย่าลืมนึกถึง ข้อด้อยด้านโครงสร้างภาษี และ compliance cost ดังกล่าวด้วยนะครับ!

ที่มา..กรุงเทพธุรกิจออนไลน์