พฤศจิกายน, 2008 | รับทำเงินเดือน พฤศจิกายน, 2008 | รับทำเงินเดือน

การทำ JobCost ด้วยโปรแกรมบัญชี Express

ผมทำงานโรงงานอุตสาหกรรม ที่ทำงานใช้โปรแกรมบัญชี Express 5.5 (Lan) ซึ่งไม่รองรับการทำงานในเรื่องของระบบต้นทุนการผลิต ไม่สามารถสรุปต้นทุนแยก Job ได้ ส่งผลให้การจัดทำบัญชี การออกงบการเงินทำได้ค่อนข้างลำบากและงบที่ปิดดูได้ไม่ค่อยน่าเชื่อถือ ในการจัดทำงบการเงินจำเป็นต้องสรุปต้นทุน สำหรับวิธีการที่ทำในเมื่อไม่สามารถสรุปต้นทุนได้ ผมก็ใช้วิธีการประมาณต้นทุนจากราคาขายและเฉลี่ยต้นทุนไปตาม Bom ผลิต (ดูอัตราส่วนจาก Bom) เช่น ต้นทุน 100 บาท แบ่งเป็นค่าวัตถุดิบทางตรง 60 บาท ค่าแรงทางตรง 15 บาท ค่าโสหุ้นการผลิต 10 บาท คงเหลือเป็นกำไรขั้นต้น 15 บาท เป็นต้น

สำหรับโปรแกรม Express การสรุปต้นทุนวัตถุดิบทางตรง เราสามารถทำได้ 2 วิธีคือในใบเบิกวัตถุดิบเพื่อผลิต เราสามารถคีย์หมายเลข Job ที่ช่อง หมายเหตุ หรือที่ช่อง แผนก ก็ได้ ผมจะยกตัวอย่างให้ในกรณีนำช่อง แผนก มาใช้คีย์เลขที่ Job นะครับ ซึ่งข้อดีก็คือ เมื่อคุณเข้าไปกำหนดรหัสแผนก(Job) สามารถกำหนดได้ 4 ตัวอักษร คุณสามารถใส่รายละเอียดลงไปเพิ่มเติมได้ว่า เป็น Job ผลิตอะไร จำนวนเท่าไหร่

พอตอนนำใบเบิกมาคีย์ พอคุณใส่เลขที่ Job ลงไปในช่องแผนก มันจะแสดงรายละเอียดได้ว่าเป็น Job อะไร ผลิตอะไรอยู่ ซึ่งก็สะดวกดี คุณสามารถใช้ Excel ดึงใบเบิกแยกตามตามแผนก(Job) นำไปสรุปข้อมูลต่ออีกทีหนึ่งก็ได้ แต่วิธีนี้การนำไปจัดหน้าและ Sort ใน Excel ค่อนข้างใช้เวลาค่อนข้างมาก (เดิมทีผมก็ใช้วิธีนี้อยู่)

มาตอนหลังผมใช้วิธี Link ฐานข้อมูล Express ไปไว้ที่ Access แล้วใช้ Query ดึงข้อมูลแล้วนำมาจัดทำ Report เพื่อสรุปต้นทุนแยก Job และสั่งพิมพ์รายงานอีกที ซึ่งทำให้ประหยัดเวลาในการจัดทำต้นทุนลงได้มาก ตอนนี้เราก็สามารถสรุปต้นทุนวัตถุดิบทางตรงได้แล้ว ส่วนในเรื่องของค่าแรงทางตรง คุณจำเป็นต้องไปเก็บชั่วโมงการทำงานแยก Job ซึ่งอาจจะเก็บใน Excel ก็ได้ (ค่อนข้างใช้เวลามากเหมือนกัน) ก่อนหน้านี้ที่ผมจะเก็บข้อมูลชั่วโมงการผลิต ผมก็ใช้วิธีประมาณค่าแรงทางตรงจากยอดเบิกวัตถุดิบใช้ไป ซึ่งอาจจะใช้วิธีถั่วเฉลี่ยต้นทุนวัตถุดิบทางตรงต่อค่าแรงทางตรง แล้วนำอัตราที่ใด้ไปคูณต้นทุนวัตถุดิบทางตรงใช้ไป ก็จะได้ยอดประมาณการค่าแรงทางตรง แต่วิธีที่ถูกต้องเราจำเป็นต้องเก็บตัวเลขชั่วโมงการผลิตจากยอดที่เกิดขึ้นจริงนะครับ

มาดูตัวอย่างกันนะครับ

Sample-6

ดูวิธีการ link ฐานข้อมูล Express ไปที่ Access ได้ที่นี่

สำหรับท่านใดที่ติดปัญหาหรือต้องการคำแนะนำ สามารถโพสคำถามไว้ได้นะครับ หรือต้องการตัวอย่างไฟล์ที่ผมทำไว้ก็ email มาขอได้

ขั้นตอนการ Link ฐานข้อมูล Express

การเชื่อมฐานข้อมูลของ Express ไปยังโปรแกรม Access เพื่อที่เราจะเอาฐานข้อมูลออกมาใช้ผ่านทางโปรแกรม Access ซึ่งสามารถใช้คำสั่ง Query เพื่อเลือกข้อมูลตามที่เราต้องการก่อนแล้วนำไปออก Report หรือจะส่งต่อไปยัง Excel อีกทีหนึ่งก็ได้

เนื่องจากที่บริษัทเก่าผมใช้โปรแกรม Express 5.5 (Lan)  ในการจัดทำบัญชีและทำสต๊อคสินค้า ผมสังเกตเห็นน้องที่แผนก เวลาตรวจรายงานภาษีซื้อและภาษีขาย เค้าจะพิมพ์ Report ของ Express ไปเป็น txt ไฟล์ เพื่อที่จะใช้โปรแกรม Excel ดึงข้อมูลแล้วนำไปจัดหน้าใหม่แล้ว Sort ตามเลขที่เอกสาร (ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนานในการจัดหน้า) เคยถามเค้าว่า ทำไปทำไมเค้าบอกมาว่าการตรวจรายงานภาษีซื้อ ตรวจค่อนข้างยากและใช้เวลานาน เนื่องจากเอกสารมันกระโดดไปมา บางครั้งต้องตรวจถึง 2-3 รอบก็มี รายงานที่พิมพ์ได้มันเรียงตามวันที่ (ที่จริงมันก็ถูกต้องตามกรมสรรพากรอยู่แล้ว แต่ก็อยากให้มีรายงานภาษีซื้อที่พิมพ์เรียงตามเลขที่เอกสารได้ด้วย)

เผอิญที่นี่เอกสารภาษีซื้อมีค่อนข้างมากเนื่องจากเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ที่จริงโปรแกรม Express สามารถเข้าไปแก้รายงานเพื่อสั่งพิมพ์เป็น csv แล้วใช้ Excel ดึงข้อมูลได้ แต่บางทีข้อความที่ได้มันก็มักจะเรียงติดๆ กันไป ก็ยังต้องมาจัดหน้าใหม่ใน Excel อยู่ดี ผมก็เลยใช้วิธีการ Link ฐานข้อมูล Express มาไว้ที่ Access แล้วใช้คำสั่ง Query ในการดึงข้อมูล สามารถเลือกดึงรายงานแยก RR,OE,DN,CN ได้ ซึ่งก็ทำให้การทำงานสะดวกขึ้นมาก

หมายเหตุ วิธีการ Link ฐานข้อมูล เราสามารถเปิดเข้าไปดูข้อมูลในแต่ละเรื่อง(ไฟล์) ได้ เช่น ลูกหนี้ เจ้าหนี้ ซื้อ ขาย แต่เราไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้นะครับ ดูได้อย่างเดียว

มาดูวิธี Link ฐานข้อมูล กันนะครับ

1. ใน Windows ให้เข้าไปที่ Control Panel เลือก ODBC Data Source เลือก Add เลือก Microsoft Foxpro VFP Driver (*.dbf) แล้วกำหนด Data Source Name เป็น express (จะกำหนดเป็นชื่ออื่นก็ได้) แล้วที่ช่อง Path ให้ใส่ตำแหน่งที่เก็บข้อมูล express (พิมพ์เข้าไปเองเลยก็ได้ถ้าจำได้) หรือจะกด Browe เพื่อหา Directroy ก็ได้ ดูรูปประกอบ

Sample-3

2. เปิดโปรแกรม Access เลือกสร้างไฟล์ใหม่ และตั้งชื่อไฟล์จะใช้ตามที่โปรแกรมกำหนดมาให้ก็ได้
ที่ Menu เลือก File เลือก Get External Data เลือก Link Table แล้วให้กำหนด File of Type (บรรทัดล่าง) เป็น ODBC ก่อน ถึงจะขึ้นแท็บ ให้เลือกแท็บ Machine Data Source เลือก express (ตามที่ตั้งไว้ข้อ 1) ก็จะเข้าสู่หน้าจอ Link Table ให้เลือก Select All มันจะขึ้นข้อความมาเรื่อยๆ ให้กด Enter ไปเรื่อยๆ จนเสร็จ ก็จะปรากฎชื่อ File ขึ้นมา ดูตัวอย่างตามรูป ตอนนี้เราก็สามารถนำข้อมูลไปใช้งานต่อได้แล้ว

Sample-4

สำหรับท่านใดติดปัญหาหรือต้องการคำแนะนำ ให้ทิ้งข้อความไว้ทีหน้า ตอบปัญหา แล้วผมจะเข้ามาตอบให้ หรือต้องการไฟล์ที่ผมทำไว้ทิ้ง email ไว้แล้วผมจะส่งไฟล์ไปให้

ค่าจ้างตามประกันสังคม

ค่าจ้างตามความหมายของประกันสังคม

ค่าจ้าง คือ เงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติไม่ว่าจะคำนวณตามระยะเวลา หรือคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้ในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณหรือจ่ายในลักษณะใด หรือโดยวิธีการใด และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร

องค์ประกอบของค่าจ้าง

  • 1. เป็นตัวเงิน
  • 2. นายจ้างเป็นผู้จ่ายให้แก่ลูกจ้าง
  • 3. เพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้างในวันและเวลาทำงานปกติ นอกจากนี้ยังหมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างในวันหยุด และวันลา ที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วย

ดังนั้น เงินใดก็ตามที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้าง หากเป็นไปตามองค์ประกอบดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่านายจ้างจะเรียกชื่ออย่างไร กำหนด คำนวณ หรือจ่ายในลักษณะใด หรือโดยวิธีการใดก็ตามย่อมเป็นค่าจ้างทั้งสิ้น

ข้อสังเกตเงินที่ไม่ใช่ค่าจ้าง

  • 1.เงินที่นายจ้างจ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้าง เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร ไม่ถือเป็นการตอบแทนการทำงาน
  • 2. เงินที่นายจ้างจ่ายเพื่อจูงในให้ลูกจ้างทำงานให้มาก ทำงานให้ดี หรือจ่ายให้ตอนออกจากงาน เช่น เบี้ยขยัน เงินโบนัส เงินบำเหน็จ เงินสะสม ค่าชดเชย แม้จะมีการจ่ายประจำ ก็ไม่ถือเป็นการตอบแทนการทำงาน
ที่เป็นค่าจ้าง ที่ไม่เป็นค่าจ้าง
– เงินเดือน – ค่าล่วงเวลา
– ค่าครองชีพ – โบนัส, ค่ารักษาพยาบาล
– ค่าตอบแทนการทำงาน – เบี้ยขยัน
ค่ากะ – บิลมาเบิกค่าน้ำมัน
– ค่าจ้างรายวัน – ค่าเบี้ยประชุม
– เงินประจำตำแหน่ง – ค่าจ้างทำของ
– ค่าแรง – เงินรางวัล
  ค่าคอมมิสชั่น

เพิ่มเติม

ค่าคอมมิสชั่น จะนำมารวมคำนวณประกันสังคมหรือไม่ขึ้นอยู่กับลักษณะการจ่าย

ค่าคอมมิสชั่นที่ต้องนำมารวมคำนวณประกันสังคม ต้องเป็นค่าคอมมิสชั่นที่เกิดจากการขายสินค้าต่อชิ้น คำนวณตามจำนวนชิ้นที่ขายได้ ขายได้น้อยก็ได้คอมมิสชั่นน้อย ขายได้มากก็ได้ค่าคอมมิสชั่นมาก

ค่าคอมมิสชั่นที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณประกันสังคม ต้องเป็นค่าคอมมิสชั่นที่กำหนดจากเป้าหรือยอด เช่น ถ้าขายได้ครบ 100 ชิ้นจะได้ค่าคอมมิสชั่น 1,000 บาท หรือถ้าขายได้ถึงเป้าที่กำหนดเช่น กำหนดเป้าการขายไว้ 100,000 บาท จะได้ค่าคอมมิสชั่นจากส่วนที่เกิน 100,000 บาท เป็นต้น

ค่าเช่าบ้าน ไม่ถือเป็นค่าจ้าง

ตย.เช่น บริษัทได้กำหนดให้มีการจ่ายค่าเช่าบ้านให้แก่พนักงานพร้อมกับเงินเดือนในอัตราร้อยละ 15 ของเงินเดือน แต่จะต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละ 2,000 บาท เพื่อเป็นสวัสดิการสำหรับค่าที่พัก โดยบริษัทจะจ่ายให้แก่พนักงานทุกคนและมิได้กำหนด เงื่อนไขว่าพนักงานที่จะมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านจะต้องเป็นผู้ที่เช่าบ้านอาศัยอยู่จริง การจ่ายค่าเช่าบ้านดังกล่าวถือได้ว่าบริษัทมีเจตนาที่จะจ่ายค่าเช่าบ้านเพื่อเป็นสวัสดิการช่วยเหลือเป็นค่าเช่าที่พักแก่พนักงาน มิได้มีเจตนาจ่ายให้แก่พนักงานเพื่อตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ จึงมิใช่ค่าจ้าง ………….

ค่าตำแหน่ง ถือเป็นค่าจ้าง
บริษัทกำหนดให้มีการจ่ายเงินค่าตำแหน่งให้เฉพาะพนักงานตำแหน่งระดับโฟร์แมน ในอัตราเดือนละ 2,000 บาท โดยจ่ายให้พร้อมกับเงินเดือน  เงินค่าตำแหน่งจึงป็นเงินที่บริษัทจ่ายเพิ่มจากค่าจ้างปกติที่พนักงานตำแหน่งระดับโฟร์แมนได้รับอยู่แล้ว โดยมีการจ่ายให้เป็นประจำทุกเดือน และมีจำนวนเงินแน่นอน และเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ จึงเป็นค่าจ้าง……………..

ค่าอาหาร ไม่ถือเป็นค่าจ้าง

ตย.เช่น บริษัทได้กำหนดให้มีการจ่ายเงินค่าอาหารเพื่อเป็นสวัสดิการแก่พนักงานทุกคน โดยจ่ายพร้อมกับเงินเดือนในอัตราคนละ 250 บาทต่อเดือน และจ่ายให้ทุกวันที่ 25 ของเดือน การจ่ายเงินค่าอาหารดังกล่าวถือได้ว่า บริษัทมีวัตถุประสงค์ในการจ่ายเพื่อให้ความสงเคราะห์และช่วยเหลือพนักงานเพื่อการใช้จ่ายเป็นค่าอาหาร อันมีลักษณะเป็นการให้สวัสดิการแก่พนักงาน มิได้จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ จึงมิใช่ค่าจ้าง ตามนัยคำพิพากษาฏีกาที่ 1717/2530…………….

ค่ากะ ที่ถือเป็นค่าจ้าง
บริษัทกำหนดระยะเวลาการทำงานของพนักงานออกเป็น 3 กะดังนี้
กะเช้า    ตั้งแต่เวลา  06.00 – 14.00 น.
กะบ่าย  ตั้งแต่เวลา  14.00  -  22.00 น.
กะดึก    ตั้งแต่เวลา  22.00  – 06.00 น.
และได้กำหนดลักษณะการจ่ายเงินค่ากะ ดังนี้

1.      จ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการช่วยเหลือพนักงานที่ต้องทำงานในระหว่างการทำงานกะ
2.      จ่ายเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกี่ยวกับค่าอาหารของพนักงานในระหว่างการทำงานกะ
3.      จ่ายเงินค่ากะให้แก่พนักงานฝ่ายผลิตที่เข้าทำงานกะเท่านั้น
4.      จ่ายให้เป็นรายเดือน เดือนละ 1 ครั้งพร้อมเงินเดือน
5.      จ่ายตามตำแหน่ง คือ พนักงานโอเปอร์เรเตอร์เดือนละ 600 บาท พนักงานโฟร์ แมน เดือนละ 800 บาท

เงินค่ากะที่บริษัทจ่ายให้แก่พนักงานดังกล่าวถือได้ว่าเป็นค่าจ้าง เนื่องจากเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติและจ่ายให้เป็นการประจำและเป็นจำนวนที่แน่นอน  การที่บริษัทได้กำหนดเงื่อนไขการจ่ายว่าเป็นการจ่ายเพื่อ สวัสดิการและช่วยเหลือค่าอาหารนั้น ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อสนับสนุนว่าเงินค่ากะมิใช่ค่าจ้างได้ เพราะเมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่ากะแล้ว ปรากฏว่ามีองค์ประกอบการจ่ายเป็นไปตามนิยามของคำว่า “ค่าจ้าง” คือเป็นเงินที่ นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ………….