Company | รับทำเงินเดือน - Part 3 Company | รับทำเงินเดือน - Part 3

จดทะเบียนบริษัทภายใน 1 วัน จากเดิมใช้เวลา 8 วัน จริงหรือ?

เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ได้ออกเอกสาร “การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทภายในวันเดียว” ทำให้มีผู้ประกอบการหลายคนเข้าใจไปตามนั้น มีคนโทรมาถามว่าถ้าส่งเอกสาร (สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน) ให้วันนี้ พรุ่งนี้จดทะเบียนบริษัทได้เลยหรือเปล่า คำตอบก็คือ “ไม่ได้” หลายคนก็สงสัยว่าทำไมไม่ได้ ในเมื่อกระทรวงพาณิชย์บอกเองว่า สามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทภายใน 1 วันได้

เราลองมาดูคำอธิบายเพิ่มเติมกันนะครับ

แต่เดิมการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ต้องใช้เวลาในการจด 2 วัน (หรือ 2 ครั้ง) ครั้งแรก ต้องจดหนังสือบริคณห์สนธิก่อน หลังจากนั้นจึงออกหนังสือนัดประชุมตั้งบริษัท โดยต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน หลังการประชุมแล้ว จึงมาขอจดทะเบียนตั้งบริษัทในครั้งที่ 2 หรือรวมระยะเวลาในการจดห่างจากครั้งแรก รวมเป็น 8 วัน

ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ได้ยกเลิกการแยกจดหนังสือบริคณห์สนธิกับการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแล้ว โดยให้นำเอกสารทั้งสองส่วนที่แยกกันจด มาจดพร้อมกันในวันเดียว จึงกลายเป็นว่าสามารถจดทะเบียนบริษัทเสร็จภายใน 1 วัน ซึ่งหมายความว่า เมื่อเอกสารทุกอย่างจัดเตรียมพร้อมแล้วสามารถนำไปจดที่กระทรวงพาณิชย์ให้เสร็จได้ภายในวันเดียว (แต่เอกสารต้องถูกต้อง ครบถ้วนนะครับ)

ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทให้เสร็จภายในวันเดียว เรามาดูก่อนว่า ต้องทำยังไงบ้าง แล้วใช้เวลากี่วันกันแน่?

  1. จองชื่อนิติบุคคล (ชื่อบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด) เนื่องจากชื่อนิติบุคคลซ้ำกันไม่ได้ ดังนั้นเราจึงต้องมีชื่อนิติบุคคลก่อน โดยตั้งชื่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ส่งให้นายทะเบียนตรวจสอบก่อน (ยืนขอทางอินเตอร์เน็ตก็ได้) ขั้นตอนนี้ใช้เวลาเฉลี่ยแล้วประมาณ 2 วัน (บางทีก็มากกว่า 2 วัน) ถ้าชื่อที่ขอไม่ผ่าน ก็ต้องจองใหม่
  2. หลังจากได้ชื่อนิติบุคคลแล้ว ก็มาจัดเตรียมเอกสารรวมทั้งจัดทำตรายาง ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 1 วัน
  3. ส่งเอกสารให้ผู้ประกอบการเซ็น (ผู้ถือหุ้นและกรรมการต้องเซ็นทุกคน) ขั้นตอนนี้ไม่แน่นอนบางทีก็ใช้เวลาวันเดียว บางทีก็ต้องทิ้งเอกสารไว้ 2-3 วันก็มี
  4. ไปจดทะเบียนที่กระทรวงพาณิชย์ อีก 1 วัน

เพราะฉะนั้นเมื่อรวมทุกขั้นตอนแล้ว เร็วสุดก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 4 วันครับ

เรามาดูปัญหาที่พบบ่อยๆ ในการจดทะเบียนบริษัทที่ทำให้ไม่สามารถจดทะเบียนบริษัทได้ (นายทะเบียนปฏิเสธ) การจดทะเบียนเนื่องจากเหตุผลดังนี้

  • ตรายางผิด ใช้คำย่อ หจก. บจก. หรือ ตัวอักษรเล็กมากแล้วใช้ตัวอักษรแบบพิเศษ เวลาปั๊มมาทำให้ตัวอักษรบางตัวเพี้ยนไป เช่น r s เวลาปั๊มมาจะเป็น เส้นตรง ฯลฯ
  • บัตรประชาชนไม่ชัด ภาพถ่ายดำมองไม่เห็นหน้า วันออกบัตร วันหมดอายุ อ่านไม่ออก (ไม่รู้ว่าบัตรหมดอายุหรือยัง) หรือชื่อที่อยู่อ่านไม่ออก (ตรวจสอบที่อยู่ไม่ได้)

ผู้เขียน: เกียรติชัย

การให้บริการเริ่มต้นธุรกิจ ณ จุดเดียว (Single Point)

วันที่ 19 สิงหาคม 2553

เรื่อง การให้บริการเริ่มต้นธุรกิจ ณ จุดเดียวกัน (Single Point)ในโครงการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลการเริ่มต้นธุรกิจ (e- Starting Business

การให้บริการเริ่มต้นธุรกิจ ณ จุดเดียวกัน (Single Point)

โครงการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลการเริ่มต้นธุรกิจ (e- Starting Business)

———————————————————————————————

1. ที่มา และแนวทางความร่วมมือดำเนินการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลการเริ่มต้นธุรกิจ (e- Starting Business)

1.1 ตามที่รัฐบาลมีนโยบายด้านเศรษฐกิจในการเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันและการสร้างความ เชื่อมั่นด้านการลงทุน ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 ได้เห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการปรับปรุงกระบวนการให้บริการเพื่อเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจภายในประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งตามรายงานผลการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ของธนาคารโลก (World Bank) ในปี 2553 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในลำดับที่ 12 จากจำนวน 183 ประเทศ รัฐบาลจึงมีนโยบายที่ต้องการให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่ง่ายต่อการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) อันจะส่งผลต่อการจัดอันดับของประเทศไทยให้สูงขึ้นจากเดิมในลำดับที่ 12 เป็นลำดับที่ 9 ของโลก

1.2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประสานความร่วมมือกับกรมสรรพากร และสำนักงานประกันสังคม ซึ่งเป็น 3 หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการเริ่มต้นธุรกิจ โดยได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 เพื่อพัฒนาระบบออกเลขทะเบียนของทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ เลขทะเบียนนิติบุคคล (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (กรมสรรพากร) และเลขที่บัญชีนายจ้าง (สำนักงานประกันสังคม)

1.3 โครงการดังกล่าวได้กำหนดแนวทางดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 การให้บริการ ณ จุดเดียวกัน (Single Point) การใช้แบบฟอร์มร่วมกัน (Single Form) การใช้เอกสารประกอบชุดเดียวกัน(Single Document) โดยให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้บริการจดทะเบียนนิติบุคคล ขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร และเลขที่บัญชีนายจ้าง

ระยะที่ 2 การใช้ระบบเลขทะเบียนเดียวกัน (Single Number) ทั้ง 3 หน่วยงาน กำหนดแล้วเสร็จปี 2554

ขณะนี้ระยะที่ 1 ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และได้จัดให้มีมีพิธีเปิดบริการเริ่มต้นธุรกิจ ณ จุดเดียวกัน (Single Point) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2553 โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ได้กรุณาให้เกียรติเป็นประธาน

2.การให้บริการ Single Point

  1. สามารถเปิดให้บริการ ณ จุดเดียวกัน(Single Point) ณ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง(สนามบินน้ำ) ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2553
  2. สามารถเปิดให้บริการ ณ จุดเดียวกัน (Single Point) ในเขตกรุงเทพมหานคร ณ สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 1-5 (ปิ่นเกล้า, พระราม 6, รัชดาภิเษก, สีลม, สุรวงศ์) และสำนักงานสาขา (หอการค้าไทย, ศูนย์ส่งออกเบ็ดเสร็จ และศูนย์ OSOS) ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2553
  3. กำหนดเปิดให้บริการ ณ จุดเดียวกัน (Single Point) ในส่วนภูมิภาค ณ สำนักพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดทั้ง 75 จังหวัด ในวันที่ 1 ตุลาคม 2553

3.ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการฯ

  1. ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ
    1. ลดขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจจาก 7 ขั้นตอน เหลือ 5 ขั้นตอน
    2. ลดระยะเวลาการจดทะเบียนเริ่มต้นธุรกิจจาก 4 วัน เหลือ 90 นาที
    3. ประหยัดเวลาของประชาชนที่ต้องติดต่อ 3 หน่วยงาน เหลือ 1 หน่วยงาน
    4. ผู้ประกอบการที่ขอจดจัดตั้งนิติบุคคลจะได้รับเลขทะเบียนนิติบุคคลพร้อมเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร และเลขที่บัญชีนายจ้าง ทั้งนี้เลขทะเบียนนิติบุคคลจะเป็นเลขเดียวกัน กับเลขที่บัญชีนายจ้าง ซึ่งมีผลทางกฎหมายเมื่อผู้ประกอบการมีลูกจ้างเท่านั้น
  2. ประโยชน์ที่ประเทศชาติได้รับ
    1. เป็นประเทศที่ง่ายต่อการเริ่มต้นธุรกิจ
    2. เป็นจุดเริ่มต้นการบูรณาการของภาครัฐในการให้บริการแบบ Single Point อย่างแท้จริง
    3. เป็นจุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ
    4. ใช้ทรัพยากรของรัฐอย่างคุ้มค่า เช่น บุคลากร เทคโนโลยี
    5. ลดการใช้กระดาษ (Less Paper)
    6. นำไปสู่ e-Government

สำนักทะเบียนธุรกิจ
ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทะเบียนธุรกิจ

DBD E-Newsletter

คำแนะนำการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายของห้างหุ้นส่วนจำกัด

  1. ป้ายชื่อ ดวงตรา และเอกสารของห้างฯ จะต้องมีคำว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” หรือ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” ตามประเภทของห้างฯ
  2. การลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนต้องถูกต้องตามความเป็นจริงและตรงกับรายการที่ขอจดทะเบียน
  3. หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำบัญชี งบการเงิน และการนำส่งงบการเงินตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
    1. การจัดทำบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล และห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
      1. จัดให้มีผู้ทำบัญชีที่มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าประกาศ กล่าวคือ ผู้ทำบัญขีของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่ง ณ วันปิดบัญชีในรอบปีบัญชีที่ผ่านมามีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท สินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท และรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท ต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าอนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทางการบัญชีหรือเทียบเท่าจากสถานการศึกษา ซึ่งทบวงมหาวิทยาลับหรือคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) หรือ กระทรวงศึกษาธิการเทียบว่าไม่ต่ำกว่าอนุปรญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวส.) ทางการบัญชี แต่ถ้าห้างฯ มีทุนจดทะเบียนหรือสินทรัพย์รวมหรือรายได้รวมรายการใดรายหนึ่งเกินกว่าที่กำหนดข้างต้น ผู้ทำบัญชีต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชีหรือเทียบเท่าจากสถาบันการศึกษาซึ่งทบวงมหาวิทยาลัยหรือคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) หรือกระทรวงศึกษาธิการเทียบว่าไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชี
      2. จัดทำและรวบรวมเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีเพื่อเป็นหลักฐานในการบันทึกบัญชีและส่งมอบให้ผู้ทำบัญชีให้ถูกต้องครบถ้วน
      3. ควบคุมดูแลผู้ทำบัญชีให้จัดบัญชีให้ตรงต่อความเป็นจริงและถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้บัญชีที่จัดทำขึ้นแสดงผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน หรือการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงิน ตามความเป็นจริงและตามมาตรฐานการบัญชี
    2. เริ่มทำบัญชีนับแต่วันที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยจะต้องจัดทำบัญชีตามที่กำหนดในประกาศกรมทะเบียนการค้า เรื่องกำหนดชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำ ข้อความและรายการที่ต้องมีในบัญชี ระยะเวลาที่ต้องลงรายการในบัญชีและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี พ.ศ.2544
    3. ปิดบัญชีครั้งแรกภายใน 12 เดือนนับแต่วันที่มีหน้าที่จัดทำบัญชี คือนับแต่วันที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย และปิดบัญชีครั้งต่อไปทุกรอบ 12 เดือนนับแต่วันปิดบัญชีครั้งก่อน
    4. จัดทำงบการเงิน โดยมีรายการย่อตามที่กำหนดในแบบ 1 ตามประกาศกรมทะเบียนการค้า เรื่องกำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ.2544 และจัดให้มีผุ้สอบบัญชีอนุญาตตรวจสอบ และแสดงความเห็นต่องบการเงินด้วย เว้นแต่กรณีที่งบการเงินของห้างฯ ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท สินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท และรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท ไม่ต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและการแสดงความเห็นต่องบการเงินที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุดในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2545 เป็นต้นไป
    5. นำส่งงบการเงินภายใน 5 เดือนนับแต่วันที่ปิดบัญชี โดยดำเนินการดังนี้
      1. กรณีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นที่สำนักบริการข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า อาคาร 3 ชั้น 3 ห้อง 30303
      2. กรณีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดอื่น ให้ยื่นที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจจังหวัดที่ธุรกิจตั้งอยู่ หรือยื่นที่สำนักบริการข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า อาคาร 3 ชั้น 3 ห้อง 30303  (การยื่นงบการเงิน อาจยื่นโดยตรงต่อเจ้าหน้าที่หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังสถานที่ดังกล่าวข้างต้นพร้อมแนบซองที่จ่าหน้ากลับคืนถึงตัวผู้รับพร้อมผนึกดวงตราไปรษณียากรให้ครบถ้วน)
    6. เก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้ ณ สถานที่ทำการ หรือสถานที่ที่ใช้เป็นที่ทำการผลิตหรือเก็บสินค้าเป็นประจำ หรือสถานที่ที่ใช้เป็นที่ทำงานเป็นประจำ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันปิดบัญชี กรณีที่จำเป็นในการตรวจสอบบัญชีของกิจการประเภทใดประเภทหนึ่ง อธิบดีโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีอาจกำหนดให้เก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้เกิน 5 ปี แต่ไม่เกิน 7 ปีก็ได้
  4. การดำเนินการเกี่ยวกับบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี ที่มีผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีจะต้องขออนุญาตต่อสารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชีประจำสำนักงานบัญชีประจำท้องที่ตามกฎหมายกำหนด มีดังนี้
    1. การขออนุญาตเปลี่ยนรอบปีบัญชี จะต้องยื่นคำขอตามแบบ ส.บช.4 พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานตามที่ได้ระบุไว้ในแบบดังกล่าว เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะเปลี่ยนรอบปีบัญชีได้
    2. การขออนุญาตเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้ ณ สถานที่อื่น จะต้องยื่นคำขอตามแบบ ส.บช.1 พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานตามที่ได้ระบุไว้ในแบบดังกล่าว โดยในระหว่างรอการอนุญาตให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้ ณ สถานที่ที่ยื่นขออนุญาตไปพลางก่อนได้ หากต่อมาได้นำบัญชีหรือเอกสารประกอบการลงบัญชีนั้นทั้งหมด หรือส่วนใดส่วนหนึ่งไปเก็บรักษาไว้ ณ สถานที่ตามข้อ 3.6 ให้แจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง
    3. การแจ้งบัญชีหรือเอกสารประกอบการลงบัญชีสูญหายหรือเสียหาย จะต้องยื่นแบบ ส.บช.2 พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานตามที่ได้ระบุไว้ในแบบดังกล่าวภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบหรือควรทราบถึงการสูญหายหรือเสียหายนั้น
  5. การเปลี่ยนแปลงที่ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล/ห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องไปจดทะเบียน แก้ไขเพิ่มเติมต่อนายทะเบียน ได้แก่
    1. การควบห้างหุ้นส่วน
    2. การเปลี่ยนแปลงห้างหุ้นส่วน (เพิ่มทุน/ลดทุน)
    3. การเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วน
    4. การเปลี่ยนแปลงดวงตราของห้างหุ้นส่วน
    5. การเปลี่ยนแปลงผู้เป็นหุ้นส่วน
    6. การเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการ/ข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการ
    7. การเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ และ/หรือสำนักงานสาขา
    8. การเปลี่ยนแปลงรายการอื่นๆ ที่เห็นสมควรให้ประชาชนทราบ
  6. การเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล/ห้างหุ้นส่วนจำกัด ต้องไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนเช่นกันโดยดำเนินการตามขั้นตอน หลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด จนเสร็จสิ้นการชำระบัญชี และห้างฯ ต้องไปจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีต่อนายทะเบียนด้วย จึงจะถือว่าห้างฯ นั้นเลิกกิจการตามผลของกฎหมายโดยสมบูรณ์

ที่มา..เอกสารประชาสัมพันธ์