กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ | รับทำเงินเดือน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ | รับทำเงินเดือน

การนับอายุการทำงานต่อเนื่อง กรณีได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (0702/8514)

จากข้อหารือในปีก่อน หรือแม้แต่ศูนย์บริการข้อมูลกรมสรรพากร (RD Call Center) ได้เคยตอบเรื่องการนับการทำงานต่อเนื่องว่า ไม่สามารถทำได้ ให้นับได้เฉพาะอายุการทำงานที่ทำงานสุดท้ายเท่านั้น แต่จากข้อหารือนี้พบว่า กรณีย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปยังที่ทำงานใหม่ สามารถนับอายุการทำงานต่อจากที่เดิมได้ (เดิมให้นับอายุสมาชิกกองทุนต่อเนื่องได้เท่านั้นไม่รวมถึงอายุการทำงาน)

เลขที่หนังสือ : กค 0702/8514

วันที่ : 26 กันยายน 2555

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ข้อกฎหมาย : มาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ
๑. นางสาว บ.ทำงานที่ธนาคาร ป. ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๗ และลาออก จากงานเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๙ รวมระยะเวลาทำงาน ๒ ปี ๑๙ วัน ต่อมานางสาว บ. เข้าทำงานที่ธนาคาร ล. เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๙ และได้โอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคาร ป. ไปด้วย และลาออกจากธนาคาร ล. เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๒ รวมระยะ เวลาทำงาน ๓ ปี ๒๑ วัน ในปีภาษี ๒๕๕๒ หลังจากนั้น ได้กลับไปทำงานที่ธนาคาร ป. ตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ จนถึง ปัจจุบัน โดยมิได้โอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคาร ล. (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ) ไปด้วย นางสาว บ. ขอรับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ท. ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ และหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา ๔๘(๕) แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่นำเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ ไปรวมกับเงินได้อื่น นางสาว บ. ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.๙๑) แสดงเงินเดือน จำนวนเงิน ๑,๘๙๓,๙๖๔.๗๔ บาท และเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจาก งานประเภทเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ จำนวนเงิน ๓๓๕,๕๓๔.๘๒ บาท จำนวนเงิน ๓๓๕,๕๓๔.๘๒ บาท (ตามใบแนบ ภ.ง.ด.๙๑) คำนวณแล้วมีภาษีคืนจำนวนเงิน ๖๙,๕๒๖.๕๓ บาท

๒. สท.กรุงเทพมหานคร แจ้งให้นางสาว บ. ไปยื่นแบบ ภ.ง.ด.๙๐ เพิ่มเติม สำหรับภาษีปี ๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ โดยนำเงินเดือนจำนวนเงิน ๑,๘๙๓,๙๖๔.๗๔ บาท และเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรอง เลี้ยงชีพฯ จำนวนเงิน ๓๓๕,๕๓๔.๘๒ บาท รวมเป็นเงินได้ทั้งสิ้น ๒,๒๒๙,๔๔๙.๕๖ บาท มาคำนวณภาษี มีภาษีชำระเพิ่มเติมจำนวนเงิน ๒๑,๖๙๗.๘๔ บาท

๓. ต่อมาวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๓ นางสาว บ. ยื่นคำร้องขอคืนภาษี (ค.๑๐) สำหรับปีภาษี ๒๕๕๒ จำนวนเงิน ๙๑,๒๒๔.๓๗ บาท (๖๙,๕๒๖.๕๓ (ตาม ๑) + ๒๑,๖๙๗.๘๔ (ตาม ๒)) เนื่องจากเงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ จำนวนเงิน ๓๓๕,๕๓๔.๘๒ บาท เลือกเสียภาษีตามมาตรา ๔๘(๕) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากนับอายุ การทำงานต่อกันได้ สท.กรุงเทพมหานคร มีหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรดังกล่าว และนางสาว บ. ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่คืนเงินต่อ สท. กรุงเทพมหานคร ผู้ทำคำสั่งทางปกครอง

แนววินิจฉัย
กรณีตามข้อเท็จจริงนางสาว บ. ได้ลาออกจากธนาคาร ป. และเข้าทำงานกับ ธนาคาร ล. โดยทันทีอย่างต่อเนื่อง ได้โอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปด้วย โดยธนาคาร ป. ไม่ได้จ่ายเงินได้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจาก งานให้แก่นางสาว บ. กรณีดังกล่าว เพื่อวัตถุประสงค์ในการนับอายุการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ นางสาว บ. มีสิทธินับอายุการทำงานที่อยู่กับธนาคาร ป. ต่อเนื่องรวมกับอายุการทำงานที่อยู่กับธนาคาร ล. ได้ ดังนั้น เมื่อนางสาว บ. ลาออกจากธนาคาร ล. และได้รับเงินที่ จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นางสาว บ. ย่อมมีสิทธิเลือกนำเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าว ไปคำนวณเสียภาษีแยกต่าง หากจากเงินได้อื่นตามมาตรา ๔๘(๕) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ ๒(ก) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ( ฉบับที่ ๔๕)ฯ ลงวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕

เลขตู้ : 75/38293

การนับอายุการทำงานต่อเนื่อง กรณีย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ผมมักได้รับการสอบถามเรื่องการนับอายุการทำงานต่อเนื่อง กรณีย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากบริษัทเก่าไปยังบริษัทใหม่เนื่องจากได้ลาออกจากงาน ว่าสามารถนับอายุงานการทำงานต่อเนื่องกันได้หรือไม่ ซึ่งการนับอายุการทำงานต่อเนื่องจะทำให้สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนกรณีทำงานมากกว่า 5 ปี หักลดหย่อนได้ครึ่งหนึ่งและยังใช้สิทธิแยกยื่นภาษีระหว่างเงินเดือนกับเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ด้วย

จากข้อหารือจะพบว่า ไม่สามารถนับอายุการทำงานต่อเนื่องได้ครับ กรณีที่จะนับอายุสมาชิกของกองทุนต่อเนื่องได้ (ไม่ใช่อายุการทำงานต่อเนื่อง) ต้องเป็นกรณีเกษียณอายุเท่านันครับ เช่น ทำงานแค่ 4 ปี (แต่ครบเกษียณอายุ) และเป็นสมาชิกกองทุนมาต่อเนื่องจากทุกบริษัทแล้วรวมกันครบ 5 ปีพอดี แบบนี้ถึงจะเข้าหลักเกณฑ์ครับ

เลขที่หนังสือ : กค 0702(กม.05)/2733

วันที่ : 18 ธันวาคม 2551

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับในปีภาษีอื่นที่มิใช่ปีที่ออกจากงาน

ข้อกฎหมาย : มาตรา 48(5) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 45)

ข้อหารือ
          นาย จ. มีเงินได้ตามมาตรา 40(1) และมาตรา 40(4) แห่งประมวลรัษฎากร และเงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กรณีนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานและเลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้ประเภทอื่น ขอคืนภาษี จำนวน 128,716.65 บาท จากการวิเคราะห์แบบแสดงรายการและตรวจสอบเอกสารที่นาย จ. นำส่ง พบว่า
          1. ปีภาษี 2548 นาย จ. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 คำนวณภาษีตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่ได้รับจากบริษัท ล. ซึ่งนาย จ. ลาออกจากบริษัทดังกล่าว เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 มีอายุงาน 5 ปี 18 วัน โดยได้โอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานบริษัท ล. ไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานบริษัท ฮ. เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2549
          2. ปีภาษี 2550 นาย จ. มีเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
               2.1เงินได้จากบริษัท ฮ. โดยนาย จ. ได้ลาออก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 และได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานบริษัท ฮ. ซึ่งในส่วนของเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมในรายงานการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ระบุว่า นาย จ. สิ้นสุดสมาชิกภาพเนื่องจากลาออก มีอายุสมาชิก 1 ปี 2 เดือน
               2.2เงินได้จากบริษัท อ. นาย จ. ได้นำเงินเดือนที่รับจากบริษัท ฮ. และบริษัท อ. คำนวณภาษีตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนเงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานบริษัท ฮ. นาย จ. นำมาคำนวณภาษีตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร โดยนาย จ. อ้างว่า เงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวเป็นเงินที่รับโอนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนของบริษัท ล. ซึ่งนาย จ. ได้ลาออกเมื่อปี 2548 เนื่องจากมีการคงเงินกองทุนฯ โดยมีอายุงานนับต่อเนื่องรวมทั้งสิ้น 6 ปี 2 เดือน ตามหลักเกณฑ์ในหนังสือ เรื่อง การซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อรองรับการโอนย้ายแรงงาน ลงวันที่ 15 มีนาคม 2547 ซึ่งนาย จ. เห็นว่า เงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวที่นำมาคำนวณภาษี ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงินได้ที่ได้รับจากนิติบุคคลซึ่งไม่ใช่นายจ้าง คือ บริษัท ล. ดังนั้น ผู้จ่ายจึงมิใช่ผู้จ่ายรายเดียวกัน จึงสามารถเลือกคำนวณภาษี ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย
          กรณีนาย จ. ได้ลาออกจากบริษัท ล. ซึ่งมีระยะเวลาการทำงาน 5 ปี 18 วัน และได้เข้าทำงานที่บริษัท ฮ. โดยนาย จ. ได้โอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัท ล. ไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานบริษัท ฮ.นั้น หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการออกจากงานดังกล่าว บริษัท ล. นายจ้างได้จ่ายเงินได้ประเภทเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานให้แก่ นาย จ. แล้ว จะมีผลให้นาย จ. ไม่มีสิทธินับอายุการทำงานที่ทำอยู่กับบริษัท ล. ต่อเนื่องกับบริษัท ฮ. ได้ และนาย จ. ไม่มีสิทธินำเงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับ มาเลือกคำนวณภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่น ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวล รัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(ก) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ เงินได้ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจาก การจ้างแรงงาน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องคำนวณภาษี ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้ : 71/36297

ผู้เขียน..เกียรติชัย ธีรทรัพย์ทวี
(สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 สามารถนำไปใช้โดยอ้างอิงการเชื่อมโยง Link)

space

ลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ตอน..เมื่อถึงเวลายื่นภาษีประจำปี (2 มี.ค. 50)

สวัสดีค่ะ.. ผู้ที่ติดตามอ่านสรรหามาเล่าทุกท่าน ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีแล้วนะ คะ  เชื่อว่าทุกท่านคงจะได้รับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายกันครบถ้วนแล้วใช่ไหมคะ และนั่นหมายความว่าเราพร้อมที่จะยื่นแบบชำระภาษีกันได้แล้วล่ะค่ะ สรรหามาเล่าฉบับนี้ขอนำสาระเกี่ยวกับภาระภาษีของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มาเล่าให้ฟังแบบทุกแง่ทุกมุมเลยค่ะ

สำหรับท่านที่ยังเป็นสมาชิกอยู่ในกองทุน  ท่านสามารถนำเงินที่จ่ายสะสมเข้ากองทุนในปีนั้นมาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษี  แต่หากสมาชิกมีการลงทุนใน  RMF ด้วย เงินที่ได้รับยกเว้นทั้งสองกองทุนรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทค่ะ

สำหรับท่านที่สิ้นสมาชิกภาพและได้รับเงินจากกองทุน ลองพิจารณาดูว่าท่านตรงกับกรณีใดใน 3 กรณีดังนี้

กรณีแรก ถ้าท่านลาออกจากกองทุนโดยไม่ออกจากงาน  ให้ท่านนำเงินที่ได้รับจากกองทุนเฉพาะส่วนที่เป็นเงินสมทบ ผลประโยชน์ของเงินสะสม และผลประโยชน์ของเงินสมทบไปรวมคำนวณกับเงินได้ทุกประเภทเพื่อชำระภาษีเงิน ได้บุคคลธรรมดาประจำปี โดยเงินได้สุทธิจำนวน 150,000 บาทแรกได้รับยกเว้นภาษี

กรณีที่สอง ถ้าท่านลาออกจากงาน ให้ดูว่าท่านมีระยะเวลาทำงานกี่ปี หากท่านมีระยะเวลาทำงานน้อยกว่า 5 ปี ท่านมีหน้าที่เสียภาษีเช่นเดียวกับกรณีแรก  หรือถ้าท่านมีระยะเวลาทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ท่าน สามารถเลือกเสียภาษีโดยนำเงินที่ได้รับจากกองทุนไปรวมคำนวณกับเงินได้ทุก ประเภทเพื่อชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีเช่นเดียวกับกรณีแรก หรือจะไม่นำไปรวมคำนวณกับเงินได้ประเภทอื่นก็ได้ ซึ่งหากท่านไม่นำไปรวมคำนวณ ให้นำเงินที่ได้รับจากกองทุนเฉพาะส่วนที่เป็นเงินสมทบ ผลประโยชน์ของเงินสะสม และผลประโยชน์ของเงินสมทบไปคำนวณภาษี โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เท่ากับ 7,000 บาท คูณจำนวนปีที่ทำงาน เหลือเท่าใดหักได้อีกร้อยละ 50 แล้วคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่มีข้อสังเกตว่าการคำนวณภาษีในกรณีนี้จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ สุทธิจำนวน 150,000 บาทแรก และอย่าลืมกรอกใบแนบ ภงด. 91 หรือ 90 ตามแบบของกรมสรรพากรด้วย ท่านที่ไม่คุ้นเคยกับใบแนบ ลองเข้าไปดูได้ตาม ลิงค์ นี้ได้ค่ะ การกรอกใบแนบก็เพื่อให้สรรพากรทราบว่าท่านเลือกใช้สิทธิแยกคำนวณภาษีค่ะ

กรณีที่สาม ถ้า ท่านเกษียณอายุ  ให้ดูว่าท่านเป็นสมาชิกกองทุนกี่ปี หากเป็นสมาชิกกองทุนน้อยกว่า 5 ปี  เงินที่ท่านได้รับจากกองทุนไม่เข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี จึงต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับกรณีแรก หรือถ้าท่านเป็นสมาชิกกองทุนตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ให้ดูเพิ่มเติมว่าท่านมีอายุขณะเกษียณตั้งแต่ 55 ปี ขึ้นไปหรือไม่ เพราะ เงินที่ได้รับจากกองทุนจะได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวนหากท่านเป็นสมาชิกกองทุน ตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป และมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์

สำหรับท่านที่อยากทราบจำนวนภาษีที่ต้องชำระ  ลองเข้าโปรแกรมช่วยคำนวณภาษีที่อยู่บนเว็บไซต์ thaipvd.com ดูก็ได้ค่ะ คลิก

สำหรับท่านที่ลาออกจากงานโดยขอคงเงินไว้ในกองทุนเดิมเพื่อรอโอนย้ายไปเข้ากองทุนของนายจ้างรายใหม่ กรณีนี้ท่านไม่มีเงินได้เกิดขึ้น  จึงยังไม่มีหน้าที่ยื่นแบบชำระภาษีจากเงินจำนวนดังกล่าว อย่างไรก็ดี หากครบ 1 ปีแล้วยังไม่มาแจ้งว่าให้โอนเงินดังกล่าวไปเข้ากองทุนใหม่  ท่านต้องรับเงินออกจากกองทุนและมีหน้าที่ชำระภาษีจากเงินจำนวนดังกล่าว ส่วนวิธีคำนวณจะเป็นอย่างไร ต้องพิจารณาว่าท่านมีอายุงานกี่ปี โดยพิจารณาแบบเดียวกันกับกรณีที่สอง

ถึงตอนนี้ท่านคงพร้อมที่จะยื่นแบบชำระภาษีกันแล้วใช่ไหมคะ   สรรหามาเล่าจะเสนอสาระเรื่องภาษีของสมาชิกกองทุนที่เกษียณแล้วแต่ได้รับการว่าจ้างให้ทำงานต่อมาเล่าให้ฟังในฉบับต่อๆไป  ติดตามอ่านให้ได้นะคะ.. แล้วพบกันใหม่ สวัสดีค่ะ

ผมเองมีประสบการณ์ในเรื่องนี้ และก็เคยสอบถามถึงการเสียภาษีไปทาง TISCO (ที่ทำงานเก่าใช้ของที่นี่) ซึ่งก็เป็นไปตามบทความ เนื่องจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงินที่หักจากการทำงานบริษัท ถ้าท่านลาออกจากงาน ก็ต้องลาออกจากกองทุนโดยปริยาย แต่ทั้งนี้ท่านสามารถโอนย้ายกองทุนได้ภายใน 1 ปี

Kiatchai Accounting & Payroll รับทำเงินเดือน รับทำบัญชี ในราคาไม่แพง

หมายเหตุ ในส่วนที่เป็นสีแดงคือส่วนที่ผมแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายที่ปรับปรุงในปี 2551

ที่มาบทความ..http://www.thaipvd.com/thaipvd_v3/sunha/article05-50.shtml

ตัวอย่างการการคำนวณภาษี

กรณีที่หนึ่ง ลาออกจากงานและมีอายุงานน้อยกว่า 5 ปี
กรณีนี้จะไม่ได้รับการยกเว้น ต้องเสียภาษีเงินได้ตามปกติ โดยนำ ส่วนของเงินสมทบของนายจ้าง + ผลประโยชน์ของ เงินสะสม + ผลประโยชน์ของเงินสมทบ มารวมเป็นเงินได้ เพื่อเสียภาษี
ตัวอย่างเช่น : สมมติว่ามีสมาชิกลาออกจากกองทุน หลังจากทำงานมาแค่ 4 ปี และได้รับเงินจากกองทุน 150,000 บาท โดยเป็นเงินสะสม 40,000 บาท ดังนั้น เงินได้ที่ต้องนำคำนวณเพื่อเสียภาษี จะเท่ากับ 150,000 – 40,000 = 110,000 บาท

กรณีที่สอง ลาออกจากงานแต่มีอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป
เสียภาษีเงินได้โดยนำส่วนเงินสมทบของนายจ้าง+ผลประโยชน์ จากเงินสะสม + ผลประโยชน์จากเงินสมทบ มาคำนวณเพื่อ เสียภาษี โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ปีละ 7,000 บาท เหลือเท่าใดให้หักค่าใช้จ่ายได้อีกครึ่งหนึ่ง
ตัวอย่างเช่น : สมมติว่ามีสมาชิกลาออกจากกองทุน หลังจาก ที่ทำงานมาแล้ว 6 ปี และได้รับเงินจากกองทุน 250,000 บาท โดยเป็นส่วนของเงินสะสม 50,000 บาท ดังนั้น
เงินได้ที่นำมาคำนวณภาษีได้                                                        200,000
หัก ค่าใช้จ่ายส่วนแรก (7,000 * 6 ปี)                                            (42,000)
คงเหลือ 158,000 หัก ค่าใช้จ่ายส่วนที่ 2 (158,000/2)               (79,000)
คงเหลือเป็นเงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษี                                            79,000