เบี้ยประกันชีวิต | รับทำเงินเดือน เบี้ยประกันชีวิต | รับทำเงินเดือน

ปัญหาค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต

ขอนำประเด็นปัญหาค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 47 (1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร

การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเบี้ย ประกันชีวิตในส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (61) มาเป็นประเด็นปุจฉา – วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

ปุจฉา บริษัทฯ ได้จัดให้มีการประกันชีวิตพนักงานรวมทุกคน (ประกันชีวิตหมู่) และบริษัทฯ เป็นผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าว โดยค่าเบี้ยประกันชีวิตของพนักงาน บริษัทฯ ได้จ่ายไปจริงและสามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ บริษัทฯ สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้ และในส่วนของพนักงานนั้นหากปรากฏว่าพนักงานไม่ได้รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ อันเนื่องมาจากการประกันชีวิตดังกล่าวจากบริษัทฯ ซึ่งเป็นนายจ้างและบริษัทฯ ผู้รับประกันชีวิต ก็ไม่เข้าข่ายเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ที่จะต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด ถูกต้องหรือไม่

วิสัชนา ตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ได้ทำประกันชีวิตและสุขภาพให้แก่พนักงานที่ทำงานมาครบ 3 ปีทุกคน ซึ่งการทำประกันชีวิตดังกล่าวได้รับความยินยอมจากพนักงานเหล่านั้น โดยกรมธรรม์จะทำเพียงฉบับเดียว มิได้แยกเป็นรายบุคคล ระบุชื่อผู้ถือกรมธรรม์ คือ บริษัทฯ และสมาชิกผู้เอาประกันภัยคือ สมาชิกประจำทั้งหมดที่อยู่ปฏิบัติงานเต็มเวลามาแล้วสามปี ในวันที่มีผลบังคับของกรมธรรม์ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปี และต่ำกว่า 65 ปี บริษัทฯ จะปิดประกาศรายละเอียดที่พนักงานจะได้รับสิทธิคุ้มครองไว้ให้พนักงานได้ทราบ พร้อมทั้งเรียกพนักงานตั้งแต่ระดับ SUB LEADER ขึ้นไปมาอธิบายและชี้แจงรายละเอียด เพื่อแจ้งให้พนักงานในบังคับบัญชาได้ทราบต่อไป กรณีพนักงานได้รับอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต ทางบริษัทผู้เอาประกันจะจ่ายค่าชดเชยการเรียกร้องของพนักงานคืนมาให้เป็น เช็คในนามของบริษัทฯ และบริษัทฯ จะเบิกจ่ายเป็นเงินสดให้แก่พนักงานหรือผู้รับผลประโยชน์อีกครั้งหนึ่ง โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ดังนั้น ผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ที่แท้จริง คือ พนักงาน โดยบริษัทฯ เป็นเพียงผู้จ่ายค่าเบี้ยประกันและเบิกจ่ายค่าชดเชยแทนพนักงานเท่านั้น เงินค่าเบี้ยประกันที่บริษัทฯ จ่ายแทนพนักงาน จึงถือเป็นประโยชน์เพิ่มจากการจ้างแรงงานของพนักงาน เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งพนักงานผู้มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขในกรมธรรม์อันเป็นสมาชิกผู้เอาประกัน ภัยแต่ละคน จะต้องนำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตเฉพาะส่วนของตนไปรวมคำนวณกับเงินเดือนเพื่อ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย และกรณีบริษัทฯ จ่ายเงินชำระค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนพนักงาน บริษัทฯ สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811(กม)/795 ลงวันที่ 22 เมษายน 2541) 

อย่างไรก็ตาม นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 เป็นต้นมา ได้มีการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 263 (พ.ศ.2549) เพิ่ม (77) ของข้อ 2 ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) เพื่อกำหนดยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ลูกจ้าง เป็นจำนวนเท่าที่นายจ้างจ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือ บริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มที่มีกำหนดเวลาไม่เกินหนึ่งปี เฉพาะในส่วนที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลสำหรับ

(ก) ลูกจ้าง สามี ภริยา บุพการีหรือผู้สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะการรักษาพยาบาลในประเทศไทย

(ข) ลูกจ้าง ในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ ในขณะที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ในต่างประเทศเป็นครั้งคราว

กล่าวโดยสรุป ค่าเบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มที่มีกำหนดเวลาไม่เกิน หนึ่งปี เฉพาะในส่วนที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล และที่นายจ้างได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 เป็นต้นมา ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ถ้าเป็นการคุ้มครองค่าอย่างอื่นที่มิใช่การรักษาพยาบาล ลูกจ้างจะได้ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ภาษีเบี้ยประกันชีวิต

แต่เดิมเราเคยได้ยินว่า เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทฯ จ่ายให้กรรมการผู้จัดการตามมติที่ประชุมของบริษัทฯ หากเป็นกรณีที่บริษัทฯ ต้องจ่ายให้กับกรรมการทุกคนเป็นการทั่วไปตามระเบียบของบริษัทฯ แล้วบริษัทฯ มีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตที่ออกให้นั้นมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรและเพื่อความสะดวกในการแสดงหลักฐาน ให้บริษัทประกันภัยหมายเหตุไว้ในใบเสร็จรับเงินให้มีข้อความว่าเบี้ยประกันชีวิตที่รับนี้จ่ายโดยบริษัท…

เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทฯ ออกให้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นประโยชน์เพิ่มที่พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทฯ ได้รับ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินจากการจ้างแรงงานที่ต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อไป โดยบริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากเงินได้พึงประเมินดังกล่าวด้วย และหากกรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลา 10 ปีขึ้นไป และบริษัทผู้รับประกันประกอบกิจการในประเทศไทย พนักงานหรือลูกจ้างมีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวไปหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ได้ไม่เกิน 100,000 บาท

อย่างไรก็ตาม กรณีบริษัทฯ ทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคารซึ่งมีข้อกำหนดในสัญญากู้ยืมเงินให้บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้กู้ ต้องทำประกันชีวิตกับบริษัทฯ ที่ประกอบกิจการประกันชีวิต โดยใช้กรมธรรม์ที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้ความคุ้มครองสินเชื่อของธนาคาร โดยกรมธรรม์ดังกล่าวจะกำหนดให้บริษัทฯ เป็นผู้เอาประกันแต่เพียงผู้เดียวและจะผูกเงื่อนไขการชำระค่าสินไหมทดแทนบนสาเหตุมรณกรรมของกรรมการ ทั้งนี้บริษัทประกันชีวิตจะได้รับอนุมัติจากกรมการประกันภัยให้ออกกรมธรรม์โดยระบุชื่อบริษัทฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นผู้เอาประกันได้ และธนาคารฯ จะเป็นผู้ถือกรมธรรม์แต่เพียงผู้เดียว

ในกรณีที่กรรมการถึงแก่ความตาย และบริษัทประกันชีวิตได้รับหลักฐานการพิสูจน์มรณกรรมของกรรมการแล้ว บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ธนาคารฯ เท่ากับจำนวนหนี้ที่ค้างชำระภายใต้สัญญากู้ยืมเงินในฐานะผู้รับประโยชน์ที่ 1 และผลประโยชน์ที่เหลือจะจ่ายให้แก่บริษัทฯ ในฐานะผู้รับประโยชน์ที่ 2 ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว

ทั้งนี้บริษัทฯจะเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันชีวิตจะออกใบเสร็จในนามบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทฯ เป็นคู่สัญญาภายใต้กรมธรรม์และเป็นผู้เอาประกันตามกรมธรรม์

เช่นนี้การทำประกันชีวิตเพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ โดยกรรมการหรือบุคคลในครอบครัวมิได้เป็นผู้รับประโยชน์ใด ๆ จากกรมธรรม์ ดังนั้นเบี้ยประกันภัยที่บริษัทฯ จ่ายไปให้กับบริษัทประกันชีวิต จึงเป็นการจ่ายเพื่อกิจการของบริษัทฯ และไม่ถือเป็นประโยชน์เพิ่มของกรรมการแต่อย่างใด (หนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0706/ 5745 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2550).

ที่มา : Daily News Online
วันที่ : 28 ธันวาคม 2553

เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา หลักเกณฑ์และวิธีการ

สรุปหลักเกณฑ์และวิธีการ

บุตรสามารถนำเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันสุขภาพที่ทำให้แก่บิดามารดา ของตนเองหรือบิดามารดาของคู่สมรสมาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท (หนึ่งหมื่นห้าพันบาท) ทั้งนี้สำหรับการจ่ายเบี้ยประกันตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นไป โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  1. บิดามารดาต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท
  2. ผู้มีเงินได้ต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดา
  3. เริ่มหักค่าลดหย่อนได้ตั้งแต่ปีที่เริ่มทำประกัน
  4. หากบุตรหลายคนร่วมกันทำประกันสุขภาพให้บิดาหรือมารดา ให้เฉลี่ยเบี้ยประกันภัยที่บุตรร่วมกันจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท
  5. ต้องเป็นการทำประกันภัยสำหรับบิดามารดาที่อยู่ในประเทศไทย
  6. ต้องมีใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิต เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนภาษีโดยมีข้อความอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
    1. ชื่อ นามสกุลและเลขประจำตัวประชาชนของผู้เอาประกันภัย
    2. ชื่อ และนามสกุลของผู้จ่ายเบี้ยประกันภัย (ทุกคน)
    3. ชื่อที่อยู่และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทประกันฯ
    4. จำนวนเบี้ยประกันภัยที่ได้สิทธิ และ
    5. ให้ระบุข้อความว่า ” สามารถนำไปยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเงิน …….. บาท “

ที่มา..ประกาศของกรมสรรพากร ฉบับที่ 162

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 162)

เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ  เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ย ประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้

_______________

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 (76) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 263 (พ.ศ. 2549) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ย ประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกัน ภัย สำหรับการประกันสุขภาพ ให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราช อาณาจักร เพื่อเอาประกันภัยสำหรับบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ตามจำนวนเบี้ยประกันภัยที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ในปีภาษีนั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ต้องเป็นการทำประกันสุขภาพให้กับบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ซึ่งบิดาหรือมารดาดังกล่าวแต่ละคนมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอยกเว้น ภาษีเงินได้ไม่เกินสามหมื่นบาท

(2) ผู้มีเงินได้หรือสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้จะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ของบิดามารดาที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิขอยกเว้นภาษีเงินได้จากการทำประกัน สุขภาพสำหรับบิดามารดาดังกล่าว

(3) ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้กรณีการทำประกันสุขภาพสำหรับบิดามารดาดังกล่าว ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะได้รับยกเว้นภาษีนั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่

(4) กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันทำประกันสุขภาพสำหรับบิดามารดาดังกล่าว ให้ผู้มีเงินได้ทุกคนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้โดยเฉลี่ยเบี้ยประกันภัยที่ผู้ มีเงินได้ร่วมกันจ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้

(5) กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้สามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนเบี้ย ประกันภัยที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท

(6) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ดังนี้

(ก) ถ้าความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ให้ สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตาม จำนวนเบี้ยประกันภัยที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท

(ข) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และ ภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ตามจำนวนเบี้ยประกันภัยที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท

(ค) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และ ภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ตามจำนวนเบี้ยประกันภัยที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท

(7) กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ เฉพาะการทำประกันภัยสำหรับบิดามารดาที่อยู่ในประเทศไทย

ข้อ 2 การประกันสุขภาพตามข้อ 1 ให้หมายถึง

(1) การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บ ป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ

(2) การประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก

(3) การประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses)

(4) การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)

ข้อ 3 การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิต หรือบริษัทประกันวินาศภัย โดยต้องมีข้อความอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวประชาชนของผู้เอาประกันภัย

(2) ชื่อ และนามสกุลของผู้จ่ายเบี้ยประกันภัย (ทุกคน)

(3) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้รับประกันภัย

(4) จำนวนเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพตามข้อ 2

(5) จำนวนเงินที่มีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้

ข้อ 4 การได้รับยก เว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ไปคำนวณหักจากเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

ข้อ 5 ในกรณีมีปัญหาในทางปฏิบัติ ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจวินิจฉัยและคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรให้ถือ เป็นหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามประกาศนี้ด้วย

ข้อ 6 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป

ประกาศ  ณ  วันที่ 26 ธันวาคม  พ.ศ. 2549

พิชาติ  เกษเรือง

(นายพิชาติ  เกษเรือง)

รองอธิบดี  รักษาราชการแทน

อธิบดีกรมสรรพากร