ผู้ประกอบการจดทะเบียนไปเช่าที่ดินแล้วนำที่ดินแปลงนั้นให้ลูกค้าเช่าต่อ แต่ ได้ไปทำเรื่องขอน้ำประปาและไฟฟ้าเพื่อขายต่อให้กับลูกค้า เมื่อการประปาและ การไฟฟ้าออกใบกำกับภาษีระบุชื่อผู้ประกอบการเจ้าของที่ดิน แต่ที่อยู่นั้นระบุตามสถานที่ที่ติดตั้งมิเตอร์น้ำประปาและมิเตอร์ไฟฟ้า ผู้ ประกอบการจะนำใบกำกับภาษีซื้อค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้ามาใช้อย่างไรจึงจะไม่ถูกประเมินภาษีในภายหลัง ตอบง่าย ๆ (แต่คิดนานมาก)ว่า
1. สถานที่ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนไปเช่าจะต้องเป็นสถานประกอบการ (สาขา)ที่จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ให้ดูมาตรา 77/1(20) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้ให้ความหมายของคำว่า “สถาน ประกอบการ” หมายถึง สถานที่ซึ่งใช้ประกอบกิจการเป็นประจำ สถานที่เก็บสินค้าเป็นประจำ สถานที่ผลิตสินค้าเป็นประจำ ถ้าหากเป็นสถานประกอบการแล้ว จะต้องยื่นแบบ ภ.พ.09 ขอเปิดสถานประกอบการเพิ่มเติมเป็นเวลา 15 วันก่อนเปิด ตามมาตรา 85 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถ้าไม่ใช่สถานประกอบการ ก็ไม่ต้องแจ้ง
ผลของการเป็นสถานประกอบการก็คือ ผู้ประกอบการฯ จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม(ภ.พ.30) ของสถานประกอบการนั้นเป็นรายเดือนภาษีตามมาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องจัดทำรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย รายงานสินค้าและวัตถุดิบ เป็นรายสถานประกอบการตามมาตรา 87 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องออกใบกำกับภาษีขายระบุที่อยู่ของสถานประกอบการที่ขาย สินค้าหรือให้บริการ และต้องนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซื้อที่ระบุที่อยู่ของสถานประกอบการนั้น ไปคำนวณหักออกจากภาษีขายของสถานประกอบการนั้น จะนำไปใช้ที่อื่นไม่ได้ แต่ ถ้าไม่เป็นสถานประกอบการ ก็ไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการยื่นแบบ ภ.พ.30 การจัดทำรายงานภาษี ส่วนภาษีซื้อที่ระบุที่อยู่ของสถานที่ซึ่งไม่ใช่สถานประกอบการ ก็ให้นำไปรวมคำนวณภาษีกับสำนักงานใหญ่ได้
ถ้าอย่างนั้นสถานที่เช่าดังกล่าวถือเป็นสถานประกอบการหรือไม่? ถ้าสถานที่ นั้นมีการประกอบกิจการขายน้ำประปา ไฟฟ้า โดยมีผู้ติดต่อทำการขายน้ำประปาและ ไฟฟ้า ก็ต้องไปจดเพิ่มสถานประกอบการ แต่ถ้าการขายน้ำขายไฟฟ้าเกิดขึ้นที่ สำนักงานใหญ่ โดยสถานที่เช่าไม่มีผู้ดำเนินงานของผู้ประกอบการเลย กรณีนี้ ย่อมไม่ใช่สถานประกอบการ เมื่อไม่ใช่สถานประกอบการ ภาษีซื้อค่าน้ำประปา ไฟฟ้า ก็ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของสำนักงานใหญ่ แม้ที่อยู่ตามใบกำกับภาษีจะไม่ใช่ที่อยู่ของสำนักงานใหญ่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวกรมสรรพากรก็มีแนวทางปฏิบัติไว้ตามข้อ 15 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.86/2542ฯ ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ดังนี้
(1) บริษัท ก.จำกัด มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เขตพญาไท ประกอบกิจการให้เช่าอาคารสำนักงานซึ่งตั้งอยู่เขตบางพลัด บริษัทฯ ไม่ได้ใช้พื้นที่ของอาคารที่ให้เช่าเป็นสถานประกอบการ แต่บริษัทฯ ให้บริการสาธารณูปโภคแก่ผู้เช่า บริษัทฯ ขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์ ณ อาคารที่ให้เช่า รัฐวิสาหกิจที่ให้บริการสาธารณูปโภค จัดทำใบกำกับภาษีในนามของบริษัทฯ แต่ระบุที่อยู่ตามอาคารที่ให้เช่า บริษัทฯ มีสิทธินำใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานใหญ่ได้ บริษัทฯ เรียกเก็บค่าบริการและภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้เช่า บริษัทฯ ต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยระบุที่อยู่ของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่
(2) บริษัท ข.จำกัด ประกอบกิจการผลิตปลากระป๋อง มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เขตบางซื่อ มีสำนักงานอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่ จังหวัดระยอง บริษัทฯ ก่อสร้างโรงงานที่จังหวัดระยอง โดยมอบหมายให้สำนักงานที่จังหวัดระยองดำเนิน งานด้านการก่อสร้างและจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการก่อสร้าง บริษัทฯ ขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ประปา ณ สถานที่ก่อสร้าง รัฐวิสาหกิจที่ให้บริการสาธารณูปโภคจัดทำใบกำกับภาษีในนามของบริษัทฯ แต่ระบุที่อยู่ ณ สถานที่ก่อสร้าง บริษัทฯ มีสิทธินำใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานที่จังหวัดระยองได้
2.ภาษีซื้อของสถานประกอบการใด ก็ต้องนำไปถือเป็นภาษีซื้อของสถานประกอบการนั้น หลักในข้อนี้ใช้สำหรับกรณีมีสถานประกอบการหลายแห่ง ต้องนำภาษีซื้อไปใช้ให้ถูกที่ถูกทาง โดยให้ดูที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือบริการตามที่ปรากฏในใบกำกับภาษีซื้อว่าเป็นของสถานประกอบการใด ก็ให้สถานประกอบการนั้นนำไปใช้ ถ้า ใช้ผิดที่จะมีผลทำให้สถานประกอบการหนึ่งยื่นภาษีซื้อไว้ขาดไป อีกสถานประกอบ การหนึ่งก็ยื่นภาษีซื้อไว้เกินไป ทำให้มีภาระในการขอคืนแห่งหนึ่ง และจะถูก ประเมินภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มในอีกแห่งหนึ่ง สร้างภาระทั้ง 2 ด้าน โดยไม่ใช่เหตุ
จากที่กล่าวมาคงพอจะวิเคราะห์ได้ว่าทำอย่างไรจึงจะใช้ใบกำกับภาษีซื้อให้ถูกที่ถูกทาง แต่ก็ต้องระวังภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย เพราะไม่ว่าจะนำไปใช้ให้ถูกที่อย่างไรก็มีความผิดทั้งสิ้น
———————————————————————–
ที่มา : สรรพากรสาส์น ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2553
ความเห็นล่าสุด