อนุมัติปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2556 | รับทำเงินเดือน อนุมัติปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2556 | รับทำเงินเดือน

อนุมัติปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2556

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติมาตรการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อส่งเสริมความเป็นธรรม และให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

โดยสาระสำคัญของมาตรการดังกล่าวเพื่อเป็นการปรับปรุงบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิม 5 ขั้น เป็น 7 ขั้นอัตรา และลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากอัตราสูงสุดที่ร้อยละ 37 เหลือร้อยละ 35

สำหรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาฉบับใหม่ แบ่งเป็น
– ผู้มีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 0- 300,000 บาท กำหนดอัตราภาษีไว้ที่ร้อยละ 5  โดยในส่วนนี้กระทรวงการคลังจะกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีดังกล่าวสำหรับผู้มีเงินได้สุทธิ 0-150,000 บาทแรก โดยการตราพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีไว้เหมือนเช่นเดิมในลำดับต่อไป
– ผู้มีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 300,001-500,000 บาท กำหนดอัตราภาษีไว้ที่ร้อยละ 10
– ผู้ที่มีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 500,001-750,000 บาท กำหนดอัตราภาษีที่ร้อยละ 15 จากเดิมที่ร้อยละ 20
– ผู้มีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 750,001-1,000,000 บาท กำหนดอัตราภาษีที่ร้อยละ 20
– ผู้มีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 1,000,001-2,000,000 บาท กำหนดอัตราภาษีที่ร้อยละ 25 จากเดิมที่ร้อยละ 30
– ผู้มีเงินได้สุทธิที่ 2,000,001-4,000,000 บาท กำหนดอัตราภาษีที่ร้อยละ 30
– ผู้มีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 4,000,001 บาท ขึ้นไป กำหนดอัตราภาษีไว้ที่ร้อยละ 35 จากเดิมที่ร้อยละ 37

ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2556 ที่จะต้องยื่นรายการในปี 2557 เป็นต้นไป สำหรับมาตรการฯ นี้คาดว่าจะกระทบรายได้รัฐในปีงบประมาณ 56 ราว 25,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคในการใช้สิทธิยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยมาตรการดังกล่าวเป็นการแก้ไขหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภริยา ดังนี้

ให้สิทธิผู้เสียภาษีเลือกยื่นรายการและเสียภาษี โดยจะยื่นรายการและเสียภาษีรวมกันหรือแยกต่างหากจากคู่สมรสก็ได้ ซึ่งต่างจากเดิมที่กำหนดให้ถือเงินได้ของภริยาเป็นเงินได้ของสามีและให้สามีเป็นผู้ยื่นรายการและเสียภาษี โดยภริยาจะสามารถแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีได้เฉพาะเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) อันได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง เท่านั้น

ส่วนค่าลดหย่อนการเลี้ยงดูบุตรนั้น คู่สมรสสามารถนำมาหักค่าลดหย่อนได้เต็มจำนวนทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งกรณีที่คู่สมรสอยู่ร่วมกัน หรือหย่าร้างกัน

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังได้วิเคราะห์ผลกระทบของมาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อรายได้ภาษีอากรในปีงบประมาณ 2556 ประมาณ 7,000 ล้านบาท

ดังนั้นรัฐบาลจะสูญเสียรายได้จากปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาใหม่นี้ รวมเป็นจำนวนเงิน 3.2 หมื่นล้านบาท

ข้อมูลจาก สำนักข่าวไทย / suthichaiyoon.com

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.