ปัญหาค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต | รับทำเงินเดือน ปัญหาค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต | รับทำเงินเดือน

ปัญหาค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต

ขอนำประเด็นปัญหาค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 47 (1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร

การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเบี้ย ประกันชีวิตในส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (61) มาเป็นประเด็นปุจฉา – วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

ปุจฉา บริษัทฯ ได้จัดให้มีการประกันชีวิตพนักงานรวมทุกคน (ประกันชีวิตหมู่) และบริษัทฯ เป็นผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าว โดยค่าเบี้ยประกันชีวิตของพนักงาน บริษัทฯ ได้จ่ายไปจริงและสามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ บริษัทฯ สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้ และในส่วนของพนักงานนั้นหากปรากฏว่าพนักงานไม่ได้รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ อันเนื่องมาจากการประกันชีวิตดังกล่าวจากบริษัทฯ ซึ่งเป็นนายจ้างและบริษัทฯ ผู้รับประกันชีวิต ก็ไม่เข้าข่ายเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ที่จะต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด ถูกต้องหรือไม่

วิสัชนา ตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ได้ทำประกันชีวิตและสุขภาพให้แก่พนักงานที่ทำงานมาครบ 3 ปีทุกคน ซึ่งการทำประกันชีวิตดังกล่าวได้รับความยินยอมจากพนักงานเหล่านั้น โดยกรมธรรม์จะทำเพียงฉบับเดียว มิได้แยกเป็นรายบุคคล ระบุชื่อผู้ถือกรมธรรม์ คือ บริษัทฯ และสมาชิกผู้เอาประกันภัยคือ สมาชิกประจำทั้งหมดที่อยู่ปฏิบัติงานเต็มเวลามาแล้วสามปี ในวันที่มีผลบังคับของกรมธรรม์ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปี และต่ำกว่า 65 ปี บริษัทฯ จะปิดประกาศรายละเอียดที่พนักงานจะได้รับสิทธิคุ้มครองไว้ให้พนักงานได้ทราบ พร้อมทั้งเรียกพนักงานตั้งแต่ระดับ SUB LEADER ขึ้นไปมาอธิบายและชี้แจงรายละเอียด เพื่อแจ้งให้พนักงานในบังคับบัญชาได้ทราบต่อไป กรณีพนักงานได้รับอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต ทางบริษัทผู้เอาประกันจะจ่ายค่าชดเชยการเรียกร้องของพนักงานคืนมาให้เป็น เช็คในนามของบริษัทฯ และบริษัทฯ จะเบิกจ่ายเป็นเงินสดให้แก่พนักงานหรือผู้รับผลประโยชน์อีกครั้งหนึ่ง โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ดังนั้น ผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ที่แท้จริง คือ พนักงาน โดยบริษัทฯ เป็นเพียงผู้จ่ายค่าเบี้ยประกันและเบิกจ่ายค่าชดเชยแทนพนักงานเท่านั้น เงินค่าเบี้ยประกันที่บริษัทฯ จ่ายแทนพนักงาน จึงถือเป็นประโยชน์เพิ่มจากการจ้างแรงงานของพนักงาน เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งพนักงานผู้มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขในกรมธรรม์อันเป็นสมาชิกผู้เอาประกัน ภัยแต่ละคน จะต้องนำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตเฉพาะส่วนของตนไปรวมคำนวณกับเงินเดือนเพื่อ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย และกรณีบริษัทฯ จ่ายเงินชำระค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนพนักงาน บริษัทฯ สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811(กม)/795 ลงวันที่ 22 เมษายน 2541) 

อย่างไรก็ตาม นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 เป็นต้นมา ได้มีการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 263 (พ.ศ.2549) เพิ่ม (77) ของข้อ 2 ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) เพื่อกำหนดยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ลูกจ้าง เป็นจำนวนเท่าที่นายจ้างจ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือ บริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มที่มีกำหนดเวลาไม่เกินหนึ่งปี เฉพาะในส่วนที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลสำหรับ

(ก) ลูกจ้าง สามี ภริยา บุพการีหรือผู้สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะการรักษาพยาบาลในประเทศไทย

(ข) ลูกจ้าง ในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ ในขณะที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ในต่างประเทศเป็นครั้งคราว

กล่าวโดยสรุป ค่าเบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มที่มีกำหนดเวลาไม่เกิน หนึ่งปี เฉพาะในส่วนที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล และที่นายจ้างได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 เป็นต้นมา ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ถ้าเป็นการคุ้มครองค่าอย่างอื่นที่มิใช่การรักษาพยาบาล ลูกจ้างจะได้ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.