การบัญชีภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร | รับทำเงินเดือน การบัญชีภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร | รับทำเงินเดือน

การบัญชีภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

ในการประกอบธุรกิจต่างๆ นั้น โดยทั่วไปผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชี ตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี หรือ พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 เป็นปกติอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์ในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรของกรมสรรพากร โดยเฉพาะตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร และผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย บางกรณีต้องจัดทำบัญชีพิเศษเพิ่มเติม นอกเหนือจากบัญชีที่ต้องจัดทำตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี จึงขอนำมาเป็นประเด็น ปุจฉา – วิสัชนา ดังนี้

ปุจฉา การบัญชีเพื่อประโยชน์แห่งการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร หรือเรียกย่อๆ ว่า “การบัญชีภาษีอากร” หมายความว่าอย่างไร

วิสัชนา “การบัญชีภาษีอากร” หมายความว่า การจัดทำบัญชีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แห่งการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ซึ่งอาจจำแนกรายละเอียด “การบัญชีภาษีอากร” ได้ดังนี้

1. บัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน
2. บัญชีรายรับรายจ่าย
3. บัญชีรายได้ก่อนหักรายจ่ายใดๆ
4. รายงานเงินสดรับ – จ่าย  
5. เอกสารหลักฐานและรายงานในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
6. รายงานภาษีธุรกิจเฉพาะ 
7. บัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่ายและการนำส่ง
8. บัญชีพิเศษสำหรับผู้ผลิตหรือผู้รับจ้างผลิตซีดี
9. บัญชีพิเศษสำหรับกิจการโรงสีขนาดเล็ก
10. บัญชีพิเศษสำหรับกิจการสถานพยาบาลที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน
11. บัญชีพิเศษสำหรับกิจการค้าของเก่าประเภทรถยนต์ 
12. ใบรับ ใบส่งของ
13. การแสดงรายการหรือแจ้งข้อความใดๆ ตามประมวลรัษฎากร
14. การคำนวณและการยื่นรายการเพื่อชำระหรือนำส่งภาษีอากร
15. การปิดแสตมป์บริบูรณ์
16. การขอคืนภาษีอากร
17. การปฏิบัติหน้าที่อื่นตามประมวลรัษฎากร อาทิ การขอมีและใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร การจดทะเบียน การออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

ปุจฉา บัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน มีวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์ในการจัดทำอย่างไร
วิสัชนา บัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน มีวัตถุประสงค์ในการจัดทำดังนี้ 

1. เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ ต้องทำการปรับปรุงกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางบัญชีหรือทางการเงิน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางภาษีอากร ตามมาตรา 65 มาตรา 65 ทวิ มาตรา 65 ตรี มาตรา 65 จัตวา มาตรา 70 ตรี และมาตรา 74 โดยทำการปรับปรุงจากจำนวนกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางการเงิน

2. เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ของบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยเจ้าพนักงานประเมิน  ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิจัดทำบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังต่อไปนี้

  1. รูปแบบของบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน สอดคล้องกับการจัดทำบัญชีดังกล่าวตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี
  2. บัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนต้องมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ตรวจสอบและรับรอง (มาตรา 68 ทวิ)
  3. พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 50 ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องแนบบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน ที่มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามมาตรา 3 สัตต ตรวจสอบและรับรอง ด้วย (มาตรา 69)

(1)

ปุจฉา กำไรสุทธิทางบัญชีกับกำไรสุทธิทางภาษีอากร เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

วิสัชนา กำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางบัญชีหรือทางการเงิน เป็นจำนวนผลต่างของรายได้กับรายจ่ายที่กิจการได้กระทำในระหว่างรอบระยะเวลา บัญชี ซึ่งโดยทั่วไปมีกำหนดเวลา 12 เดือน เพื่อแสดงผลการดำเนินกิจการในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ในอันที่จะเปรียบเทียบในกิจการเดียวกันหรือในระหว่างผู้ประกอบกิจการทั้ง หลาย

กำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางภาษีอากรเพื่อการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล คำนวณได้จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี หักด้วยรายจ่ายทั้งสิ้นในการประกอบกิจการเพื่อหารายได้ ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องรับรู้รายได้และรายจ่ายตามเกณฑ์สิทธิ เว้นแต่อธิบดีกรมสรรพากรจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

สำหรับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในทางภาษีอากร ที่แตกต่างจากการคำนวณกำไรและขาดทุนสุทธิทางบัญชีหรือทางการเงินมีสามรายการ คือ

1. เงื่อนไขเกี่ยวกับรายได้ ประกอบด้วย

(1) มาตรา 65 ประเภทรายได้ และเกณฑ์รับรู้รายได้
(2) มาตรา 65 ทวิ (4) เงื่อนไขการรับรู้รายได้จากการขายทรัพย์สิน รวมทั้งสินค้า การให้บริการและการให้กู้ยืมเงิน ซึ่งโดยทั่วไปต้องเป็นไปตามราคาตลาด
(3) มาตรา 65 ทวิ (10) รายได้เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่บริษัทจำกัดซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้รับ
(4) มาตรา 65 ทวิ (11) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว
(5) มาตรา 65 ทวิ (12) เงินปันผลที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว
6) มาตรา 65 ทวิ (14) ภาษีขายซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้รับหรือพึงได้รับ
(7) มาตรา 65 จัตวา รายได้ที่เป็นค่าภาษีเงินได้ซึ่งโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังได้เสียแทนให้ เนื่องจากการเป็นผู้ค้าส่งหรือผู้ค้าปลีกสินค้ายาสูบของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง
(8) มาตรา 70 ตรี กรณีที่กฎหมายถือเป็นการขายสินค้าในราชอาณาจักร อันเนื่องมาจากการส่งสินค้าออกไปต่างประเทศให้แก่หรือตามคำสั่งของ สำนักงานใหญ่ สาขา ตัวการ ตัวแทน บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน นายจ้าง ลูกจ้างในต่างประเทศ
(9) มาตรา 74 (2)(3) การนำสำรองกลับมาถือเป็นรายได้ กรณีเลิก ควบหรือโอนกิจการ

2. เงื่อนไขเกี่ยวกับรายจ่าย

(1) มาตรา 65 ทวิ (1) เท่ากันมาตรา 65 ตรี (1) ถึง (20) รายจ่ายต้องห้าม
(2) มาตรา 65 ทวิ (2) การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน
(3) มาตรา 65 ทวิ (7) ราคาทุนของสินค้าที่ส่งเข้ามาจากต่างประเทศ
(4) มาตรา 65 ทวิ (8) ราคาทุนของสินค้าที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
(5) มาตรา 65 ทวิ (9) การจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้

3. หลักเกณฑ์ในการตีราคาทรัพย์สินและหนี้สิน

(1) มาตรา 65 ทวิ (3) การตีราคาทรัพย์สินทั่วไปให้ใช้ตามราคาทุนเดิม
(2) มาตรา 65 ทวิ (5) การตีราคาเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ
(3) มาตรา 65 ทวิ (6) การตีราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
(4) มาตรา 74 (1) การตีราคาทรัพย์สิน ณ วันเลิก ควบหรือโอนกิจการ

ดังนั้น เมื่อต้องการคำนวณเงินได้สุทธิหรือกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางภาษีอากร ก็เพียงแต่นำกำไรสุทธิทางบัญชีมาทำการปรับปรุงด้วยเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน ประมวลรัษฎากร ก็จะได้กำไรหรือขาดทุนสุทธิทางภาษีอากร เพื่อนำไปยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ต่อไป

(2)

ที่มา..bangkokbiznews.com / อ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.