ภาษีเบี้ยประกันชีวิต | รับทำเงินเดือน ภาษีเบี้ยประกันชีวิต | รับทำเงินเดือน

ภาษีเบี้ยประกันชีวิต

แต่เดิมเราเคยได้ยินว่า เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทฯ จ่ายให้กรรมการผู้จัดการตามมติที่ประชุมของบริษัทฯ หากเป็นกรณีที่บริษัทฯ ต้องจ่ายให้กับกรรมการทุกคนเป็นการทั่วไปตามระเบียบของบริษัทฯ แล้วบริษัทฯ มีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตที่ออกให้นั้นมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรและเพื่อความสะดวกในการแสดงหลักฐาน ให้บริษัทประกันภัยหมายเหตุไว้ในใบเสร็จรับเงินให้มีข้อความว่าเบี้ยประกันชีวิตที่รับนี้จ่ายโดยบริษัท…

เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทฯ ออกให้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นประโยชน์เพิ่มที่พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทฯ ได้รับ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินจากการจ้างแรงงานที่ต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อไป โดยบริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากเงินได้พึงประเมินดังกล่าวด้วย และหากกรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลา 10 ปีขึ้นไป และบริษัทผู้รับประกันประกอบกิจการในประเทศไทย พนักงานหรือลูกจ้างมีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวไปหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ได้ไม่เกิน 100,000 บาท

อย่างไรก็ตาม กรณีบริษัทฯ ทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคารซึ่งมีข้อกำหนดในสัญญากู้ยืมเงินให้บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้กู้ ต้องทำประกันชีวิตกับบริษัทฯ ที่ประกอบกิจการประกันชีวิต โดยใช้กรมธรรม์ที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้ความคุ้มครองสินเชื่อของธนาคาร โดยกรมธรรม์ดังกล่าวจะกำหนดให้บริษัทฯ เป็นผู้เอาประกันแต่เพียงผู้เดียวและจะผูกเงื่อนไขการชำระค่าสินไหมทดแทนบนสาเหตุมรณกรรมของกรรมการ ทั้งนี้บริษัทประกันชีวิตจะได้รับอนุมัติจากกรมการประกันภัยให้ออกกรมธรรม์โดยระบุชื่อบริษัทฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นผู้เอาประกันได้ และธนาคารฯ จะเป็นผู้ถือกรมธรรม์แต่เพียงผู้เดียว

ในกรณีที่กรรมการถึงแก่ความตาย และบริษัทประกันชีวิตได้รับหลักฐานการพิสูจน์มรณกรรมของกรรมการแล้ว บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ธนาคารฯ เท่ากับจำนวนหนี้ที่ค้างชำระภายใต้สัญญากู้ยืมเงินในฐานะผู้รับประโยชน์ที่ 1 และผลประโยชน์ที่เหลือจะจ่ายให้แก่บริษัทฯ ในฐานะผู้รับประโยชน์ที่ 2 ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว

ทั้งนี้บริษัทฯจะเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันชีวิตจะออกใบเสร็จในนามบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทฯ เป็นคู่สัญญาภายใต้กรมธรรม์และเป็นผู้เอาประกันตามกรมธรรม์

เช่นนี้การทำประกันชีวิตเพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ โดยกรรมการหรือบุคคลในครอบครัวมิได้เป็นผู้รับประโยชน์ใด ๆ จากกรมธรรม์ ดังนั้นเบี้ยประกันภัยที่บริษัทฯ จ่ายไปให้กับบริษัทประกันชีวิต จึงเป็นการจ่ายเพื่อกิจการของบริษัทฯ และไม่ถือเป็นประโยชน์เพิ่มของกรรมการแต่อย่างใด (หนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0706/ 5745 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2550).

ที่มา : Daily News Online
วันที่ : 28 ธันวาคม 2553

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.