ผู้ประกันตนที่ออกจากงานยังได้รับสิทธิอะไรจากประกันสังคม | รับทำเงินเดือน ผู้ประกันตนที่ออกจากงานยังได้รับสิทธิอะไรจากประกันสังคม | รับทำเงินเดือน

ผู้ประกันตนที่ออกจากงานยังได้รับสิทธิอะไรจากประกันสังคม

ผู้ประกันตนที่ออกจากงาน จะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรจากการประกันสังคม ?

  1. เมื่อลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตน (ตามมาตรา 33) ลาออกจากงาน ลูกจ้างยังคงได้รับความคุ้มครอง 4 กรณี คือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และตาย จากการประกันสังคมต่อไปอีก 6 เดือน
  2. หากลูกจ้างมีความประสงค์จะประกันตนต่อ หลังจากสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ก็สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 ได้ ภายใน 6 เดือน นับแต่วันสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง

คุณสมบัติของผู้สมัคร

  1. เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน
  2. ต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม

การยื่นใบสมัคร

  1. ต้องยื่นใบสมัครตามแบบแสดงความจำนง (แบบ สปส. 1-20) ด้วยตนเอง ภายใน 6 เดือน นับแต่วันสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง
  2. สถานที่ยื่นใบสมัคร กรุงเทพมหานครยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ภูมิภาคยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา

หลักฐานการสมัคร

  1. แบบแสดงความจำนง (สปส. 1-20)
  2. บัตรประกันสังคมพร้อมสำเนา
  3. บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้พร้อมสำเนา
  4. หลักฐานแสดงการจ่ายเงินสมทบมาแล้ว จำนวน 12 เดือน

วันเริ่มต้นการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39

     ผู้สมัครจะเริ่มต้นการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ในวันที่ 1 ของเดือนถัดจากเดือนที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานประกันสังคมตัวอย่างเช่น นาย ก. ยื่นใบสมัครเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2544 ได้รับอนุมัติจากสำนักงานประกันสังคมเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544  นาย ก. มีผลเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นต้นไป

เงินสมทบที่ต้องนำส่ง

  • คำนวณเงินสมทบจากฐานค่าจ้างเดือนละ 4,800 บาท อัตราเดียวเท่ากันทุกคน
  • ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ต้องออกเงินสมทบเป็น 2 เท่า ของอัตราเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนแต่ละกรณีตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
  • ผู้ประกันตนมาตรา 39 ต้องนำส่งเงินสมทบ 6 กรณี (เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร ตาย สงเคราะห์บุตรและชราภาพ) ในอัตราเดือนละ 288 บาท (6% x 4,800 บาท)

หน้าที่ของผู้ประกันตน มาตรา 39

  1. ต้องนำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน หากนำส่งเงินสมทบเกินกำหนด จะต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือน
  2. แจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริง ให้สำนักงานประกันสังคมทราบ ดังนี้
  • กรณีย้ายที่อยู่หรือเปลี่ยนสถานที่นำส่งเงินสมทบ ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน
  • กรณีเปลี่ยนชื่อตัว – ชื่อสกุล หรือแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลอื่น ๆ ต้องแจ้งทันที พร้อมแนบสำเนาหลักฐาน
  • กรณีประสงค์ลาออก หรือกลับเข้าทำงาน และมีสถานะเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรทันที ณ สำนักงานประกันสังคมที่จ่ายเงินสมทบ

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

  1. ได้รับความคุ้มครอง กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร ตาย สงเคราะห์บุตร และชราภาพ ต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33
  2. การใช้การบริการทางการแพทย์ ในกรณีเจ็บป่วย จะได้รับบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาล ซึ่งได้ระบุสถานพยาบาลตามที่ได้เลือกไว้

เหตุที่ทำให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สิ้นสภาพ

  1. ไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือน ติดต่อกัน (สิ้นสภาพตั้งแต่เดือนแรกที่ไม่ส่งเงินสมทบ)
  2. ลาออก
  3. กลับเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33
  4. ตาย
  5. ภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับภายหลังจากการสิ้นสภาพ

  • การสิ้นสภาพตามข้อ 1, 2 และ 5 จะได้รับการคุ้มครองเฉพาะกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และตายต่อไปอีก 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน ทั้งนี้ ต่อเมื่อผู้ประกันตนได้นำส่งเงินสมทบจนครบเงื่อนเวลาที่ก่อให้เกิดสิทธิ
  • การสิ้นสภาพตามข้อ 3 สามารถนับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบต่อเนื่องได้ทุกกรณี
  • การสิ้นสภาพตามข้อ 4 และมีบุตรที่อยู่ระหว่างการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร จะได้รับเงินสงเคราะห์ต่อเนื่องจนบุตรอายุครบเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง (6 ปีบริบูรณ์)

ทางเลือกใหม่ในการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 39

หากผู้ประกันตนมีความประสงค์จะส่งเงินสมทบโดยให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีเงินฝากของท่าน จะต้องปฏิบัติดังนี้

  • เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ณ สาขาหลักที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดได้แจ้งให้ทราบ สำหรับการฝากครั้งต่อไป ผู้ประกันตนจะนำฝากเข้าบัญชีธนาคารที่สาขาใดก็ได้
  • ให้กรอกรายละเอียดและยื่นแบบคำขอส่งเงินสมทบของผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 โดยทางธนาคาร ณ สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดที่ท่านส่งเงินสมทบอยู่ในปัจจุบัน
  • ธนาคารจะหักเงินสมทบจากบัญชีเงินฝากของท่าน เดือนละ 1 ครั้ง (ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป) โดยธนาคารจะหักค่าธรรมเนียมตามอัตราที่ธนาคารประกาศกำหนด (ครั้งละ 10 บาท) ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวก  ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับผู้ประกันตน
  • กรณีในบัญชีมีเงินฝากไม่เพียงพอที่ธนาคารจะดำเนินการหักบัญชีไว้ ท่านจะต้องนำส่งเงินสมทบด้วยตนเอง ณ สำนักงานประกันสังคม ที่ท่านนำส่งเงินสมทบ

ที่มา..http://www.ubu.ac.th/~ubustaff/insur4.htm

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.