108 ประเด็นความผิด ภาษีนิติบุคคล | รับทำเงินเดือน 108 ประเด็นความผิด ภาษีนิติบุคคล | รับทำเงินเดือน

108 ประเด็นความผิด ภาษีนิติบุคคล

108 ประเด็นความผิด ภาษีนิติบุคคล (1)

  เพื่อสนองตอบต่อสารพัดคำถามจากท่านผู้อ่าน ซึ่งหลั่งไหลเข้ามาสอบถาม สารพัดประเด็น/ปัญหาการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 ซึ่งกำหนด deadline ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2551 นี้แล้ว! ผู้เขียนจึงขอรวบยอด จาระไน 108 ประเด็นความผิด ‘ภาษีเงินได้นิติบุคคล’ เพื่อเป็น guidelines เตือนใจมิให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำสอง ให้ต้องชอกช้ำใจอีกครั้ง

1. การรับรู้รายได้ตามเกณฑ์สิทธิ

1.1 แนวคิดและหลักการ

เกณฑ์สิทธิตามเจตนารมณ์ของกฎหมายภาษี ก็คือ เกณฑ์คงค้าง (accrual basis) ตามหลักการบัญชีนั่นเอง แต่เนื่องจากบทบัญญัติของประมวลรัษฎากร (ม.65) เขียนไว้ไม่ชัดเจน ไม่ระบุความหมายของคำว่า ‘เกณฑ์สิทธิ’ ดังนั้นจึงมักเกิดการตีความกันไปต่างๆ นานา

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนเข้าช่วยงานของ สมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีฯ (สบช.) ในตำแหน่ง ‘ประธานคณะกรรมการบัญชีภาษีอากร’ ได้เข้าร่วมพิจารณากับคณะทำงานปรับปรุงคำสั่ง ทป.1/2528 (หลักเกณฑ์การรับรู้รายได้รายจ่ายตามเกณฑ์สิทธิ) ของกรมสรรพากรในช่วงปี 2548 ได้ตกลงยุติให้แก้ไขกฎหมายโดยระบุให้ชัดเจนว่าให้รับรู้รายได้เพื่อการ รัษฎากรโดย ‘เกณฑ์สิทธิ-ตามหลักการบัญชี’

1.2 ปัญหา

ผลจากการที่กรมสรรพากรมิได้กำหนดหลัก เกณฑ์การรับรู้รายได้ตามมาตรฐานการบัญชี (ซึ่งเป็น international concept ที่วัดผลประกอบการได้อย่างเที่ยงธรรม) ทำให้ประมวลรัษฎากรขาด ‘หลักการ (concept)’ ในการรับรู้รายได้ ทำให้เกิดปัญหาตีความ/วินิจฉัยกรณีการรับรู้รายได้ของแต่ละกิจการไปต่างๆ นานา จนไร้ข้อยุติตามมาตรฐานสากล จึงเกิดคำถามต่าง ๆ ตามมามากมายในแต่ละจุดย่อย ๆ ของการคำนวณรายได้ ตัวอย่างเช่น

– กิจการรับเหมาก่อสร้าง กรณีที่ไม่สามารถประมาณการผลสำเร็จของงานได้อย่างสมเหตุสมผล ซึ่งมาตรฐานการบัญชีกำหนดให้กิจการรับรู้รายได้เพียงไม่เกินต้นทุนการก่อ สร้างที่เกิดขึ้นนั้น การปฏิบัติทางภาษีจะเป็นเช่นไร

– กิจการฝากขาย (consignment) จะต้องรับรู้รายได้เพื่อการรัษฎากรทันทีที่มีการฝากขาย เว้นแต่มีการทำสัญญาตั้งตัวแทนฝากขาย กรณีจึงจะสามารถรับรู้รายได้ตามหลักการบัญชี (คือเมื่อตัวแทน (consignee) ส่งมอบสินค้าแก่ลูกค้า)

ส่วนในแง่ VAT การที่จะสามารถออกใบกำกับภาษีเมื่อตัวแทนส่งมอบสินค้าแก่ตัวการ กรณีจะต้องเข้าองค์ประกอบครบตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในประกาศ VAT#8 กล่าวคือ ตัวแทนจะต้องออกใบกำกับแบบเต็มรูปแทนตัวการ และตัวแทนต้องทำ stock สินค้ารับฝากขายแยกต่างหากจากสินค้าปกติของตนเองด้วย เป็นต้น

กรณีดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องวางแนวทางปฏิบัติและระบบเอกสารอย่างไรจึงจะลงตัวทั้งทางด้านบัญชี/ภาษีนิติบุคคล/และ VAT

– กิจการบริการ จะต้องรับรู้รายได้/รายจ่ายตาม matching principle อย่างไรเพื่อการรัษฎากร เพราะตามมาตรฐานการบัญชี มักมิได้มีการคำนวณต้นทุนการให้บริการ (ระยะสั้น) ตามหลักการจับคู่รายได้รายจ่าย

1.3 วิธีแก้ไข

ในมุมผู้เสียภาษี จะต้องระมัดระวังในประเด็น ‘ความแตกต่าง’ ระหว่างหลักการบัญชีและภาษีอากร ซึ่งต้องทำการปรับปรุงในการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50

ส่วนด้านกรมสรรพากร ควรจะต้องมีการทบทวนและบัญญัติหลักเกณฑ์การรับรู้รายได้ของกิจการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชี เพื่อให้เกิดข้อยุติและมิให้เกิดข้อโต้แย้งในทางปฏิบัติ อันเป็นการทำลายความสมัครใจในการเสียภาษี (tax consciousness) ส่วนประเด็นใดที่เห็นว่าเป็นช่องโหว่ของกฎหมายก็ให้บัญญัติแนวทางปฏิบัติให้ ชัดเจนว่ามีความแตกต่างจากหลักการบัญชีอย่างไร

2. กรณีของเงินมัดจำ

ในอดีตมีประเด็นตีความว่าจะต้องนำมา เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่นั้น ในขณะนี้กรมสรรพากรได้แสดงจุดยืน (Revenue Positioning) ผ่านข้อหารือหลายฉบับ รวมทั้งจากการ discuss ของผู้เขียนกับผู้บริหารระดับสูงของกรมสรรพากร ได้ข้อยุติ (unofficial ruling) ว่า กรมสรรพากรจะไม่เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ขณะมีการรับเงินมัดจำเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป โดยแยกแยะเป็นธุรกรรมได้ดังนี้

2.1 กรณีขายสินค้า กิจการไม่ต้องนำเงินมัดจำมาถือเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

ตัวอย่าง บริษัท เฟอร์นิเจอร์ไทย จำกัด ได้รับเงินมัดจำ 10% เป็นเงิน 10,000 บาท ณ 25 ธ.ค. 2549 กำหนดส่งมอบ 10 ม.ค. 2550 พร้อมชำระเงินที่เหลืออีก 90% เป็นเงิน 90,000 บาท

กรณีข้างต้นให้บริษัทถือเป็นรายได้ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ วันที่ 10 ม.ค. 2550 ทั้งจำนวน 100,000 บาท (เทียบเคียง กค 0811/3490 ลว. 30 เมษายน 2545)

2.2 กรณีธุรกิจบริการ

(1) การให้บริการระยะสั้น ตามข้อ 4.6 (เดิม)ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ทป.1/2528 กำหนดให้กิจการรับรู้รายได้ทั้งจำนวนเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เมื่อการให้บริการแล้วเสร็จ ดังนั้นกรณีได้รับเงินมัดจำล่วงหน้าบางส่วนจึงไม่ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคล เพราะ ณ เวลาดังกล่าวยังไม่มีการให้บริการใดๆ (ไม่มีการส่งมอบงานอันจะเกิดสิทธิในการเรียกชำระค่าบริการ)

อนึ่ง ตามคำสั่ง ทป.155/2549 (ปัจจุบัน) ได้ยกเลิกความในข้อดังกล่าว โดยไม่มีการกล่าวถึง/แก้ไข/ปรับปรุงหรือวางหลักเกณฑ์ใด ๆ ไว้

(2) การให้บริการตามสัญญาระยะยาว ตามข้อ 3.7(2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ทป.1/2528 โดยวิธี percentage of completion ซึ่งแนวการคำนวณและแนวคิดบางส่วนดังกล่าวจะตรงกับตัวอย่างในภาคผนวกของ GAAP#49 กล่าวคือ

– ขณะรับเงินมัดจำจะไม่รับรู้รายได้ตามหลักการบัญชี ดังนั้น กรมสรรพากรจึงไม่ถือเป็น รายได้ตามประมวลรัษฎากรด้วยเช่นกัน

– เมื่อมีการวางบิล หลักการบัญชีจะเดบิตลูกหนี้ เครดิตรายได้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ นั้นคือ ขณะวางบิลยังไม่รับรู้รายได้ทางบัญชีนั่นเอง ซึ่งแนวปฏิบัติทางภาษีก็จะตรงกัน

– ขณะรับชำระเงิน หลักการบัญชีจะเดบิตธนาคาร เครดิตลูกหนี้ ซึ่งในทางภาษีอากรก็ยังไม่ถือเป็นรายได้เช่นกัน

– ณ 31 ธันวาคม (วันสิ้นรอบบัญชี) จึงจะคำนวณรายได้ตามส่วนของงานที่ทำเสร็จ (percentage of completion) ซึ่งมี 2 วิธีคือ

วิธีที่ 1 ใช้สัดส่วนของรายจ่ายที่เกิดขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับประมาณการราย จ่ายทั้งสิ้นของโครงการ แล้วนำเปอร์เซ็นต์ดังกล่าวมาคำนวณรับรู้รายได้ตามสัญญาด้วยสัดส่วนเดียวกัน

วิธีที่ 2 คำนวณผลสำเร็จของงานโดยประมาณการของวิศวกรซึ่งแนวทางของข้อ 3.7 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ทป.1/2528 ก็ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน

2.3 กรณีผ่อนชำระหรือเช่าซื้อสินค้าที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่ได้โอนไปยังผู้ซื้อ (lessee) ขณะที่ส่งมอบสินค้านั้น หลักการภาษีอากร ตามข้อ 4.3 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ทป.1.2528 เดิม จะคำนวณกำไรขั้นต้นที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ (unrealized gross profit) แล้วทยอยรับรู้เป็นรายได้ตามสัดส่วนของเงินงวดที่ถึงกำหนดชำระ ดังนั้นกรณีได้รับเงินมัดจำซึ่งเป็น Partial Payment กรณีจะถือเป็นเงินงวดหนึ่งที่ได้รับชำระเช่นกัน จึงต้องนำมาคำนวณเพื่อรับรู้ unrealized gross profit ถือเป็น realized gross profit ตามสัดส่วนของเงินมัดจำที่ได้รับดังกล่าว

แต่ในปัจจุบัน กรมสรรพากรได้ออกคำสั่งที่ ทป.155/2549 (แก้ไขคำสั่ง ทป.1/2528) โดย ทป.1/2528 (หลังแก้ไข) ข้อ 3.5 ได้วางหลักเกณฑ์การคำนวณรายได้เพื่อการรัษฎากรไว้ตามแนวทางของมาตรฐานการ บัญชีฉบับที่ 7 โดยให้รับรู้รายได้จากการขายทันทีที่รับเงินมัดจำ ส่วนดอกผลเช่าซื้อให้ทยอยรับรู้ตามสัดส่วนของเงินงวดที่ถึงกำหนดชำระ

3. กิจการรับเหมาก่อสร้าง – วิธี Percentage of Completion

3.1 แนวคิดและหลักการ คือ วิธีคำนวณรายได้รายจ่ายเพื่อการรัษฎากรจะยึดตามมาตรฐานการบัญชี (ฉบับที่ 49)

3.2 ปัญหา

1. เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรบางท่านมักเข้าใจผิดโดยใช้หลักฐานการส่งมอบ/รับมอบงาน เป็นเกณฑ์รับรู้รายได้ ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นกรณีของกิจการให้บริการทั่วไป มิใช่วิธีการแบบ percentage of completion ซึ่งเป็นมาตรฐานการบัญชีที่วางไว้เฉพาะสำหรับกิจการรับเหมาก่อสร้างแต่อย่าง ใด

2. การประมาณการต้นทุนโครงการ ในบางลักษณะของงานทำได้ยาก

3.3 วิธีแก้ไข

1. วิธีประมาณการต้นทุนโครงการ ควรให้วิศวกรเป็นผู้จัดทำและลงนามรับรองในเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร

2. กิจการจะต้องหาวิธีประมาณต้นทุนการก่อสร้างให้ได้ มิฉะนั้นจะมีปัญหาข้อโต้แย้งกับเจ้าพนักงานในการรับรู้รายได้เพื่อการ รัษฎากร เพราะตามคำสั่ง ทป.155/2549 มิได้วางหลักเกณฑ์ดังกล่าวไว้เป็นบรรทัดฐานแต่อย่างใด

 

108 ประเด็นความผิด ภาษีนิติบุคคล (2)

  บรรยากาศการยื่นแบบ ภ.ง.ด. รอบปีนี้ ดูเงียบเหงา ทั้งผู้ยื่น (บริษัท /หจก.) และผู้รับยื่น (กรมสรรพากร) ซึ่งคงเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยลบต่างๆ ทั้งกรณีน้ำมันแพง ข้าวสารหาย (กักตุน) ธัญญาหารลด (ภัยธรรมชาติ) และประเด็นทางการเมือง

ส่วนตลาดหลักทรัพย์เอง ซึ่งปิดงบไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดยมีผลประกอบการโดยรวมยังดีอยู่ จึงพอใจชื้นได้ว่าปีนี้สรรพากร ยังคงเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย เพราะปลาตัวใหญ่ยังออกไข่ได้ดีจะมีก็แต่ SMEs ส่วนใหญ่ ที่สู้กระแสคลื่นโลกาภิวัตน์ไม่ได้ จึงอาจออกไข่ได้มาใบเล็กๆ ฯลฯ

ข้อเขียนวันนี้ จะเสนอประเด็นความผิดภาษีนิติบุคคล ต่อจากตอน 1 (สัปดาห์ก่อน) ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถค้นดูข้อมูลได้ที่ www.taxbiz.co.th เช่นเดิมครับ

4. รายจ่ายไม่มีบิล

4.1 แนวคิด/หลักการ

รายจ่ายทุกกรณีที่เกิดขึ้นย่อมสามารถ นำหักเป็นรายจ่าย เพื่อการรัษฎากรได้ เว้นแต่จะเข้าต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (1) – (20) กล่าวสำหรับรายจ่ายที่ไม่มีบิล หากพิสูจน์ได้ว่ามีการจ่ายจริง เกี่ยวข้องกับกิจการ ก็ย่อมสามารถนำมาหักเป็นรายจ่าย เพื่อการรัษฎากรได้ทั้งสิ้น ไม่ว่ารายจ่ายดังกล่าวจะผิดหลักเกณฑ์ของกฎหมายอื่นหรือไม่ก็ตาม เช่น เงินใต้โต๊ะ เป็นต้น

4.2 ปัญหา

มีธุรกิจหลายประเภทที่มักซื้อขายกัน โดยไม่ออกใบแจ้งหนี้/ใบเสร็จรับเงิน เช่น กิจการร้านขายอาหาร/ภัตตาคาร กิจการค้าวัสดุก่อสร้าง กิจการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ กิจการค้าอะไหล่ยนต์ เป็นต้น

กรณีนี้จึงทำให้ ทั้ง 3 ฝ่ายมีประเด็นปัญหาตามมา กล่าวคือ

ผู้ขาย ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาหรือร้านค้าย่อย ฯลฯ ที่เคยชินกับการเสียภาษีแบบเหมาจ่าย (ซึ่งไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของประมวลรัษฎากร) ซึ่งโดยมากเป็นพ่อค้าในต่างจังหวัด ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงไม่นิยมทำบัญชี/ไม่ออกบิล

ผู้ซื้อ มี 2 กลุ่ม คือ ร้านค้าย่อยกับบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งในกรณีของผู้ซื้อที่เป็นร้านค้าย่อยกับร้านค้าย่อย ได้ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเป็นปกติธุระที่จะไม่ออกบิลซื้อขายระหว่างกัน อยู่แล้วเพราะส่วนใหญ่ มักเสียภาษีแบบเหมาจ่าย (ตามแต่จะตกลงกับเจ้าพนักงานในแต่ละท้องที่) แต่สำหรับกรณีของบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งทำบัญชีชุดเดียว จะเกิดปัญหาจากการไม่มีใบสำคัญคู่จ่ายมาลงบัญชี กฎหมายภาษีถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามฯ (รายจ่ายที่พิสูจน์ผู้รับไม่ได้) ตามมาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวลรัษฎากร

กรมสรรพากร ได้แก้ปัญหาโดยใช้มาตรการปราบปราม เช่น การออกตรวจปฏิบัติการ/การออกหนังสือเชิญพบการออกหมายเรียก และออกระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อป้องกัน อุดช่องโหว่ของการหลีกเลี่ยงภาษี ฯลฯ กรณีนี้จึงก่อ Compliance Costs (ต้นทุนปฏิบัติตามกฎหมายภาษี) ที่สูงต่อผู้ประกอบการทุกระดับ

4.3 วิธีแก้ไข

กรมสรรพากรได้วางระเบียบปฏิบัติ กรณีกิจการต่างๆ ไม่มีเอกสาร/ใบสำคัญคู่จ่ายที่ไม่สมบูรณ์ โดยสามารถปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 วิธี ต่อไปนี้คือ

(1) ให้ผู้ซื้อจัดทำใบสำคัญจ่าย (Payment Voucher) ให้ผู้ขายลงนามพร้อมระบุชื่อที่อยู่/รายการสินค้า (บริการ) ที่ซื้อขาย และถ่ายสำเนาบัตรประชาชนของผู้ขายไว้เป็นสำคัญ

(2) ให้ผู้ซื้อชำระราคาด้วยการ สั่งจ่ายเป็นเช็คขีดคร่อม (A/C PAYEE ONLY) ระบุชื่อผู้รับเงิน (ผู้ขาย) ไว้เป็นหลักฐานประกอบการลงบัญชี

(3) ให้ผู้ซื้อจ่ายเงินผ่านระบบตัดบัญชีเงินฝากธนาคาร (Bank Statement) ของผู้ขาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการลงบัญชีได้ เช่นกัน

อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติโดยส่วนใหญ่ แล้วไม่มีผู้ขายรายใดยินยอมให้ปฏิบัติตาม 3 วิธี ดังกล่าวแต่อย่างใดในความเห็นของผู้เขียน กรมสรรพากรอาจแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยหลักเกณฑ์พิเศษ เช่น ยอมให้บริษัท SMEs (ผู้ซื้อ) สามารถเลือกหักรายจ่ายเป็นการเหมา เป็นต้น ส่วนในแง่การวางแผนภาษี (ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายปัจจุบัน) ผู้เขียนมักแนะนำให้ ผู้ประกอบการจัดตั้งหน่วยภาษี (Tax entity) ในรูปบุคคลธรรมดา ซึ่ง พ.ร.ฎ.#11 แห่งประมวลรัษฎากรเป็นทางเลือกให้สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายวิธีเหมา หรือ หักตามจริงก็ได้ (แต่ต้องแสดงบิล)

5. ค่าส่งเสริมการขาย

5.1 แนวคิด/หลักการ

ตามประมวลรัษฎากรฉบับปัจจุบัน กรณีการส่งเสริมการขาย (ลด แลก แจก แถม) จะมีภาระภาษีหลัก ๆ มาเกี่ยวข้อง 3 กรณี ดังนี้

ประเภทภาษี หลักเกณฑ์ กฎหมายอ้างอิง

ภาษีเงินได้นิติบุคคล อำนาจในการประเมินรายรับกรณีมีการจำหน่ายจ่ายโอนสินค้าฯ โดยไม่มีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาด ม. 65 ทวิ (4)

VAT – อำนาจในการประเมินรายรับเพิ่มกรณีผู้ประกอบการยื่นแบบแสดงมูลค่าฐานภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง ม. 88/2 (3) , (4)

– การให้ส่วนลดที่จะลดฐานภาษีต้องเป็นกรณีส่วนลดการค้า (Trade Discount) ม. 79 (1)

– การยกเว้นภาษีขายต้องเป็นการแถมพร้อมขายและมูลค่าของแถมไม่เกินมูลค่าสินค้า ที่ขาย และการแจกของขวัญของชำร่วยสินค้าตัวอย่าง ประกาศ Vat#40 และ #55

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย – การประกวดแข่งขันชิงโชคต้องหัก ณ ที่จ่าย 5% ทป.4/2528 (ข้อ 9 (1))

– การจ่ายเงินรางวัลเพื่อการส่งเสริมการขาย ต้องหัก ณ ที่จ่าย 3% ทป.4/2528 (ข้อ 12/2)

5.2 ปัญหา

กฎหมายภาษีวางหลักเกณฑ์ และเงื่อนทางภาษีในหลายกรณีแตกต่างจากประเพณีธุรกิจ และยังมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน ในแต่ละประเภทภาษี กรณีนี้จึงทำให้ผู้เสียภาษีปฏิบัติผิดพลาดและต้องเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่ม อยู่บ่อยๆ ทั้งๆ ที่ภาระภาษีจากการส่งเสริมการขาย มิได้มีเม็ดเงินอย่างเป็นสาระสำคัญแต่อย่างใด

5.3 วิธีแก้ไข

(1) บริษัทต้องมีแคมเปญส่งเสริมการขาย (Promotion Campaign) เป็น Supporting Documents อย่างชัดเจน เพื่อพิสูจน์ คำว่า “เหตุผลอันสมควร” ตามนัยมาตรา 65 ทวิ (4)

(2) การให้ส่วนลด จะต้องเป็น Trade Discount และหากเป็นการออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ผู้ขายจะต้องแสดงทั้งราคาขาย ส่วนลดและราคาขายสุทธิ จึงจะเข้าเงื่อนไข ที่สามารถนำส่วนลดดังกล่าวมาลดยอดฐานภาษีลงมาได้ (ม.79(1))

(3) การแถมสินค้า จะต้องมีแคมเปญรองรับ และต้องเป็นการแถมพร้อมขาย โดยมูลค่าของแถมต้องไม่เกินมูลค่าสินค้าที่ขาย (Vat#40)

(4) การแจกสินค้าตัวอย่าง จะต้องเป็นกรณีของ Sample ที่ให้ทดลองใช้เป็นการทั่วไปโดยไม่เลือกปฏิบัติ กรณีนี้จึงไม่ต้องเสียภาษีขาย (Vat#55)

(5) ของขวัญ ของชำร่วย กระเช้าปีใหม่ ฯลฯ นั้น เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 2761/2524 วินิจฉัยให้เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) (รายจ่ายส่วนตัว) แต่กรมสรรพากรได้ออกคำวินิจฉัย อนุโลมให้ถือเป็นค่าโฆษณาได้

ส่วนในแง่ Vat#55 ได้วางหลักเกณฑ์ว่าต้องเป็นการแจกเนื่องในเทศกาล โดยมีชื่อบริษัทติดอยู่ เป็นสิ่งของที่พึงให้กันตามประเพณี และมีมูลค่าไม่เกินสมควร จึงจะไม่เสียภาษีขาย (Vat#55)

 

108 ประเด็นความผิด ภาษีนิติบุคคล (3)

   ภายหลังยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 แล้ว บริษัทต่าง ๆ อาจหายใจยังไม่ทั่วท้อง ด้วยจิตรำพึง “เรายื่นแบบชำระภาษี ต่ำไปหรือเปล่าหนอ”

ในระหว่างที่รอลุ้นระทึกอยู่นี้ มินิซีรีส์ชุดนี้จะทยอยเฉลยประเด็นความผิดที่มักตรวจพบ เพื่อเป็นแนวทางให้ท่านผู้อ่าน (บริษัท) นำไปใช้วางแผน การลงบัญชีและเสียภาษีของปี 2551 ให้ถูกต้อง และประหยัด (ภาษีหรือลดปัญหาการถูกเบี้ยปรับ!) ต่อไป

สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจ เนื้อหาตอน 1 – 2 กรุณา Click ไปที่ www.taxbiz.co.th นะครับ

6. ระบบการค้าระหว่างบริษัทในเครือ

6.1 แนวคิด/หลักการ

ในทางธุรกิจ การจัดตั้งบริษัทในเครือเดียวกันหลายบริษัท โดยอาจแยกตามประเภทธุรกิจ แยกตามพื้นที่แยกตามประเภทสินค้า ฯลฯ ถือเป็นเรื่องปกติในวงการค้า ซึ่งเป็นด้วยหลายเหตุผล เช่น มีผู้ถือหุ้น/ผู้ร่วมทุน (Strategic Partners) ที่ชำนาญในบางแขนง บางสินค้า จึงจำเป็นต้องแยกหน่วยธุรกิจออกไป เป็น Profit center นอกจากนั้นการแยกเป็นหลายบริษัท จะมีข้อบวกคือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ในการบริหารงานอย่างใกล้ชิด เป็นต้น

แต่ในแง่มุมภาษี กรณีที่มีการแยกเป็นบริษัทในเครือจำนวนมากและมีรายการค้าระหว่างกัน ทำให้เกิดประเด็นภาษีต่างๆ ตามมามากมาย เช่น ราคาซื้อขายต้องเป็นตามราคาตลาด และปัญหา Transfer Pricing เป็นต้น ซึ่งมักเกิดข้อโต้แย้งและหาข้อยุติได้ยากกับเจ้าพนักงานสรรพากร

6.2 ปัญหา

(1) การให้ความช่วยเหลือต่อกัน ทั้งในแง่ของพนักงาน เงินกู้ยืม การยืมสินค้า เป็นต้น จะต้องมีการคำนวณราคาค่าสินค้า/ค่าบริการหรือค่าตอบแทนระหว่างกันตามราคา ตลาด เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (มาตรา 65 ทวิ (4))

หรือกรณีมีการคิดราคา/ค่าตอบแทน ระหว่างกันในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ก็เป็นประเด็นที่ต้องชี้แจงกับเจ้าพนักงานให้เกิดข้อยุติเช่นกัน

(2) หากเจ้าพนักงานฯ ตั้งประเด็นว่าเป็นนิติกรรมอำพราง (คือไม่มีระบบการค้าเกิดขึ้นอย่างแท้จริง) กรณีนี้ก็จะทำให้บริษัทผู้ซื้อต้อง ถูกตัดเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (9) แห่งประมวลรัษฎากร (รายจ่ายที่กำหนดขึ้นโดยไม่มีการจ่ายจริง) และต้องเสียเบี้ยปรับ 1 เท่า พร้อมเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน

(3) กรณีมีธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศกับบริษัทในเครือมักเกิดประเด็นโต้แย้งจาก เจ้าพนักงาน เกี่ยวกับการตั้งราคาโอน Transfer Pricing ซึ่งกรมสรรพากรได้วางแนวปฏิบัติไว้ใน คำสั่งที่ ป.113/2545

6.3 วิธีแก้ไข

(1) การตั้งบริษัทในเครือ ถือเป็นข้อลบทางภาษีอากรหลายประการ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการขยายบริษัทจำนวนมาก หรืออาจใช้วิธีการควบกิจการ (Merger) ก็เป็นอีกทางออกหนึ่งที่ไม่มีภาระภาษี ใด ๆ

(2) กรณีของ Transfer Pricing ควรเลือกวิธีแก้ปัญหาโดยการทำข้อตกลงการตั้งราคาซื้อขายระหว่างกันของบริษัท ในเครือ (Advance Pricing Arrangement) กับกรมสรรพากรจึงจะเกิดข้อยุติอย่างสมบูรณ์

7. ตัดค่าเสื่อมราคาก่อนสร้างทรัพย์สินเสร็จ

7.1 แนวคิด/หลักการ

กฎหมายภาษีได้วางหลักเกณฑ์การหักค่า เสื่อมราคาสินทรัพย์ โดยยึดตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 (ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์) โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 65 ทวิ (2) และ พ.ร.ฎ# 145 (พ.ศ. 2527) ซึ่งมีสาระสำคัญที่มาตรา 3 และมาตรา 4 โดย

– มาตรา 3 (พ.ร.ฎ. # 145) ระบุให้บริษัทมีสิทธิเลือกวิธีการหักค่าเสื่อมราคาตามหลักการบัญชี ที่รับรองทั่วไป ให้เหมาะสมกับกรณี เช่น กรณีวิธีเส้นตรง วิธีผลบวกจำนวนปี วิธีอัตราเร่ง เป็นต้น โดยต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ การจะเปลี่ยนวิธีบัญชีดังกล่าวจะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร

– มาตรา 4 (พ.ร.ฎ. # 145) ได้แบ่งแยกทรัพย์สินออกเป็น 5 ประเภท โดยแต่ละประเภทจะหัก ค่าเสื่อมราคาเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนดไม่ได้ เช่น อาคาร (20 ปี) สังหาริมทรัพย์ (5 ปี) เป็นต้น

ตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป สินทรัพย์ต่าง ๆ จะเริ่มตัดค่าเสื่อมราคาเมื่อพร้อมใช้งาน (Ready for it intended use)

7.2 ปัญหา

ห้างสรรพสินค้า มีการก่อสร้างอาคาร 10 ชั้น มูลค่า 200 ล้านบาท โดยเริ่มเปิดใช้เฉพาะชั้นล่าง ส่วนชั้น 2 – 10 อยู่ระหว่างตกแต่งไม่แล้วเสร็จ ดังนั้นห้างสรรพสินค้าจึงเริ่มตัดค่าเสื่อมราคาชั้น 1 โดยคิดมูลค่าทรัพย์สินตามสัดส่วนคือ 20 ล้านบาท

กรณีดังกล่าว ถือเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายภาษี เพราะอาคารสร้างเสร็จเพียงบางส่วน จึงยังไม่ถือว่ามีความพร้อมใช้งาน ตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวข้างต้น

7.3 วิธีแก้ไข ทำได้หลายวิธี เช่น

– แยกสัญญาก่อสร้างออกเป็นส่วน ๆ เช่น สัญญาฉบับที่ 1 เป็นการว่าจ้างก่อสร้างอาคารชั้น 1 ส่วนสัญญาฉบับที่ 2 เป็นการว่าจ้างก่อสร้างอาคารชั้น 2 – 10

– แก้ไขสัญญา และ ลงนามรับมอบอาคารชั้นที่ 1

8. ทรัพย์สินมูลค่าต่ำกว่า 2,000 บาท จะถือเป็นรายจ่ายทันที

8.1 แนวคิด/หลักการ

ตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป ได้ยึดหลักสาระสำคัญ (Materiality Principle) โดยอนุโลมให้บริษัทมีสิทธิเลือกหักเป็นรายจ่ายได้สำหรับทรัพย์สินที่มี มูลค่าน้อย (ไม่เป็นสาระสำคัญต่อความถูกต้องตามสมควรของงบการเงิน) เช่น บริษัทกำหนดนโยบายบัญชีว่า ทรัพย์สินมูลค่าต่ำกว่า 500 บาท หรือ 1,000 หรือ 2,000 บาท จะตัดเป็นรายจ่ายทันที เป็นต้น

แต่ตามหลักเกณฑ์แห่ง พ.ร.ฎ. # 145 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่มีบทบัญญัติใด อนุโลมให้ปฏิบัติดังกล่าว ดังนั้น กรณีนี้จึงต้องตัดค่าเสื่อมราคา สำหรับสินทรัพย์ทุกชิ้นไม่ว่าจะมีมูลค่ามากน้อยเพียงใด

8.2 ปัญหา

การที่บริษัท กำหนดนโยบายบัญชีให้ตัดเป็นรายจ่ายสำหรับสินทรัพย์มูลค่าต่ำกว่า 2,000 บาท ดังกล่าว จึงขัดแย้งกับกฎหมายภาษี จึงต้องทำการปรับปรุง รายจ่ายดังกล่าว มาเป็น การตัดค่าเสื่อมราคา 5 ปี ซึ่งหากมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็จะถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม และต้องเสียเบี้ยปรับ 1 เท่า ของภาษีที่ชำระขาด พร้อมเงินเพิ่มอีก 1.5 % ต่อเดือน

8.3 วิธีแก้ไข

ในทางปฏิบัติ หากบริษัทมีสินทรัพย์ชิ้นเล็ก ๆ ซึ่งมีมูลค่าต่ำ ๆ จำนวนมาก หากจะต้องปรับปรุงรายการ เพื่อยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 ให้ถูกต้องครบถ้วน อาจต้องเสียเวลาจนไม่คุ้มค่า

วิธีแก้ไข อาจทำได้โดยใช้วิธีเฉลี่ย เช่น สินทรัพย์ (มูลค่าน้อย) 1,000 ชิ้น ราคาซื้อรวม 30,000 บาท อาจคำนวณค่าเสื่อมราคาวิธีเส้นตรงถัวเฉลี่ย = 30,000 X 20% X 6/12 = 3,000 บาท/ปี เป็นต้น ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่ถูกต้อง 100% แต่ก็เหลือยอด “ส่วนต่าง” ไม่มากนัก

 

108 ประเด็นความผิด ภาษีนิติบุคคล (4)

  จากคำถามที่ท่านผู้อ่าน E-mail มาปรึกษาจำนวนมากนั้นจะมีประเด็นซ้ำ ๆ กันอยู่มากก็คือเรื่องของ “สินค้าคงเหลือ” ซึ่งมีประเด็นภาษีหลากหลาย เพราะเกี่ยวข้องตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการจำหน่าย จ่ายโอน รวมถึงการตรวจนับสินค้าและการทำลายเศษซากการผลิต เป็นต้น

ซึ่งแต่ละกรณีต่างก็มีแง่มุมภาษี หลายประเภท ทั้งในเรื่องของภาษีเงินได้นิติบุคคล VAT และภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นต้น ข้อเขียนวันนี้ จึงขอเน้นไปที่ประเด็นความผิดเกี่ยวกับ “สินค้าคงเหลือ” พอสังเขปดังนี้

9. การทำลายสินค้า/เศษซากการผลิต

9.1 แนวคิด/หลักการ

ในอดีตกรมสรรพากรได้เคยวางหลัก เกณฑ์การทำลายสินค้า/เศษซากการผลิตไว้ในหนังสือตอบข้อหารือ (Private letter rulings) ต่าง ๆ สรุปความได้ว่า

ก. วิธีทำลายต้องเป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป

ข. ต้องมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานสรรพากรทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ซึ่งกรมสรรพากรอาจส่งเจ้าพนักงานฯ ไปดูหรือไม่ก็ได้

ค. ต้องเชิญผู้สอบบัญชี มาเป็นพยานในการทำลาย พร้อมให้ลงนามรับรองเอกสาร เพื่อแนบประกอบงบดุล

แต่เนื่องจากแนวปฏิบัติดังกล่าว ยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่เสมอ ๆ จึงได้มีการออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.79/2541 เพื่อสังคายนาและวางหลักเกณฑ์ต่าง ๆ อย่างละเอียด สรุปสาระสำคัญได้ดังตาราง

ประเภทธุรกิจ แนวปฏิบัติ เดิม กฎหมายใหม่ (ป. 79/2541)

กลุ่ม กลุ่ม กลุ่มอื่น

ขั้นตอน EPZ BOI เก็บซากไม่ได้ เก็บซากได้

1. มีหนังสือแจ้งสรรพากรพื้นที่ไม่น้อยกว่า 30 วัน*  ไม่ระบุ ไม่ระบุ ไม่จำเป็น 

2. เชิญ ‘ผู้สอบบัญชี’ เป็นพยาน (โดยให้ฝ่ายคลังสินค้า,ฝ่ายบัญชี,ฝ่ายขายและฝ่ายตรวจสอบร่วมด้วย)  (โดยให้ฝ่ายคลังสินค้า,ฝ่ายบัญชี.ฝ่ายขายและฝ่ายตรวจสอบร่วมด้วย)

3. ดำเนินการทำลายตามวิธีปฏิบัติทางบัญชีปกติ  ตามเกณฑ์ที่ EPZ กำหนด ตามเกณฑ์ที่ BOI กำหนด ตรวจสอบสภาพและได้รับอนุมัติจาก ผจก. ก่อน ตรวจสอบสภาพและได้รับอนุมัติจาก ผจก. ก่อน

4. จัดทำรายงานการทำลายให้ผู้สอบบัญชีรับรองและแนบงบดุล

5. ใช้เอกสารตาม 4 ไปบันทึกบัญชีและ ตัดสต็อกของเสีย ไม่ระบุแต่เป็น หลักที่ควรปฏิบัติ ไม่ระบุ ไม่ระบุ ไม่ระบุ ไม่ระบุ

* เว้นแต่เป็นกิจการที่อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานราชการ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ควบคุมการทำลายเศษซากฯ ก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สรรพากรมาร่วมเป็นพยาน (เป็นข้อความเพิ่มเติมโดยคำสั่ง ป.84/2542)

9.2 ปัญหา

(1) หากบริษัทใดไม่ทำลาย ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเกิดประเด็นความผิดทางภาษีอย่างไรบ้าง

ขอตอบในเชิงบวกก่อนว่า กรณีบริษัทใดดำเนินการทำลายตามหลักเกณฑ์แห่ง ป.79/2541 ก็ไม่ต้องนำมูลค่าของสินค้ามารวมเป็นรายได้ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และไม่ต้องเสีย VAT 7% (ภาษีขาย)

แต่กรณีที่มิได้ปฏิบัติตามแนวทาง ดังกล่าว ก็จะเป็นภาระของบริษัทฯ ที่ต้องพิสูจน์ ว่าตนได้ทำลายสินค้า / เศษซากการผลิต หากพิสูจน์ได้ก็ไม่ต้องถูกประเมินภาษีดังกล่าว แต่กรณีพิสูจน์ไม่ได้ก็อาจถูกเจ้าพนักงาน หยิบยกเอามาเป็นประเด็นในการประเมินภาษี พร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่มได้

(2) อัตราส่วนการสูญเสีย และเศษซากการผลิตที่เหมาะสม ควรเป็นกี่เปอร์เซ็นต์

เรื่องของอัตราเปอร์เซ็นต์ส่วน สูญเสีย ต้องยึดเอาจากอัตรามาตรฐานของแต่ละอุตสาหกรรม (Industrial Average Ratio) เป็นเกณฑ์ ซึ่งบางอุตสาหกรรม อาจมีการรวบรวมสถิติข้อมูล ไว้ที่สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือสมาคมการค้า/สมาคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแต่ละบริษัทก็อาจมีอัตราส่วนการสูญเสียสูง/ต่ำกว่ามาตรฐานปกติ ได้ อันเนื่องจากประสิทธิภาพการผลิตที่แตกต่างกัน ดังนั้น ในการตรวจสอบภาษีของเจ้าพนักงานฯ จึงต้องใช้ดุลยพินิจวิเคราะห์เหตุการณ์ในแต่ละกรณี ๆ ไป ซึ่งหากไม่พบสิ่งบอกเหตุที่บ่งชี้ถึงการฉ้อฉล ก็ต้องยอมรับอัตราส่วนการสูญเสียตามบัญชีของบริษัท

9.3 วิธีแก้ไข

หากบริษัทปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการของ ป.79/2541 อย่างครบถ้วน ก็ย่อมไม่มีประเด็นปัญหาใด ๆ กับเจ้าพนักงาน สำหรับในเรื่องของอัตราส่วนการสูญเสียนั้น บริษัทควรแก้ปัญหาโดยวางระบบควบคุมภายในและระบบบัญชีเอกสารหลักฐาน (เช่น Production Report) ให้ครบถ้วนสามารถสอบยันความถูกต้องได้ ก็ย่อมไร้ปัญหาภาษีอย่างแน่นอน

10. สินค้าสูญหาย/ถูกทำลาย

10.1 แนวคิด/หลักการ

กรณีสินค้าสูญหาย/ถูกทำลาย อาจแยกพิจารณาได้ เป็น 2 กรณี คือ

ก. กรณีสินค้าถูกขโมย/ภัยธรรมชาติ ให้ใช้หลักฐานการแจ้งความเป็น Supporting Document ในการถือเป็นรายจ่ายของกิจการ ซึ่งกรณีดังกล่าว จะไม่ถือเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนสินค้า จึงไม่ต้องถือเป็นรายได้ (ภาษีเงินได้นิติบุคคล) และไม่ต้องเสียภาษีขาย (VAT 7%)

ข. กรณีสินค้าขาด/เกินจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ซึ่งเกิดจากการตรวจนับสินค้า (Stock) ซึ่งปกติจะนับกันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ณ วันสิ้นปี (31 ธันวาคม แต่ในทางปฏิบัติจริง อาจตรวจนับก่อนหรือหลังวันสิ้นปี แล้วกระทบยอดมาหาผลลัพธ์ ณ วันสิ้นปี)

กรณีสินค้าเกิน จากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ จะต้องระวางโทษปรับอาญา 2,000 บาท (ม.90(14)) ต่อครั้งที่ถูกตรวจปฏิบัติการ

กรณีสินค้าขาด จากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ

– ต้องรับผิดเสียภาษีขาย (VAT 7%) จากราคาตลาดของสินค้าที่ขาด

– เสียเบี้ยปรับ 2 เท่า (ม.89 (10))

ผลการตรวจนับ บทลงโทษ สินค้า/วัตถุดิบที่ตรวจนับได้

ขาดจากรายงานฯ เกินจากรายงานฯ

ต้องเสียภาษีขาย (ม.77/1 (8) (จ))

เบี้ยปรับ 2 เท่า (ม.89 (10)) 

ถูกปรับอาญา 2,000 บาท (ม.90 (14) (15))

– โทษปรับอาญา 2,000 บาท ต่อครั้งที่เข้าตรวจ (ม.90 (15))

10.2 ปัญหา

(1) มาตรา 87 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ผู้ประกอบการ VAT ต้องจัดทำรายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ เป็นรายสถานประกอบการ เช่น กรณีสำนักงานใหญ่สั่งซื้อ ส่วนโกดังมีหน้าที่ลงรายงานสินค้าและวัตถุดิบ เป็นต้น

หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะแตกต่างจาก ประเพณีปฏิบัติทางบัญชี ซึ่งมักทำบัญชีรวมศูนย์ ณ สำนักงานใหญ่ ดังนั้น กรณีข้างต้นหากลงรายงานผิดพลาด แต่ละสาขาจะต้องรับผิด ทั้งทางแพ่งและอาญา

(2) กรณีของร้านค้าปลีก (เช่น 7-Eleven) ซึ่งมีสินค้ามากชนิด จึงอาจมีสินค้าสูญหายได้ง่าย ดังนั้นจึงต้องทำการตรวจนับบ่อยขึ้น เพื่อให้เกิดการควบคุมภายในที่ดี

เมื่อตรวจนับบ่อยครั้ง ก็มักจะพบว่ามีปัญหาสินค้าขาดหาย/เกินจากสต็อกบ่อย เช่นกัน ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้ต้องถูกลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญา อันเนื่องจากสินค้าขาด/เกิน

10.3 วิธีแก้ไข

(1) คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.81/2542 ข้อ 11 วางหลักเกณฑ์ผ่อนปรน กรณีมิได้จัดเก็บรายงานต่าง ๆ ไว้ ณ สถานประกอบการ เจ้าพนักงานฯ จะอนุโลมให้บริษัทนำรายงานดังกล่าวมาแสดงได้ภายใน 7 วัน

(2) กรณีสินค้าสูญหาย จะต้องแก้ไขโดยเพิ่มระบบควบคุมภายใน เช่น เพิ่มบุคลากร เพิ่มขั้นตอนเบิกจ่ายสินค้า เป็นต้น ซึ่งจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย ยอดเงินค่าปรับทางภาษี เป็นสำคัญ

อนึ่ง กรณีมีการตรวจนับสินค้าบ่อย ๆ จะส่งผลเกิดความผิดอันเนื่องจาก สต็อก ขาด/เกิน อยู่บ่อย ๆ ซึ่งโดยหลักการจะต้องเสียเบี้ยปรับ/ค่าปรับอาญา ดังนั้นในทางปฏิบัติ จึงควรตรวจนับอย่างเป็นทางการ เพียงปีละครั้งเดียวก็พอ

เรื่อง : อมรศักดิ์ พงศ์พศุตม์ 

ที่มา : http://www.bangkokbizweek.com

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.