ปัญหาภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับค่าจ้างทำของ | รับทำเงินเดือน ปัญหาภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับค่าจ้างทำของ | รับทำเงินเดือน

ปัญหาภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับค่าจ้างทำของ

ขอนำประเด็นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นมาปุจฉา – วิสัชนา เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานทางด้านภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : ปุจฉา กรณีบริษัทฯ ตกลงจ้างเหมาผู้รับจ้างรายหนึ่ง ให้สร้างประตูน้ำและประตูน้ำทิ้งบ่อเลี้ยงกุ้ง  โดยตกลงแยกเป็นสัญญาจ้างเหมาแรงงานชุดหนึ่ง และสัญญาหรือข้อตกลงในการซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างอีกชุดหนึ่ง บริษัทฯ ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายอย่างไร

วิสัชนา กรณีนี้กรมสรรพากรวินิจฉัยว่า สัญญาจ้างก่อสร้างดังกล่าว ถือเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินจึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งในอัตราร้อยละ 3.0 ของเงินได้ที่เป็นค่าจ้างแรงงานและค่าซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างรวมกัน  ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/5940 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2532)

ปุจฉา กรณี บริษัทฯ ได้ทำสัญญารับเหมาช่วงสร้างท่อเหล็กส่งน้ำ ตามสัญญารับเหมาช่วงดังกล่าวบริษัทฯ ได้รับเงินเงินล่วงหน้าในอัตราร้อยละ 15 ของค่าจ้าง ซึ่งบริษัทฯ ได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้แล้ว  และเมื่อบริษัทส่งมอบงานในแต่ละงวด บริษัทผู้ว่าจ้างจะหักเงินล่วงหน้า และเงินยึดหน่วงตามอัตราที่กำหนดออกจากมูลค่าของงานที่ส่งมอบในแต่ละงวด มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายอย่างไร

วิสัชนา เนื่อง จากเงินค่าจ้างล่วงหน้าที่บริษัทฯ ได้รับจากบริษัทผู้ว่าจ้างนั้น เป็นเงินที่ได้รับมาโดยมีเงื่อนไขที่จะต้องชำระคืนให้แก่บริษัทผู้ว่าจ้าง โดยการนำมาหักออกจากค่าจ้างในแต่ละงวด เงินค่าจ้างล่วง หน้าดังกล่าว จึงไม่ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของบริษัทฯ เมื่อบริษัทฯ ได้รับ จึงไม่ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

สำหรับเงินยึดหน่วง (Retention) ที่บริษัทผู้ว่าจ้างหักออกจากค่าจ้างในแต่ละงวดนั้น  เป็นเพียงเงินที่บริษัทผู้ว่าจ้างหักไว้เป็นประกันตามข้อตกลงในสัญญาเท่านั้น กรณีจึงยังถือว่าบริษัทฯ ได้รับค่าจ้างเต็มตามจำนวนมูลค่าของงานที่ส่งมอบในแต่ละงวด ดังนั้น เมื่อบริษัทผู้ว่าจ้างชำระค่าจ้างในแต่ละงวด โดยหักเงินค่าจ้างล่วงหน้าและเงินยึดหน่วงตามอัตราที่กำหนดในสัญญาออกก่อนก็ตาม กรณี ดังกล่าวถือได้ว่าบริษัทฯ ได้รับค่าจ้างเต็มตามจำนวนมูลค่าของงานที่ส่งมอบ บริษัทฯ จึงต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไว้จากยอดเต็มของมูลค่างานที่ส่งมอบ โดยต่อมาเมื่อบริษัทฯ ได้รับเงินยึดหน่วงคืนจากบริษัทผู้ว่าจ้าง บริษัทฯ จะไม่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย อีกแต่อย่างใด (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/258 ลงวันที่ 5 มกราคม 2531)

ปุจฉา ห้างฯ ประกอบกิจการค้าขายสินค้าสำเร็จรูป ซื้อสินค้ามาแล้วขายไปในลักษณะเดิมอันเป็นการซื้อขายสินค้าในลักษณะซื้อมา ขายไป และได้มีการรับจ้างทำแบบฟอร์มตามคำสั่งของลูกค้า โดยที่ห้างฯ ไปสั่งให้โรงพิมพ์จัดทำให้ตามที่ลูกค้าสั่ง มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายอย่างไร

วิสัชนา กรณีห้างฯ ประกอบกิจการค้าขายสินค้าสำเร็จรูป ซื้อสินค้ามาแล้วขายไปในลักษณะเดิมอันเป็นการซื้อขายสินค้าในลักษณะซื้อมาขายไป จึงไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับ การรับจ้างทำแบบฟอร์มตามคำสั่งของลูกค้า โดยที่ห้างฯ ไปสั่งให้โรงพิมพ์จัดทำให้ตามที่ลูกค้าสั่ง แม้ว่าห้างฯ ไม่มีโรงพิมพ์ของตนเองก็ตาม  ถือว่าห้างฯ เป็นผู้ประกอบการรับจ้างทำของด้วย อยู่ในบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากรในอัตราร้อยละ 3.0 (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/1426 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2531)

ปุจฉา กรณี บริษัทฯ มีตึกที่ทำการให้บริษัทต่างๆ เช่า โดยคิดค่าเช่าและค่าบริการจากผู้เช่าเป็นรายเดือน กรณีค่าบำรุงรักษา และค่าบริการการใช้ลิฟต์ และเครื่องทำความเย็น โดยบริษัทฯ มีเครื่องทำความเย็นรวมแล้วต่อท่อไปตามห้องต่างๆ คิดตามเนื้อที่ที่เช่าเป็นเกณฑ์ รวมทั้งค่าดูแลทำความสะอาดส่วนกลาง ค่ารักษาความปลอดภัย  ค่าสาธารณูปโภคส่วนกลาง ค่าจัดการจราจร เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเรียกเก็บค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้า เช่นนี้ มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายอย่างไร

วิสัชนา ค่า บริการอื่นใดจากการให้เช่าอาคารสำนักงานที่มิใช่ค่าเช่าอาคาร เข้าลักษณะเป็นค่าจ้างทำของ ผู้จ่ายเงินได้ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/16148 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2530)

สำหรับ ค่าน้ำประปา และค่ากระแสไฟฟ้า เป็นการซื้อขายสินค้า เมื่อบริษัทฯ ไม่ต้องถูกหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 แต่อย่างใด (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.7367 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2537)

ปุจฉา มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับค่าจ้างแปลเอกสาร และค่าถ่ายเอกสาร

วิสัชนา โดยทั่วไปเงินได้จากการแปลเอกสารเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินได้ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ผู้มีเงินได้ประกอบกิจการด้วยการจัดตั้งเป็นสำนักงานซึ่งต้องลงทุน จัดหาเครื่องมือ เครื่องใช้ มีค่าใช้จ่ายสำนักงาน ค่าจ้างลูกจ้างหรือพนักงาน จึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร  รวมทั้งค่าบริการถ่ายเอกสาร ก็ถือเป็นเงินได้ค่าจ้างทำของตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ของเงินได้ที่จ่าย (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/11951 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2532)

—————————————————————-

ขอนำประเด็นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าจ้างทำของมาปุจฉา – วิสัชนา เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานทางด้านภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : ปุจฉา มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีขายสินค้าพร้อมให้บริการอย่างไร

วิสัชนา กรณีการขายสินค้าพร้อมให้บริการอาจแยกพิจารณาได้ดังนี้

   1. การขายสินค้าโดยรวมค่าบริการ เข้าไว้ในราคาสินค้า เนื่องจากในทางภาษีมูลค่าเพิ่มไม่สามารถแถมบริการได้ เพราะมีกฎหมายบัญญัติไว้แต่เพียงการแถมสินค้าตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) จึงต้องประยุกต์เป็นการขายสินค้าโดยรวมบริการที่จะพึงให้กันในอนาคต 

โดย เหตุที่ถือเป็นการขายสินค้าทั้งจำนวน เมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้จ่ายชำระค่า สินค้าดังกล่าว จึงไม่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ลงวันที่ 26 กันยายน 2528 เช่น

    (1) บริษัทฯ ขายสินค้าโดยมีการให้บริการกับลูกค้าด้วย และบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีใน ราคาสินค้าและค่าบริการเป็นราคาเดียวกันถือเป็นการขายสินค้า ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้าตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อผู้ซื้อชำระราคาค่าสินค้า บริษัทฯ  ไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.13499 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2536)

    (2) บริษัทฯ ทำสัญญาขายลิฟต์และบันไดเลื่อนพร้อมทั้งให้บริการประกอบติดตั้ง โดยมิได้แยกราคาค่าสินค้าและค่าบริการออกจากกัน ถือเป็นการขายสินค้า ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีส่งมอบสินค้าตามมาตรา 78 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ถือวันที่บริษัทฯ ผู้ขายส่งมอบลิฟต์หรือบันไดเลื่อนเป็นวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่า เพิ่มเกิดขึ้น บริษัทฯ ต้องออกใบกำกับภาษีในทันทีที่ความรับผิดเกิดขึ้นตามมาตรา 86 มิใช่วันที่บริษัทฯ ประกอบติดตั้งเสร็จและมีสิทธิได้รับชำระราคา และเนื่องจากถือเป็นการขายสินค้าเมื่อผู้ซื้อชำระราคาสินค้า บริษัทฯ ไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหัก ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งของกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 (หนังสือกรมสรรพากร ที่ กค 0802/พ.23430 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2536)

    (3) บริษัทฯ ประกอบกิจการขายอุปกรณ์ระบบโทรศัพท์และโทรสาร  พร้อมทั้งบริการติดตั้งให้ลูกค้าด้วย โดยไม่แยกราคาค่าสินค้าและค่าบริการติดตั้งออกจากกัน เข้าลักษณะเป็นการขายตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่อยู่ในข่ายต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 (หนังสือกรมสรรพากร ที่ กค 0802/พ.3058 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2537 และที่ กค 0802/พ.20419 ลงวันที่ 11 กันยายน 2538)

    (4) บริษัทฯ ขายสีทาบ้าน โดยทาสีให้กับลูกค้าด้วย บริษัทฯ คิดค่าตอบแทน โดยไม่แยกราคาค่าสินค้าและค่าบริการออกจากกัน

ถือเป็นการขายสินค้า เงินได้ดังกล่าวไม่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.13499 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2536 และที่ กค 0802/3958 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2537) 

    2. การขายสินค้าโดยแยกค่าบริการต่างหากจากราคาสินค้า ในการออกใบกำกับภาษีได้แยกรายการค่าสินค้า และค่าบริการรับจ้างทำของออกจากกันโดยชัดแจ้ง ในส่วนของราคาสินค้าไม่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย คงคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 เฉพาะในส่วนของค่าบริการรับจ้างทำของ  ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ลงวันที่ 26 กันยายน 2528 เช่น

     (1) บริษัทฯ ขายเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง พร้อมกับให้บริการรับจ้างตอกเสาเข็ม โดยออกใบกำกับภาษี ราคาค่าเสาเข็มและค่าบริการตอกเสาเข็มรวมเป็นราคาเดียวกัน ให้ถือเป็นการขายสินค้า  ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร ถือวันที่บริษัทฯ ส่งมอบเสาเข็ม บริษัทฯ ต้องออกใบกำกับภาษีในทันที ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่ออกใบกำกับภาษี เมื่อตอกเสาเข็มเสร็จเรียบร้อย และเนื่องจากเป็นการขายสินค้า บริษัทฯ จึงไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

      ถ้าหากบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีราคาค่าเสาเข็ม และค่าบริการรับจ้างตอกเสาเข็มแยก  ออกจากกัน  ค่าบริการรับจ้างตอกเสาเข็มอยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.23259 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2536 และที่ กค 0802/06327 ลงวันที่ 18 เมษายน 2538)

     (2) บริษัทฯ ประกอบกิจการนำเข้าเหล็กเพื่อทำชั้นวางสินค้าใช้ในโกดังขนาดใหญ่ โดยนำเข้าจากต่างประเทศเป็นชิ้นส่วนกึ่งสำเร็จรูปแล้วนำมาตัด เชื่อม หรือจ้างบริษัทอื่นทำ หรือหลังจากตัด เชื่อมแล้วส่งไปโรงงานเพื่อพ่นสีแล้วส่งไปยังสถานที่ติดตั้ง จากนั้นบริษัทฯ จะส่งช่างไปให้บริการประกอบและติดตั้งเป็นชั้นวางสินค้า เช่นนี้ กรณีบริษัทฯ ขายสินค้าพร้อมให้บริการ โดยคิดราคาค่าสินค้าและค่าบริการรวมกันถือเป็นการขายสินค้า เมื่อผู้ซื้อชำระราคาค่าสินค้า  บริษัทฯ ไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 และ กรณีบริษัทฯ แยกราคาสินค้าและค่าบริการออกจากกันในส่วนของค่าบริการอยู่ในบังคับต้องถูก หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/10992 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2537)

 

บทความโดย : สุเทพ พงษ์พิทักษ์ 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

Comments

  1. As we talked, Thank you very much for you advice ka.

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.