เบี้ยยังชีพคนชรา | รับทำเงินเดือน เบี้ยยังชีพคนชรา | รับทำเงินเดือน

เบี้ยยังชีพคนชรา

(จากคำถามที่ถามมาก็เลยไปหาข้อมูลมาลงให้ครับ)

        นับเป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่ ที่หลายคนให้ความสนใจกันอย่างมาก หลังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ออกประกาศ ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไฟเขียวจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทั่วประเทศ เดือนละ 500 บาท เป็นเวลา 6 เดือน และยังให้วาระดังกล่าวเป็นประเด็นเร่งด่วนอีกด้วย ทั้งนี้เพราะนอกจากจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทางหนึ่งแล้ว ยังถือเป็นการตอบแทนผู้สูงอายุที่ทำงานเพื่อบ้านเมืองมาทั้งชีวิตด้วย
        สำหรับเบี้ยยังชีพคนชรา ถือเป็นบริการสวัสดิการสังคมประเภทหนึ่ง ที่รัฐบาลจัดสรรให้กับคนชราอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป แม้จะดูเหมือนไม่มีบทบาทสักเท่าไหร่ในหลายยุคที่ผ่านมา แต่เวลานี้ได้ถูกชุบให้กระชุ่มกระชวยขึ้นอีกครั้งด้วยแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของ รัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่แจกจ่ายนโยบายประชานิยมอย่างทั่วถึง ไม่เว้นแม้แต่ผู้สูงอายุ โดยแต่เดิมนั้นจะจ่ายให้เฉพาะผู้ที่มีฐานะยากไร้ รายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ถูกทอดทิ้ง หรือขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู หรือไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ ราว 1.8 ล้านคนเท่านั้น
แต่จุดต่างของเบี้ยยังชีพคนชราในรัฐบาลชุดนี้ คือ การจ่ายให้ผู้สูงอายุทั่วประเทศทุกคน เว้นเฉพาะรายที่เป็นราชการเท่านั้น อย่างไรก็ดี การจ่ายเบี้ยยังชีพเดือนละ 500 บาท ครอบคลุมผู้สูงอายุทั่วประเทศที่ว่านี้ จะมีระยะเวลาสั้นๆ เพียง 6 เดือน โดยเริ่มเดือนเมษายนจะจ่ายเงินเป็นงวดแรก ไปจนถึงเดือนกันยายน 2552 ซึ่งหลายคนอาจเกิดคำถามต่อว่า เมื่อหมดจาก 6 เดือนนี้ จะเป็นอย่างไรต่อไป คำตอบคือ คงต้องรอดูผลจาก ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ที่รัฐบาลลั่นประกาศิตว่าจะจัดสรรงบประมาณลงไปในงบประจำปีตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ (ที่จะออกมาใหม่) ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุทุกคนได้รับเบี้ยยังชีพ
        ทางด้าน นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ข้อมูลว่า รัฐบาลได้อนุมัติวงเงินงบประมาณกลางปีจำนวน 9 พันล้านบาท เพื่อเตรียมจ่ายให้กับผู้สูงอายุทั้งสิ้น 7.1 ล้านคน โดยผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนด ให้ไปลงทะเบียนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 15 มีนาคม 2552 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ
        1. ผู้มีสิทธิต้องมีสัญชาติไทย
        2. ผู้มีสิทธิต้องมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยต้องเกิดก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2492 ส่วนผู้สูงอายุที่ทราบเพียงปีเกิด แต่ไม่ทราบวันและเดือนเกิด ให้ถือว่าเกิดวันที่ 1 มกราคมของปีนั้นๆ
        3. ต้องไม่เป็นผู้ได้รับเงินเดือน สวัสดิการ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากรัฐ ทั้งบำเหน็จ บำนาญ เบี้ยยังชีพ หรือผลประโยชน์อื่นใดจากรัฐ ทั้งรายวันและรายเดือน
        4. ต้องไม่เป็นผู้อยู่ในสถานสงเคราะห์คนชราที่รัฐดูแลอาหารและที่พักให้อยู่แล้ว

ขั้นตอนการยื่นคำขอรับเงิน
        1. ผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติครบตามรายละเอียดข้างต้น สามารถยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ด้วยตนเอง
        2. ในกรณีที่ผู้สูงอายุมีความจำเป็นที่ไม่สามารถมาลงทะเบียนยื่นคำขอรับเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้ สูงอายุแทนได้ (สามารถขอรับแบบฟอร์มได้ที่สำนักงานเขต องค์การบริหารส่วนตำบล หรือใช้หนังสือมอบอำนาจทั่วไปก็ได้)
        3. การยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552-15 มีนาคม 2552

หลักฐานประกอบการยื่นคำขอ
        – บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ ที่มีรูปถ่ายพร้อมสำเนา
        – สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร พร้อมสำเนาสำหรับในกรณีที่ผู้ขอรับเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุประสงค์ขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านธนาคาร (ทุกธนาคาร)

สถานที่ลงทะเบียน
        – เขตภูมิภาค ยื่นได้ที่เทศบาล/อบต. ที่ผู้สูงอายุมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
        – เขตกรุงเทพมหานคร  ยื่นได้ที่สำนักงานเขต ที่ผู้สูงอายุมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ระหว่างเวลา 08.00 – 16.00 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
        การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้แก่ผู้มีสิทธิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ่ายเป็นรายเดือนๆ ละ 1 ครั้ง ในอัตราเดือนละ 500 บาท โดยรัฐบาลกำหนดจ่ายงวดแรกในวันที่ 13 เมษายน ดังนี้
        – จ่ายเป็นเงินสด หรือโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
        – จ่ายเป็นเงินสด หรือโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากผู้มีสิทธิได้รับ เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นลายลักษณ์อักษร
        อย่างไรก็ดี หลังจากที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศได้เปิดรับลง ทะเบียนผู้สูงอายุรับเบี้ยยังชีพเป็นวันแรก ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปรากฎว่า ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ เรื่องเอกสารไม่ครบ และผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะเขียนหนังสือไม่ได้ จึงขอแนะนำว่าผู้สูงอายุที่จะมาลงทะเบียนให้นำบุตรหลานมาด้วยจะเป็นการดี ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านเอกสารให้เรียบร้อย นอกจากนี้ จะเป็นการช่วยดูแลเรื่องรายละเอียดในการลงทะเบียน หากผิดพลาดอะไรก็สามารถแก้ไขได้ทันทีอีกด้วย
        อย่าลืมนะคะ เริ่มลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ตั้งแต่วันนี้  – 15 มีนาคม 2552 ดังนั้น ครอบครัวไหนที่มีผู้สูงอายุ ตามคุณสมบัติที่กล่าวมาข้างต้น ก็ยังเหลือเวลาให้ได้มาแสดงสิทธิ์กันค่ะ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
        – ศูนย์ประชาบดี  โทร. 1300
        – ศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง
        – ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน โทร.1111 ตลอด 24 ชั่วโมง
        – สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร โทร 0-2245-5166 ในวันและเวลาราชการ (เฉพาะกรุงเทพมหานคร)

คลายข้อสงสัย
ถาม : ผู้ที่ได้รับสวัสดิการ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หมายถึงใครบ้าง?
ตอบ : ผู้รับเงินบำนาญ ผู้ได้รับเงินเบี้ยยังชีพตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำหรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้อง ถิ่น จัดให้เป็นประจำ
ถาม : ในกรณีบุตรรับราชการหรือสามีรับราชการ หรือภรรยารับราชการ สามารถยื่นค่าขอขึ้นทะเบียน รับสิทธิได้หรือไม่?
ตอบ : หากผู้ยื่นค่าขอรับเงินเบี้ยยังชีพไม่ได้รับบำนาญ และมีคุณสมบัติตามคำตอบในคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ สามารถยื่นค่าขอรับเงินเบี้ยยังชีพได้
ถาม : รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ได้ตั้งแต่เมื่อไหร่?
ตอบ : เมื่อผ่านการตรวจสอบสิทธิว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติ โดยรับได้ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2552 เป็นต้นไป
ถาม : การรับเงินเบี้ยยังชีพผ่านธนาคาร ใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียมการโอนเงิน?
ตอบ : ผู้สูงอายุเป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียมในการโอนเข้าบัญชีธนาคาร ยกเว้นธนาคารกรุงไทยในส่วนภูมิภาค ที่ผู้สูงอายุไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร
ถาม : การยื่นค่าขอขึ้นทะเบียน เพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สามารถให้ผู้อื่นยื่นค่าขอแทนได้หรือไม่?
ตอบ : ได้ แต่ต้องมีหนังสือมอบอำนาจ

ระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2552 
แบบคำขอขึ้นทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

ที่มา..www.kapook.com

ที่มา..กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.