ค่ารถประจำตำแหน่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินหรือไม่ | รับทำเงินเดือน ค่ารถประจำตำแหน่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินหรือไม่ | รับทำเงินเดือน

ค่ารถประจำตำแหน่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินหรือไม่

มีคำถามที่ถามว่า เงินค่ารถประจำตำแหน่งถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินที่จะต้องนำไปคำนวณการหักภาษีหรือไม่ แล้วก็เผอิญคำตอบที่ผมเคยตอบไว้มันหายไปนะครับ ผมก็เลยเอามาลงไว้ใหม่

กรณีที่บริษัทจัดหารถให้พนักงาน หากเป็นการใช้นำรถไปเพื่อการปฏิบัติงานเฉพาะเพื่อกิจการของบริษัทฯ ค่ารถประจำตำแหน่งไม่ถือเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงานไม่ต้องนำไปรวมเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และบริษัทฯ ก็สามารถนำรถยนต์ที่ซื้อมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ (ค่าเสื่อมราคา,ค่าเช่าซื้อ) รวมถึงค่าน้ำมันรถ (บริษัทเป็นเจ้าของรถยนต์)

หากบริษัทจ่ายค่าตอบแทนเหมาจ่าย (แทนการจัดหารถ) ให้พนักงานเพื่อนำไปจัดซื้อรถมาใช้งานเอง เงินได้ในส่วนนี้ถือเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงานต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (พนักงานเป็นเจ้าของรถยนต์)

 

อ้างอิงคำตอบของสรรพการ

เลขที่หนังสือ

: กค 0811(กม.04)/02

วันที่

: 4 มกราคม 2544

เรื่อง

: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการได้ใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีภาษีซื้อค่าเช่ารถยนต์

ข้อกฎหมาย

: มาตรา 40(1), มาตรา 82/5(6)

ข้อหารือ

: 1. บริษัทฯ เช่ารถยนต์มาเพื่อให้พนักงานบริษัทฯ ใช้เป็นรถยนต์ประจำตำแหน่งขณะเดียวกันก็
ใช้เพื่อกิจการของบริษัทฯ ด้วย ประโยชน์จากการได้ใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งนี้ จะถือเป็นเงินได้ที่
พนักงานผู้ใช้รถยนต์ดังกล่าวจะต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่
2. ภาษีซื้อของค่าเช่ารถยนต์ไม่สามารถเครดิตกับภาษีขายได้แต่สามารถบันทึกเป็นค่าใช้จ่าย
ของบริษัทฯ และไม่ถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามใช่หรือไม่

แนววินิจฉัย

: 1. กรณีพนักงานได้ใช้รถยนต์ประจำตำแหน่ง หากเป็นการใช้ในการปฏิบัติงานเฉพาะเพื่อ
กิจการของบริษัทฯ โดยพนักงานมิได้รับประโยชน์เป็นการส่วนตัวจากการได้ใช้รถยนต์ประจำตำแหน่ง
การได้ใช้รถยนต์ดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจาก
การจ้างแรงงานอันจะถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานจึง
ไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด
2. ภาษีซื้อที่เกิดจากการเช่ารถยนต์ กรณีรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน
ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ไม่สามารถนำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร
ประกอบกับข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่
29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ฉบับที่ 71)ฯ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 แต่ภาษีซื้อดังกล่าวไม่ต้องห้ามนำมาถือเป็นรายจ่ายใน
การคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (6 ทวิ) แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ถือเป็นรายจ่ายใน
การคำนวณกำไรสุทธิได้ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย
ภาษีซื้อที่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 243) พ.ศ. 2534

เลขตู้

: 64/30248

 

อ้างอิงคำตอบของกรมบัญชีกลาง

คำถาม ค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง “
ค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง ต้องเสียภาษีหรือไม่ (ได้ข่าวว่ากฤษฎีกาตีความว่าไม่ต้องเสียภาษีจริงหรือไม่คะ)

คำตอบ ค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งต้องเสียภาษีเนื่องจากถือว่า เป็นรายได้ของผู้ได้รับ อีกทั้งไม่มีส่วนราชการใดเรื่องให้กฤษฎีกาตีความในประเด็นดังกล่าว

ที่มา..เว็บบอร์ดกรมบัญชีกลาง

Speak Your Mind

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.